top-down-space-fed-rise-interest

จบไปแล้วกับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ และประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น นะครับ ในฝั่งของการประชุมเฟด ถือว่าเป็นอย่างที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25%-0.50% แต่ก็ประธานเฟดอย่าง เจเน็ต เยลเลน ก็มีการส่งสัญญาณว่า ยังมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีก 1 ครั้ง และถ้าเราดูจากประมาณการดอกเบี้ยในระยะยาว (Dot Plot) ก็จะเห็นว่า มีการปรับลดแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวลงเช่นเดียวกัน นั่นทำให้ผมเห็นว่า การขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ของเฟด จะไม่เหมือนกับรอบขาขึ้นของดอกเบี้ยหรัฐฯนรอบก่อนๆ โดยเหตุผลดังนี้ครับ

1. รอบการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ เฟด ขึ้นดอกเบี้ยได้ช้ากว่าที่สุด ดูจากรูปประกอบ จะพบว่า เฟดคงดอกเบี้ยในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เป็นเวลานาน และจาก Dot Plot ก็พอจะเห็นว่า อนาคตการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็น่าจะช้าสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายกังวลว่า การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยช้า จะนำมาซึ่งฟองสบู่ในสินทรัพย์เพื่อการลงทุน

2. พอพูดถึงฟองสบู่ในสินทรัพย์เพื่อการลงทุน รอบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรอบนี้ ก็มีข้อที่ไม่เหมือนครั้งก่อนๆอีกข้อก็คือ ดอกเบี้ยนโยบายยังขึ้นไม่ทันไร แต่ราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะราคาหุ้นส่วนใหญ่ ขึ้นมาไกลกว่า Fair Value แล้วพอสมควร เรียกว่า ไม่ได้ถูกเลย ในขณะที่ ช่วงต้นของการขึ้นดอกเบี้ยในอดีตนั้น ราคาหุ้นยังมักจะอยู่ในระดับที่ต่ำ และค่อยๆปรัวตัวขึ้น แพงขึ้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปถึงระดับหนึ่ง

3. ประเทศแกนหลักทั้งหลาย ไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามสหรัฐฯได้ โดยเฉพาะ ยูโรโซน และ ญี่ปุ่น ที่ยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เนื่องจากเศรษฐกิจมีความเปราะบาง การเติบโตอยู่ในระดับต่ำ จึงยังต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจจากฝั่งรัฐบาลทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ซึ่งประเด็นนี้ น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับประเด็น 1. พอสมควรตรงที่ เศรษฐกิจโลกทุกวันนี้เชื่อมต่อกันหมด การเติบโตของเศรษฐกิจโลก เกิดจากการค้าขายระหว่างกันไปมา แล้วมากลายเป็นว่า ประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯกลับเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นดี แบบนี้จึงกระทบให้ผู้ดำเนินนโยบายยังมีความลังเลในการขึ้นดอกเบี้ยอยู่

จะเห็นว่า รอบการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ สำหรับนักลงทุนเรา การกลับไปใช้เฉพาะข้อมูลในอดีต มาวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร เพื่อมาคาดการณ์อนาคตเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการลงทุน อาจทำให้เราพลาดในหลายๆจุด เพราะเงื่อนไขของกลไกเศรษฐกิจในแต่ละช่วงนั้นมีความแตกต่างกัน และยิ่งรอบการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ อย่างที่ผมให้ความเห็นว่า มีจุดต่างหลักๆถึง 3 ข้อ ที่รอบการขึ้นดอกเบี้ยรอบก่อนๆไม่ได้เจอกับสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้น นักลงทุนจำเป็นต้องวิเคราะห์ในมิติอื่นๆ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น

ถ้าถามว่า แล้วควรมองมุมไหนเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดขึ้นในการกำหนดการลงทุนแบบ Global Macro Analysis ผมก็อยากให้กลับไปที่หลักการวิเคราะห์ FFT (Fundamental, Fund Flow และ Technical) เหมือนเดิม ซึ่งคุณผู้อ่านก็จะเห็นว่า บทความการเปรียบเทียบเหตุการณ์ในอดีตกับวันนี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์เท่านั้นครับ แล้วไว้เรามานั่งแกะดูในมุมอื่นกันใหม่ในบทความตอนหน้า

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639049