สวัสดีผู้อ่านทุกท่านนะครับ สถานการณ์ตลาดทุนของโลก ณ เวลานี้ ล่าสุด เหล่าเทรดเดอร์ให้โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมเดือน ธ.ค. นี้ 100% ทีเดียว (ให้เกิน 100% ได้ก็คงทำไปแล้ว) การเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังครั้งนี้ ทำให้เงินทุน (Fund Flow) เคลื่อนไหวอย่างไร เราก็คงได้เห็นกันไปแล้วในช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
Top-down Space ตอนนี้ผมขอพาไปมอง Fund Flow ทางฝั่งเอเชียในอีกมุมหนึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และส่วนตัวผมเชื่อว่า จะกลับมากระทบในไทยด้วยเช่นกัน นั้นก็คือ ค่าเงินหยวน ครับ
ล่าสุดค่าเงินหยวนอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยอ่อนค่าทำจุดสูงสุดในรอบ 8 เดือน แถมเหล่าเทรดเดอร์ค้าเงิน ก็มีการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ค่าเงินหยวนเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯมากสุดในรอบมากกว่า 8 ปีเช่นเดียวกัน
ฝั่งตลาดหุ้นจีน ตัวเลขนักลงทุนที่ใช้บัญชีมาร์จิ้นในการเทรดหุ้นก็ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดหุ้น A-Share ซึ่งกลับมาอยู่ในขาขึ้นตั้งแต่ทำจุดต่ำสุดของปีเมื่อปลายเดือน ม.ค. ต้นปีที่ผ่านมา และมูลค่าการซื้อขายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีมูลค่ามากที่สุดในรอบ 10 เดือนทีเดียว
ถ้ามองย้อนกลับไปที่นโยบายของนายทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิปดีคนใหม่ของสหรัฐฯ เราจะพบว่า นโยบายตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลมาตลอดอย่างจีน จริงๆแล้ว ควรจะเป็นปัจจัยลบกดดันตลาดหุ้นฝั่งเอเชีย สาเหตุเป็นเพราะ ถ้าผลักดันนโยบายดังกล่าวจริง สินค้าจากจีนจะส่งออกไปขายที่สหรัฐฯได้น้อยลง เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น เมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นที่เข้าไปขายในอเมริกาโดยไม่มีกำแพงภาษี
แต่พอตลาดทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ นักลงทุนกลัวนโยบายดังกล่าว เหล่าเศรษฐี และนักลงทุนในจีน จึงขายเงินหยวน หรือทำการป้องกันความเสี่ยงเงินหยวนเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินหยวนยิ่งอ่อนค่าเร็วขึ้น และเป็นผลดีกับการส่งออกจีนเอง เพราะตอนนี้ยังไม่มีนโยบายอะไรออกมาจากฝั่งสหรัฐฯว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าจริงๆ ก็เลยกลายเป็นว่า มุมมองการลงทุนระยะสั้นต่อตลาดหุ้นจีนยังถือว่าดีต่อเนื่อง นักลงทุนในตลาดหุ้นก็เลยได้ประโยชน์กันไป
ซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่า การที่ค่าเงินหยวน และค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าตามกันแบบนี้ น่าจะเป็นผลดีกับการฟื้นตัวของภาคส่งออกทั้งหมด ก็เลยกลับมาสนใจการลงทุนในเอเชียอีกครั้ง
ทั้งนี้ ผมมี 2 เหตุผลที่มองว่า ความไม่แน่นอน และความผันผวนจะตามมาในไม่ช้า ก็คือ
1. จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ จากการถือครอง US Treasury อยู่ราวๆ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (ขนาดทุนสำรองของจีนอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) ซึ่งแน่นอนว่า การที่ US Treasury Yield ปรับตัวขึ้น และค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่า ย่อมทำให้เกิดผลขาดทุนจากการ Mark to Market ราคาพันธบัตรในพอร์ต และภาวะเงินทุนไหลออกก็ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ต้องเข้ามาแทรกแซงในบางช่วงเวลา ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่น่าจะนำมาซึ่งความผันผวนต่อตลาดหุ้น และค่าเงินสกุลหลักของโลกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 เป็นอย่างแน่นอน
2. ถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวได้ดี และนายทรัมป์ตั้งใจจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่นโยบายหลายอย่าง กลับไม่เป็นมิตรต่อคู่ค้ารอบโลก ดังนั้น โลกอาจไม่ได้ประโยชน์นโยบายของทรัมป์มากนักถ้าเขาทำตามที่หาเสียงจริง อีกฝั่งคือ ยูโรโซน ที่ยังมีความเสี่ยงสูง เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ถึงแม้ว่าข้าวของสินค้าที่ส่งออกจากเอเชียไปขายที่โน้นจะราคาถูกลงในสายตาของเขา แต่เงินในกระเป๋าเขาก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนอยากจะจับจ่ายใช้สอยขนาดนั้น
ดังนั้น จาก 2 มุมมองส่วนตัวของผมข้างต้น ผมมองว่าการอ่อนค่าของค่าเงินหยวน และค่าเงินในเอเชีย อาจไม่ได้เป็นประโยชน์ และไม่ได้เป็นโอกาสในการลงทุนในเอเชียมากนักครับ เราคงต้องกลับมาดูละเอียดขึ้นว่า บริษัท, สินค้า และ บริการ ที่ไม่ได้พึ่งพาตลาดฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป คือใครก่อนตัดสินใจลงทุนครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639633