ย่างเข้าเดือนสุดท้ายของปี แต่ตลาดหุ้นไทยเปิดวันทำการแรกของเดือน ก็ดูจะไม่สวยเอาเสียแล้วนะครับ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา SET Index ปิดตลาดลบไปถึง -21.06 จุด ปิดที่ 1,569.53 จุด ซึ่งนักวิเคราะห์ทางเทคนิคก็มองกันว่า นี่อาจจะเป็นการหลุดแนวรับจิตวิทยา 1,600 จุด แบบถาวร หรือเปล่า?
ไปดูว่าใครเป็นคนขาย ก็พบว่า นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ – 2,351.52 ล้านบาท และเป็นนักลงทุนรายย่อยนี่เองที่ซื้อสุทธิไปสูงถึง -2,920.80 ล้านบาท อะไรทำให้ต่างชาติเลือกที่จะขายหุ้นไทย ณ ระดับดัชนีตรงนี้ และเวลานี้ เรามาดูพื้นฐานเศรษฐกิจไทยกันหน่อย
ก็คงต้องย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ที่ทางสภาพัฒน์ แถลงข่าว GDP ของไทยในไตรมาสที่ 3/2562 ขยายตัวได้อยู่ที่ 2.4% ซึ่งทำให้ 3 ไตรมาสรวมกันเฉลี่ยแล้วเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เติบโตได้ 2.5% จากตัวเลขก็ต้องบอกว่า เราโตต่ำกว่ากรอบล่างที่นักเศรษฐศาสตร์และฝั่งรัฐบาลเองคาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ต้นปีแล้ว ซึ่งเป็นผลทำให้ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้าถูกปรับตัวลดลงด้วย ซึ่งข้อมูลชุดนี้ ตอนออกมาในช่วงเวลาดังกล่าว ตลาดหุ้นดูเหมือนจะไม่ได้ตอบรับในเชิงลบอะไร ทำให้เราก็ลืมกันไปเพราะมันมักจะมีข้อมูลชุดใหม่มาให้เราเสพทุกๆ วัน
จะบอกว่า เหตุผลที่ต่างชาติเริ่มกลับมาไม่ชอบหุ้นไทยอีกรอบ สาเหตุเป็นเพราะการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ยืดเยื้อ ก็ตอบไม่ได้เต็มปาก เพราะวันจันทร์ ตลาดหุ้นเอเชีย ก็ปิดเขียวกันถ้วนหน้า ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญทั้งโลกไม่มีตลาดไหนปิดทำการต่ำกว่าราคาปิดเมื่อศุกร์เกิน -1% มีเพียงตลาดหุ้นไทยเท่านั้น เป็นเช่นนี้ ก็หมายถึงว่า เราอาจจะมีความเสี่ยงเฉพาะเกิดขึ้นแล้วสิ
ส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยดูจะเหนื่อย ก็คือ ค่าเงินบาท ซึ่งยังอยู่ในโซนแข็งค่าต่อเนื่อง อยู่ที่ 30.275 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งหากย้อนกลับไปเทียบค่าเงินบาทกับภูมิภาคในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ จะพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 7% ถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชียไปเรียบร้อย ทำให้ภาคการส่งออกของไทย น่าจะกดดันไปอีกซักพัก อันเป็นผลมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง (ส่งออกเราหดตัว แต่นำเข้าเราหดตัวมากกว่า)
ถ้าจะต้องลุ้นอะไรในระยะสั้น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และฟื้นความเชื่อมั่นได้บ้าง ก็เห็นจะเป็นตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ซึ่งนักวิเคราะห์คาดกันว่าอาจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เงินเฟ้อซึ่งต่ำและหลุดกรอบล่างของแบงก์ชาติ ก็อาจเปิดโอกาสให้แบงก์ชาติพิจารณาถึงทางเลือกในการลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก แต่โดยส่วนตัวมองว่า ที่ดอกเบี้ยนโยบายระดับ 1.25% ตรงนี้ น่าจะลงไม่ได้แล้ว เพราะเป็นจุดที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ หากลดลงมากกว่านี้ อาจจะเป็นการส่งสัญญาณไม่ดีต่อตลาดและลดความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลงไปมากกว่าจะเป็นผลบวกครับ สรุปคือ เศรษฐกิจไทยตอนนี้ หวังมาตรการกระตุ้นจากนโยบายการเงินลำบาก คงต้องมาจากนโยบายการคลังเป็นหลักครับ
ซึ่งหากไปดูฟากการเมือง ปรากฏการณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝั่งรัฐบาลแพ้โหวตให้กับฝ่ายค้าน ด้วยคะแนนเสียง 236 ต่อ 231 เสียง เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นถึงภาพรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ซึ่งการแพ้ในสภาของฝั่งรัฐบาลเคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ทำให้นักลงทุนมองว่า ยิ่งใกล้จะโหวตเสียงเรื่องงบประมาณปีหน้า แล้วเจอความอ่อนไหวแบบนี้ เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจมีโอกาสจะสตาร์ทช้ากว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ เราคงต้องมาตามดูกัน
ไปดูสถิติตลาดหุ้นไทยในเดือนธ.ค. 5 ปีย้อนหลังที่ผ่านมากัน ก็พบว่า ไม่ใช่เดือนที่ดีของหุ้นไทยเท่าไหร่นัก เพราะนับตั้งแต่ปี 2014 – 2018 เป็นต้นมา เดือนธ.ค. SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้แค่ 2 ปี คือ ปี 2016 และปี 2017 โดยบวกได้ 2.17% และ 3.32% ตามลำดับ ในขณะที่ปี 2014 (-6.04%), 2015 (-5.27%) และปี 2018 ปีที่แล้ว (-4.75%) ปรับตัวลง และเป็นการปรับตัวลงเฉลี่ยถึง 5.35% ทีเดียว เห็นสถิตินี้ กับบรรยากาศเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงนี้ คุณอาจจะรู้สึกเสียวนะครับ แต่มีมุมดีๆ ให้ดูอีกมุม
อย่างแรกเลย ยังไงเสีย จะมีเงินจากการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี เข้าไปลงทุนใน LTF & RMF แน่ๆ ในช่วงเดือนธ.ค. นี้ ยิ่ง LTF เชื่อว่า ปีนี้ จะมียอดลงทุนเยอะเป็นพิเศษ เพราะได้รับสิทธิเป็นปีสุดท้ายแล้ว ดังนั้น ขาลง หรือ Downside Risk ของตลาดหุ้นไทย ไม่น่าจะเยอะมาก
อย่างที่สอง ลองย้อนกลับไปดูสถิติย้อนหลังกันอีกที พบว่า เดือนม.ค. นับตั้งแต่ปี 2015 จนถึง 2019 ปีนี้ ดัชนี SET Index กลับมาบวกได้แรงๆ ทุกปีเลย ตามนี้ครับ 2015 (+5.58%), 2016 (+1.01%), 2017 (+2.23%), 2018 (+4.17%) และปี 2019 (+4.98%) หรือบวกเฉลี่ย +3.6% ทีเดียว โอกาสซื้อ อาจจะอยู่แถวๆ นี้นะครับ ลองพิจารณากันดูดีๆ
Mr.Messenger