ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาใน Social Network มีการพูดคุยถึงประเด็นนักลงทุนสถาบันค่อนข้างมากนะครับ จริงๆแล้วความรู้เรื่องพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนแต่ละประเภท ก็ถือว่ามีความสำคัญควรรู้ไว้บ้างนะครับ
ประเภทของนักลงทุนที่ทางตลาดหลักทรัพย์แบ่ง มีทั้งหมด 4 ประเภท คือ
- นักลงทุนสถาบัน
- บัญชีบริษัทหลักทรัพย์
- นักลงทุนต่างชาติ
- นักลงทุนรายย่อย
บทความนี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะกลุ่มนักลงทุนประเภทนักลงทุนสถาบันในข้อ 1. นะครับ ออกตัวก่อนว่า ถือเป็นการให้ข้อมูลอีกด้าน จากการที่ได้ทำงานและอยู่ใกล้ชิดกับนักลงทุนประเภทนี้มาไม่น้อยกว่า 10 ปี ก็น่าจะพอบอกข้อเท็จจริงอีกด้านให้นักลงทุนทั่วไปได้เข้าใจ ไม่มากก็น้อยครับ
สำหรับนักลงทุนสถาบันภายในประเทศนั้น ยกตัวอย่าง ก็พวกกองทุนทั้งหลายที่นักลงทุนได้ยินชื่อกันบ่อยๆ ได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ กองทุนรวมที่ลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กองทุนส่วนบุคคลต่างๆ ที่นักลงทุนรายย่อยโอนเงินไปให้ บล. หรือ บลจ. จัดตั้ง ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มนักลงทุนประเภทนี้เช่นกันครับ
นิสัย หรือธรรมชาติของกองทุนเหล่านี้อาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไปแต่โดยส่วนใหญ่ จะเน้นการลงทุนแบบมีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ไม่เทรดเข้าเทรดออกบ่อยจนเกินงาม มีคณะกรรมการการลงทุน (Investment Committee) ที่ต้องเดินตามนโยบาย จะซื้อจะขาย ต้องระมัดระวัง และวางแผนมาเป็นอย่างดี
ถ้าเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่มากๆ ก็มีข้อจำกัดเรื่องเงื่อนไขการลงทุน ว่าจะต้องลงทุนในหุ้นที่มีขนาดทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้ ทำให้ Universe ของการลงทุน จะอยู่ในหุ้นจำพวก SET50 หรือ SET100 เท่านั้น เพราะมี Market Cap. ขนาดใหญ่ รองรับเม็ดเงินได้ หลักการลงทุนส่วนใหญ่ ก็จะเป็นแบบ Bottom Up หรือ เน้นปัจจัยพื้นฐานเป็นหลักในการคัดกรองหุ้น มองเรื่องการทำ Asset Allocation ตามวัฏจักรเศรษฐกิจ และปรับน้ำหนักตามนโยบายที่ให้ไว้อย่างเคร่งครัด
ลองมองลึกเข้าไปดูผู้ได้รับผลประโยชน์คนสุดท้ายของนักลงทุนประเภทนี้ ก็จะพบว่า จริงๆแล้ว ก็คือ นักลงทุนรายย่อยนั้นเอง
กองทุนประกันสังคม มุ่งหวังบริหารเงินที่ให้งอกเงย และนำไปเป็นทุนในการให้บริการทางด้านประกันสังคมที่มีคุณภาพสูงแก่สมาชิก ซึ่งจะก่อประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม
กบข. มีนโยบายการลงทุนคือมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องของความสมดุลระหว่าง “ความปลอดภัย ของเงินต้น (Preservation of Capital)” กับ “ผลตอบแทนจากการลงทุน” ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพื่อให้สมาชิกมีมาตรฐานและ คุณภาพของการดำรงชีวิตที่เหมาะสมภายหลังการเกษียณ”
นี่คือ 2 นักลงทุนสถาบันที่มีขนาดของกองทุนใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งชัดเจนว่า บริหารกองทุนเพื่อเป้าหมายในระยะยาวเพื่อสมาชิก ซึ่งก็คือ ลูกจ้างคนไทย และ ข้าราชการรวมกันจำนวนมากกว่า 14 ล้านรายทีเดียว
นักลงทุนสถาบันอีกคนหนึ่ง ก็คือ เหล่ากองทุนรวม (Mutual Fund) ซึ่งเจ้าของเงินที่แท้จริง ก็คือนักลงทุนรายย่อยอีกเช่นกัน แต่เพราะตามกฎ กลต. กองทุนรวมต้องรายงาน NAV ทุกวันทำการ นักลงทุนอย่างเราๆจึงสามารถตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนได้แบบวันต่อวัน ซึ่งหากมีการเทรดแบบผิดปตก หรือทำผลการดำเนินงานได้แย่ แน่นอนว่า เงินลงทุนก็คงไม่อยู่กับกองทุนนั้น และไหลไปลงทุนที่อื่นแทน ดังนั้นเป้าหมายของผู้จัดการกองทุนรวมเหล่านี้ก็คือ เอาชนะกองทุนอื่นๆที่เป็นเพื่อนร่วมอาชีพให้ได้ เพื่อให้ลูกค้า ซึ่งก็คือ นักลงทุนอย่างเราๆที่ไปซื้อกองทุน LTF RMF หรือ กองทุนธรรมดา ให้เกิดพึงพอใจมากที่สุด (ผลตอบแทนชนะกองอื่นให้ได้)
สุดท้าย นักลงทุนสถาบันประเภทกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) เจ้าของเงินส่วนใหญ่คือนักลงทุนบุคคลธรรมดาเหมือนกันครับ แต่ขนาดของเงินก็เริ่มมากขึ้น เริ่มตั้งกองทุนด้วยเงินลงทุน 10 ล้านบาท 30 ล้านบาท ก็ว่ากันไป แน่นอนว่า ผู้จัดการกองทุนถึงมีอำนาจในการตัดสินใจซื้อขาย แต่สุดท้ายก็ต้องทำกำไรให้เจ้าของเงินเช่นกัน ไม่งั้นก็โดนสั่งปิดกอง ถอนเงินออก แถมจำนวนเงินเวลาออก ก็เยอะกว่ากองทุนรวมอีกต่างหาก
ถ้าจะเหมาว่า เหล่าผู้จัดการกองทุนมีความพยายาม หรือตั้งใจเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย หรือ นักลงทุนกลุ่มอื่น ด้วยการทุบหุ้น ลากหุ้น ในความเห็นผม ผมคิดว่า เป็นการคิดเหมารวมที่มากเกินไป และขัดกับหลักการเรื่องผลประโยชน์ของผู้จัดการกองทุนเหล่านี้ที่ถูกกับผลประโยชน์ของนักลงทุนในกองทุนนั้นๆ
แน่นอนว่า ในอุตสาหกรรมอาจจะมีปลาเน่า เราก็ขอเอาใจช่วยให้ฝ่ายกำกับดูแลสามารถตรวจตรา และหาคนผิด เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นกลับมาให้ได้ครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639278