เป็นที่ยอมรับกันว่า นักลงทุนในโลกนี้ ได้แตกแขนงสายการวิเคราะห์ออกเป็นสองสายหลัก นั้นคือ สายวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) และสายนักวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค (Technical Analysis) และเราก็ได้เห็นนักลงทุนสุดโต่งทั้งสองข้างที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในแนวของตัวเอง รวมถึงผู้ที่ใช้ประโยชน์จากแนวทางทั้งสองวิธีมาปฏิบัติร่วมกัน และสร้างผลตอบได้ดีไม่แพ้การเลือกวิเคราะห์แต่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง
อีกฟาก ผมกลับเห็นคนที่พยายามปกป้องแนวคิดการลงทุนของตัวเอง แข่งกันจะเป็นจะตาย สุดท้ายกลายเป็นสร้างศัตรูขึ้นมา ด้วยเหตุผลที่ทำไมนักการเมืองทั้งโลกทะเลาะกัน นั้นก็คือ “ทิฐิ” ที่กินไม่ได้ และไม่ได้เท่ห์ เหมือนโฆษณา ทรอส โรลออน เมื่อ 20 กว่าปีก่อน (อ้าว รู้อายุเลย – -“)
ใครจะเถียง ก็ให้เขาเถียงกันไปนะครับ ผมไม่ขอร่วมวงด้วย เปลืองพลังงานเปล่าๆ เอาเป็นว่า แนวคิดของคนที่คิดไม่ตรงกับเรา มันไม่ใช่ความผิดเขา อย่าไปอินมาก ลำพังพอร์ตการลงทุนของเรา เอาตัวให้รอดก่อนดีกว่า
ปัจจุบันนี้ มีนักลงทุนสาย Hybrid คือ การผสมผสานแนวคิดระหว่าง Fundamental Analysis และ Technical Analysis อยู่พอสมควร หนึ่งในนั้น เขาเรียกตัวเองว่า “Trend Followers” หรือ ผู้ที่วิ่งไปพร้อมๆกับแนวโน้ม
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า เจ้าลัทธิ ของ Trend Followers เป็นใคร แต่ถ้าให้เดา ก็น่าจะเป็น Charles Darwin …. เกี่ยวไรหว่า
เพราะประโยคเด็ดที่ว่า
“It is not the strongest of the species that survive, nor the most intelligent, but the ones most responsive to change.”
ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยก็คือ ไม่ใช่ทั้งสปีชี่ส์ที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด ที่สามารถอยู่รอดมาได้ แต่เป็นสปีชีส์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุดต่างหาก
ที่คิดแบบนี้ เพราะหลักการของ Trend Following คือ หาแนวโน้มหลักให้เจอ แล้วเกาะไปกับแนวโน้มนั้นจนกว่ามันจะเปลี่ยนเทรน และสิ่งนี้มันคือหลักการพื้นฐานของการวิเคราะห์ทางเทคนิคด้วย
ข้อควรระวัง นักลงทุนส่วนใหญ่จินตนาการการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในอนาคตไว้ และ Action ตามสิ่งที่ตัวเองคิด แล้วคิดว่า สิ่งที่ตัวเองทำ มันคือการลงทุนแบบใช้เทคนิคเคิลเข้าช่วย แต่นั้นกลับไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะ นักเทคนิค จะขยับตัวก็ต่อเมื่อ เกิดสัญญาณไปก่อนแล้ว ไม่ใช่นั่งเทียนเอาเองว่ามันจะขึ้น แล้วไปซื้อดักไว้ก่อน
สำหรับ Trend Following Style ก็มีแนวคิดเดียวกัน แต่ผสมผสานด้วยการตามกลิ่นเงิน หรือ Fund Flow ของนักลงทุนตัวใหญ่ๆ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของ Volume หรือมูลค่าการซื้อขาย เพราะคงามเชื่อที่ว่า คนที่เงินเยอะกว่าเรามากๆ อย่างนักลงทุนต่างชาติ กองทุน หรือ เจ้ามือ เขาน่าจะทำการบ้านมาดีกว่า มีข้อมูลที่ประกอบการตัดสินใจลงทุนมากกว่าเรา การจะซื้อหรือขายหุ้นตัวไหน ก็จึงมีนัยสำคัญ และควรค่าแก่การตามติดไปเรื่อยๆ
การตามติด Fund Flow นั้น ดูๆไปก็เป็นวิธีที่มีทั้งศาสตร์ และศิลป์ บางทีผมก็รู้สึกเหมือนกับเป็นวิธี “มวยวัด” นั้นคือไม่มีกฏตายตัว ยกตัวอย่างเช่น
– ไปดูส่วนต่างอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐกับเงินปันผลจากการลงทุนในหุ้น
– ดูเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้ว เทียบกับดอกเบี้ยนโยบาย
– อ่านเกมส์ทางการเมืองของยูโรโซน
– คาดการณ์การไหลของเงินจาก QE3 และ QE4
– ตรวจสอบเงินลงทุนสุทธิต่างชาติในตลาดเกิดใหม่
– ใช้ Technical จับสัญญาณบวกกับ การเพิ่ม/ลดของมูลค่าการซื้อขาย
ฯลฯ
การลงทุนแนวนี้ ข้อดีก็คือ มีความสนุกอยู่ และขยายความรู้รอบตัวของเราให้กว้างออกมา แต่ก็ต้องใช้เวลาอยู่กับข้อมูลมหาศาลทีเดียว ดังนั้น การคัดกรองข้อมูลในการตัดสินใจ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ถามว่า ที่พยายามหาไปทั้งหมด เพื่ออะไร? ก็เพื่อให้รู้ว่า แนวโน้มหลักแล้ว ราคาหรือดัชนีจะเคลื่อนไปในทิศทางไหน เมื่อเราวิ่งไปถูกทาง ก็แปลว่า โอกาสทำกำไรมีสูงขึ้นแน่นอน
แต่ก็ยังมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อย เข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่า “เคลื่อนไหวไปกับแนวโน้ม”
ลองสังเกตดูเพื่อนข้างๆที่ลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมานะครับ ตอนดัชนี 900 จุด บอกว่าแพง ขึ้นมาแรงจาก 380 จุด แล้ว ยังไงก็ต้องปรับฐาน
ผ่านมา 1,200 จุด ก็กังวลกับน้ำท่วม มาตอนนี้ 1,500 จุด บอก New High ในรอบ 18 ปี ไปได้ไม่ไกลหรอก แต่พอคิดผิดเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้ว่าตัวเองผิดเรื่อยๆ ด้วยความที่กลัวตกรถ กว่าจะได้ซื้อหุ้นจริงๆ ดัชนีอาจจะวิ่งไปถึง 1,700 จุดแล้วก็ได้ แบบนี้ ไม่ได้เรียกว่าเคลื่อนไหวไปกับแนวโน้มนะครับ แบบนี้ผมเรียกว่า “วิ่งไล่แนวโน้ม” เพราะแนวโน้มหลักมันเกิดขึ้นมาเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มซื้อหุ้นตอนนี้ แล้วบอกว่าตัวเองเป็น Trend Follower
อย่างที่ Charles Darwin ว่าไว้นะครับ จะอยู่รอดในตลาดหุ้นได้ในระยะยาว สิ่งสำคัญคือการปรับตัว เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ไม่ใช่คิดได้อย่างเดียวคือ ถือยาว เดี๋ยวมันก็ขึ้น หรือ มัวแต่เก็งกำไรระยะสั้น ไม่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำซักที ถึงคราวเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมา หุ้นร่วงทีเดียว คืนกำไรให้ตลาดหมด มันน่าเสียดายนะ
จำได้ พร้อมปรับตัว เปลี่ยนแปลง และยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา ไม่ช้าก็เร็ว 🙂