mr-messenger-tmbwdeq

นักลงทุนหลายคนมีความสงสัย และยังไม่มั่นใจว่า ระหว่างกองทุนประเภท Active Management Portfolio และ Passive Management Portfolio ควรเลือกกองทุนประเภทไหนมาใส่ในพอร์ตดีกว่ากัน

ก่อนจะไปเลือกกองทุน เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า กองทุนทั้ง 2 ประเภท มีข้อแตกต่างอะไรบ้าง

  1. เน้นการบริหารแบบเชิงรุก (Active Management Portfolio) หมายถึง กองทุนหุ้นที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยมีเป้าหมายเพื่อสามารถเอาชนะดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ให้ได้ โดยดัชนีอ้างอิงนี้ก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือที่เรารู้จักกันว่า SET Index นั้นเอง
  2. เน้นการบริหารแบบเชิงรับ (Passive Management Portfolio) หมายถึง กองทุนหุ้นที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยมีความเชื่อว่า ไม่มีใครสามารถเอาชนะดัชนีอ้างอิงได้ตลอดไป ดังนั้น ผลตอบแทนของกองทุนประเภทนี้จะใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงไปตลอดอายุการลงทุน

จะเห็นว่าประเภทการลงทุน ถูกแบ่งออกเป็น 2 แนวคิด ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงนะครับ โดย ณ ปัจจุบัน ในแวดวงการลงทุน ก็ยังเถียงกันไม่จบว่าสุดท้ายแล้วกองทุนทั้ง 2 ประเภท กองทุนไหนดีกว่ากองทุนไหน แต่ผมจะขยายความให้ว่า นักลงทุนประเภทไหนเหมาะกับการลงทุนแบบใดในระยะยาว

ที่น่าสนใจก็คือ นักลงทุนผู้มั่งคั่งที่สุดในโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟต ให้สัมภาษณ์ใน CNBC ว่า “Index funds make the best retirement sense ‘practically all the time” แปลเป็นไทยก็คือ บัฟเฟตเชื่อว่า การลงทุนในกองทุนดัชนี จะเป็นแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณที่สมเหตุสมผลที่สุดสำหรับทุกคน

สาเหตุที่บัฟเฟตแนะนำเช่นนี้ เป็นเพราะในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีอิทธิพลกับชีวิตคนเรามากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสในการหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มสำหรับนักลงทุนรายย่อย ก็น่าจะลดลง เพราะการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็วขึ้น ความรู้ที่มีมากขึ้น ก็ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น แต่เหล่า Passive Fund หรือ Index Index จะยังทำผลการดำเนินงานได้ดี เพราะเมื่อขนาดธุรกิจใดใหญ่ขึ้น กำไรโตขึ้น ตัวดัชนีก็จะมีการปรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังจะเห็นว่า 5 บริษัทเทคโนโลยี ที่มีอยู่ติดอันดับท็อป 10 บริษัทที่ Market Cap ใหญ่สุด ทั้งๆที่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เล็กกว่านี้หลายเท่านัก ไม่ว่าจะเป็น Alphabet (Google), Microsoft, Apple, Amazon, Facebook

ข้อดีอีกข้อ ก็คือ ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย และค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต่ำ ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Investment Company Institute ในสหรัฐฯ บอกว่า โดยเฉลี่ย กองทุน Active Fund จะเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการราวๆ 0.80%-0.90% ขณะที่ Passive Fund คิดค่าธรรเนียมแค่เพียง 0.10%-0.20% เท่านั้น แปลว่า หากถือกองทุนทั้ง 2 ประเภทไปซัก 10 ปี เราต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการให้ Active Fund สูงกว่า Passive Fund สูงถึง 7% ทีเดียว

แล้วต้องลงทุนแบบไหน ถึงจะใช้ Passive Fund?

  1. นักลงทุนที่วางแผนการลงทุนระยะยาวในระยะเกิน 10 ปีขึ้นไป
  2. ต้องการผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับในอดีต และไม่ห่างจากดัชนีชี้วัดมากเกินไปจนทำให้พลาดเป้าหมายการลงทุน
  3. แคร์เรื่องค่าธรรมเนียมว่าต้องต่ำไว้ก่อน
  4. เหมาะกับการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่เราเชื่อว่าผลตอบแทนดีในระยะยาว แต่เลือกหุ้นเองไม่เป็น หาหุ้นเองไม่เก่ง

ถ้าคุณเป็นแบบ 4 ข้อนี้ และหากองทุน Active Fund ดีๆที่เชื่อมั่นว่าจะผลตอบแทนดีในระยะยาวไม่ได้ ก็ย้ายมาลงทุน Passive Fund เถอะครับ

และนี่คือ กองทุน Passive Fund สำหรับกระจายการลงทุนไปลงทุนหุ้นทั่วโลก ที่เหมาะกับการจัดพอร์ตระยะยาว

TMBWDEQ กองทุนเปิดทหารไทย World Equity Index

TMBWDEQ เป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุน คือเพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนี MSCI World ให้มากที่สุด โดยกลยุทธ์การลงทุนของกองทุนจะใช้นโยบายในการบริหารเชิงรับ (Passive Investment Strategy) ผู้จัดการกองทุนจะเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ Lyxor ETF MSCI World (เป็นกองทุนหลักที่ลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี MSCI World) โดยกองทุนหลักจะกระจายการลงทุนในหุ้นของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

tmbwdeq

รูปที่ 1 : สัดส่วนการลงทุนของกองทุน Lyxor ETF MSCI World
แหล่งที่มา : funds.ft.com (ข้อมูลถึง ณ วันที่ 31 มี.ค. 2017)

โดยผลการดำเนินงานระยะยาวของกองทุนนี้ ก็ใกล้เคียงกับ S&P500 แน่นอน มันก็เพราะว่า กองทุนหลักมีน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯเยอะสุด ถึง 59.60% (ข้อมูลจากรูปที่ 2)

tmbwdeq01

รูปที่ 2 : ผลการดำเนินงาน Lyxor ETF MSCI World เปรียบเทียบ S&P 500 Index
แหล่งที่มา : funds.ft.com (ข้อมูลถึง ณ วันที่ 31 มี.ค. 2017)

จะเห็นว่า ผลตอบแทนแบบรายปี ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปี 2016 อยู่ที่ 9.25%, 15.22%, 16.93%, 8.39% และ 7.46% นับว่าไม่แย่เลยสำหรับ Index Fund แบบกระจายความเสี่ยงทั่วโลกนะครับ

ที่ลองตรวจสอบข้อมูลดู แล้วยิ่งทึ่งขึ้นไปอีกก็คือ ถ้าเปรียบเทียบกองทุน Lyxor ETF MSCI World กับกองทุนประเภทเดียวกัน ลงทุนใน Catagory เดียวกัน ในระยะยาว (5 ปี) พบว่า กองทุน Lyxor ETF MSCI World ทำผลตอบแทนได้ดีติดอันดับ 1st Quartile จาก 1 พันกองทุน ทั้งๆที่ตัวเองเป็น Index Fund

tmbwdeq02

รูปที่ 3 : ผลการดำเนินงาน Lyxor ETF MSCI World เปรียบเทียบ กองทุนอื่นที่ลงทุนประเภทเดียวกัน
แหล่งที่มา : funds.ft.com (ข้อมูลถึง ณ วันที่ 11 พ.ค. 2017)

เพื่อการลดความผันผวนจากการลงทุนในหุ้นไทย และสำหรับนักลงทุนที่ต้องการถือกองทุนจำนวนน้อยกอง แต่ได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงมากที่สุด TMBWDEQ จึงถือเป็นตัวเลือกสำหรับการจัดพอร์ตวางแผนการลงทุนในระยะยาวอีกตัวที่น่าสนใจ

คำเตือน
• การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลการดำเนินในอนาคต
• การนำเสนอข้อมูลข้างต้น มิใช่การให้คำแนะนำการลงทุน
• การลงทุนใดๆ ต้องเกิดจากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจลงทุน บนความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนเอง
• ทางผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิ์ ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียในทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ข้อมูลข้างต้น