Club Fund Day – Ep 7 : ทยอยลงทุน กองทุนรวม ทุกๆเดือน เริ่มยังไงดี?
ติดตาม FINNOMENA PODCAST
สำหรับมือใหม่หัดลงทุนในกองทุนรวม คุณอาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ?? เราควรเริ่มต้นออมยังไงดี จะเลือกกองทุนไหนในการทยอยลงทุนต่อเนื่องดีน้อ?
ผมขออาสา พาไปดูวิธีคิดและหลักการของตัวเอง ที่ทุกท่านสามารถเอาไปใช้ได้ตามนี้เลยครับ
ขั้นตอนที่ 1
เข้าใจหลักการทยอยลงทุน – เพราะหลักการ Dollar Cost Average (DCA) หรือ ทยอยลงทุนต่อเนื่องนั้น ก็เพื่อขจัดปัญหาการจับจังหวะตลาด และเหมาะสำหรับผู้ที่มีความเชื่อว่า “การลงทุนในระยะยาวชนะทุกสิ่ง” ดังนั้น ถ้าใครยังพยายามถามว่า แล้วควรทยอยแบบไหน? วันไหนดี? เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ ยังจะทยอยลงทุนดีหรือเปล่า? ขอบอกเลยว่า มันเป็นความเชื่อคนละอย่างกับการทยอยลงทุนเลยครับ หัวใจสำคัญที่จะทำให้การลงทุนแบบ DCA ประสบความสำเร็จคือ “อึด” และ “ถึก”
ขั้นตอนที่ 2
ต้องคุยกับตัวเองให้ชัด – ต่อจากขั้นตอนที่ 1 นะครับ สิ่งที่ผมเห็นนักลงทุนพลาดจากการใช้ DCA มีอยู่ 2 เรื่องหลักๆ
ข้อแรก คือ กลัวความผันผวนของตลาดมากเกินไป พอตลาดหุ้นตกหนักๆซักไตรมาส จะเริ่มมีความคิดด้านมือต่อสู้กับด้านสว่างในหัวทันทีว่า เฮ้ย เราจะถัวเฉลี่ยมันไปเรื่อยๆแบบนี้จริงๆหรอ(ว่ะ)? ซึ่งเวลาตลาดมันลงขนาดนั้น มันก็จะมีข่าวร้ายออกมาเรื่อยๆ เศรษฐกิจก็ดูจะไม่ค่อยดี มีเหตุผลให้ตลาดหุ้นลงต่ออีกมากมายก่ายกอง มันทำเรา ‘กลัว’ ได้ง่ายๆเลย ประเด็นคือ เราไม่รู้หรอกครับ จุดต่ำสุดของตลาดมันอยู่ตรงไหน ข่าวร้ายยังไม่หมดไป แต่หุ้นเด้งได้ไกลๆ ผมก็เห็นมาตั้งบ่อย
ข้อสอง คือ ถอนการลงทุนออกมาก่อนเวลาอันควร อันนี้ เกิดจากเรื่องเดียวเลยครับคือ “ขาดวินัย” โทษใครไม่ได้ วิธีแก้คือ คุยกับตัวเอง ตั้งเป้าหมายให้ชัด ตั้งกฎให้คัวเองเดินตาม ก็ต้องทำตามและรักษาสัจจะกับตัวเอง
ขั้นตอนที่ 3
เลือกกองทุนต้องดูที่ผลตอบแทนระยะยาว – ลองกลับไปย้อนดูไกลๆเลยครับ ว่ากองทุนไหนให้ผลตอบแทนระยะยาวดีที่สุด 3 ปี 5 ปี หรือจะยาวเกิน 10 ปีเลยยิ่งดี นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ส่วนตัว ผมไม่ค่อยนิยมลงทุนในกองทุนเปิดใหม่ เพราะไม่มี Track Record ให้เห็นผลการดำเนินงานในอดีต
ขั้นตอนที่ 4
เข้าไปดูนโยบายการลงทุน – เนื่องจากเรากำลังจะฝากชีวิตในอนาคตของเราไว้กับกองทุนนี้ ดังนั้น การทำความรู้จักให้มากขึ้น ก็เป็นสิ่งจำเป็น และรากฐานของผลการดำเนินงานที่ดี มันก็มาจากนโยบายการลงทุนที่ถูกต้อง ดังนั้น ลองเข้าไปดูครับ เขาเลือกหุ้นด้วยวิธีอะไร เปลี่ยนหุ้นที่อยู่ในกองทุนบ่อยแค่ไหน หุ้นที่ถือ คือหุ้นที่เราเห็นพ้องกับเค้าว่าเป็นหุ้นที่ดีจริงหรือเปล่า? ดูให้หมดเลยนะ
มาถึงตรงนี้ เราอาจเลือกกองทุนที่มีนโยบายที่แตกต่างกันมาเพื่อเปรียบเทียบกันอีกทีก็ได้ เพราะบ่อยครั้งเหลือเกินที่กองทุนที่เราชอบนโยบาย บางทีมันอาจจะไม่เหมาะกับเราก็ได้ เป้าหมายการเลือกกองทุนของเรามี 2 อย่างคือ ทำให้เงินมันงอกเงย และอีกอย่างคือ มันต้องเป็นกองทุนที่เรากล้าจะอยู่กับเขาไปจนถึงเป้าหมาย
ขั้นตอนที่ 5
Back Test สิครับ – การดูผลตอบแทนย้อนหลังอย่างเดียว มันบอกเราแค่ว่า ช่วงเวลาหนึ่งๆ กองทุนนั้นให้ผลตอบแทนเป็นยังไง แต่การทยอยลงทุน (DCA) มันลงทุนต่อเนื่อง ดังนั้นวิธีที่ดีกว่าก็คือ สมมติไปเลยครับว่า เราจะลงทุนในกองที่เราเลือกมานั้นทุกๆเดือน แล้วดูว่า ของจริงมันออกมาน่าพอใจขนาดไหน?
ผมเลือก 2 กองที่เป็น Active Management Portfolio ในตำนานของนักลงทุนกองทุนไทย และอีกหนึ่งกองทุน Passive Management Portfolio ซึ่งทั้ง 3 กองทุน เปิดบริหารมาอย่างยาวนานนะครับ ตามตารางด้านล่าง
รูปที่ 1 : ผลการดำเนินงานกองทุนรวมหุ้นไทย 3 กอง
ที่มา : www.morningstarthailand.com
เสร็จแล้ว เราก็มาทำ Back Test กัน โดยมีเงื่อนไขตามนี้ครับ
- ทยอยลงทุนทุกวันทำการแรกของเดือน
- ใส่เงินเข้าไปงวดละ 5,000 บาท
- เริ่มต้นลงทุนครั้งแรก เดือน ม.ค. 2549
- จนถึงเดือน ธ.ค. 2558 (รวมระยะเวลา 10 ปี)
ได้ผลตอบแทนตามนี้จ้า
รูปที่ 2 : ผลตอบแทนย้อนหลังจากการทยอยลงทุนทุกเดือน
ที่มา : www.thaimutualfund.com
ด้วยเงินต้น เดือนละ 5,000 บาท ทั้งหมด 120 เดือน เท่ากับมีต้นทุนอยู่ 600,000 บาท ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2558 จะมีเงินลงทุนทั้งสิ้น
อันดับที่ 1 : ABSM 1,382,192 บาท (คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นต่อปี อยู่ที่ 8.78%)
อันดับที่ 2 : BTP 1,322,952 บาท (คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นต่อปี อยู่ที่ 8.30%)
อันดับที่ 3 : TMB50 1,015,897 บาท (คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นต่อปี อยู่ที่ 5.45%)
อันดับผลตอบแทนนี้ มีข้อสังเกตหลายข้อนะครับ
- จะเห็นว่า ABSM และ BTP ให้ผลตอบแทนต่างกันไม่มากนะครับ ทั้งๆที่นโยบายการลงทุนต่างกันพอสมควร โดย BTP หรือ บัวหลวงทศพล ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ในไทย ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ ไม่เกิน 10 ตัว เรียกได้ว่า เป็นพอร์ตกองทุนรวมที่กระจายการลงทุนน้อย เสี่ยงสูง แต่ ABSM ตอนเริ่มตั้งกอง ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ประมาณ 30 ตัว ลงทุนแบบถือยาวๆ (Buy & Hold)
- ผลการดำเนินงาน ใช้ NAV จริง ที่หักค่าธรรมเนียมต่างๆหมดแล้ว ซึ่ง ABSM มีค่าธรรมเนียมขาเข้า (Front End Fee) อยู่ที่ 1% นะครับ แสดงว่า ขนาดเก็บค่าธรรมเนียมแพงแล้ว ผลการดำเนินงานก็ยังดีกว่า
- ถ้าสมมติผมหยุดลงทุนช่วงปี 2556 จากกราฟจะเห็นว่า กองทุน BTP ให้ผลตอบแทนชนะ ABSM นั่นแสดงให้เห็นว่า ภาวะตลาด ณ เวลาหนึ่งๆ มีผลกับผลการดำเนินงานของกองทุนที่แตกต่างกันด้วย
- จะเห็นว่า ถึงแม้ทยอยลงทุนมาแล้ว 4 ปี (นับตั้งแต่ 2549 ถึง 2552) ก็ยังมีโอกาสขาดทุน หากเจอวิกฤตหนักๆ ซึ่งช่วงนั้นก็คือ Subprime Crisis แต่ถ้าทนทยอยลงทุนต่อ ก็กลับมาผลตอบแทนเป็นบวกได้
- ผลตอบแทนเฉลี่ยหุ้นไทย 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 9.42% แต่จะเห็นว่า วิธีการทยอยลงทุน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำกว่า SET สาเหตุเพราะ เงินลงทุนตั้งต้น ค่อยๆสะสมมาเรื่อยๆ ไม่ได้ใช้เงินก้อนเข้าลงทุนครั้งเดียว ซึ่งถ้าดูผลการดำเนินงานย้อนหลัง 10 ปีของ ABSM อยู่ที่ 10.52%ต่อปี (มากกว่า SET Index นะคับ)
- การลงทุนในกองทุนหุ้นไทยแบบ Passive Management Portfolio จากข้อมูลในอดีต จะเห็นว่า ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า สาเหตุอาจเป็นเพราะ ความไม่มีประสิทธิภาพของตลาด การเข้าถึงข้อมูลการลงทุนในอดีตนั้นไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ผู้จัดการกองทุนหรือนักลงทุน สามารถหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ (ซึ่งส่วนตัว ก็ยังเชื่อว่า ในอนาคตก็ยังคงเป็นแบบนี้อยู่)
เอาละ ผมลองทำให้ดูกันแล้ว อยู่ที่คุณแล้ว ว่าจะเริ่มหรือยัง?
ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี
App Spotify
https://finno.me/spotify
App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast
Apple podcast
https://finno.me/applepodcast
App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud
Podbean
https://finno.me/podbean
Youtube
https://finno.me/youtubepodcast