ดอกเบี้ยต่ำ

สาเหตุที่ตั้งคำถามนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า หลักจากที่เราทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าเป็นนายโดนัล ทรัมป์ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับฝั่งตลาดทุนก็คือ อัตราผลตอบแทนระยะยาวของพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นแทบจะทุกช่วงอายุ ยกตัวอย่าง US Treasury 10 ปี จากเดิม ก่อนวันที่ 8 พ.ย. อยู่ที่ 1.828% ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 2.3% การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯแบบนี้ จึงกดดันให้ อัตราผลตอบแทนระยะยาวของพันธบัตร และตราสารหนี้ระยะยาวในประเทศอื่นๆทั่วโลก ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ตรงนี้ละครับ ที่กระทบทำให้นักลงทุนที่มีพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ เกิดผลขาดทุนจากการที่ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลง สวนทางกับ Bond Yield ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

ทำไมทรัมป์ชนะ ดอกเบี้ยจึงปรับขึ้น?

สาเหตุมาจาก นโยบายของทรัมป์ที่ระบุชัดเจนว่า มีความพยายามจะปกป้องและช่วยเหลือคนอเมริกัน เช่น ลดภาษี, ตั้งกำแพงภาษีนำเข้า, เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคนเข้าสหรัฐฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นักลงทุนมองว่า จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯก่อหนี้สินเพิ่มขึ้นในจำนวนไม่น้อยกว่า 80% ของ GDP ภายในปี 2036 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหลาย ก็จะทำให้เกิดเงินเฟ้อในสหรัฐฯมากขึ้น เมื่อนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็จะมีเหตุผลมากพอที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่รอมานานเกือบๆ 1 ปี ยังไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ซักที

เพื่อตอบคำถามให้ชัดขึ้นนะครับ การปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ย หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ แต่เกิดจากการที่ สหรัฐฯ กำลังจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่างหาก

เพราะถ้าหากมองที่ศักยภาพ และการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเอเชีย รวมถึง ในยูโรโซน หรือในญี่ปุ่น ก็ต้องบอกว่า โอกาสที่ดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ถือว่าน้อยมากๆทีเดียว

แบบนี้ การลงทุนในตราสารหนี้จะยังน่าสนใจหรือไม่?

เรย์ ดาลิโอ ผู้ก่อตั้ง และผู้จัดการกองทุนบริกวอร์เตอร์ ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “ยุคของตลาดกระทิงในตลาดตราสารหนี้ อาจจะจบไปแล้ว” ทั้งนี้ เรย์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ประธานาธิปดีของสหรัฐฯในอดีตที่สามารถดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำขาดดุลงบประมาณ ลงทุน และจ้างงานในสหรัฐฯ จนทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ ก็คือ โรนัล เรแกน ซึ่ง นโยบายทางเศรษฐกิจของนายทรัมป์ หลายอย่างมีความคล้ายคลึงกับเรแกน และเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก

มองตามพื้นฐานของนายทรัมป์ ก็พบว่ามีความจริงอยู่หลายส่วน เนื่องจากนายทรัมป์ไม่ได้มาจากสายการเมือง และทำธุรกิจมาตลอดชีวิต จึงน่าจะใช้นโยบายแบบ pro-business เป็นส่วนใหญ่

ดังนั้น ถ้าความเห็นของเรย์เป็นจริง นั่นแปลว่า การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวหลังจากนี้ จะไม่ใช่สินทรัพย์ที่น่าสนใจ และมีความผันผวนสูงขึ้นทีเดียว คงต้องมานั่งทบทวนพอร์ตการลงทุนเรากันเองซักหน่อย

ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น แล้วเราจะลงทุนในอะไรดี?

ผมได้ลองย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของ S&P500 ในช่วงที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 50bps นับตั้งแต่ปี 1929 จนถึงปีนี้ มีทั้งหมด 20 ครั้ง โดยจากสถิติย้อนหลังไกลๆ พบว่า มีเพียง 5 ครั้งเท่านั้น ที่ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทนติดลบ และช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นใน 7 รอบหลังสุด นับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา (1983 (+22.3%), 1987 (+5.8%), 1994 (+1.3%), 1996 (+22.7%), 1999 (+20.9%), 2009 (+25.9%) และ 2013 (+32.1%) จะเห็นว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเป็นบวกในช่วงนั้นได้ทุกรอบ และแน่นอนหลักฐานชิ้นใหม่คือ การปรับตัวขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี รอบหลังเลือกตั้งสหรัฐฯครั้งนี้ กลับกลายเป็นว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถวิ่งได้ต่อเนื่อง โดย Dow Jones ทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาล (All Time High) อีกต่างหาก

เห็นแบบนี้ ความคิดที่เรารู้สึกว่า “ดอกเบี้ยขึ้น แล้วหุ้นจะปรับฐาน” อาจไม่เป็นความจริงทั้งหมดนะครับ

สรุปนะครับ เรากำลังสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยต่ำแล้วจริงหรือไม่ ก็น่าจะอยู่ที่นโยบายของทรัมป์ว่า จะมีความพยายามทำให้เกิดได้จริงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งบอกเลยว่าไม่ง่าย และต้องฟันฝ่าหลายด่านแน่นอน แต่ถึงหลายอย่างจะทำได้จริง สิ่งที่เห็นจากข้อมูลในอดีตก็คือ อย่าไปกังวลที่จะลงทุนในตลาดหุ้นมากเกินไปครับ มันไม่ได้เกี่ยวกันหมดซะทีเดียว

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639515