ปีที่แล้วต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยทำผลงานไว้ได้ดีเกินหน้าเกินตาหลายปีที่ผ่านมา จนทำให้นักลงทุนหลายคนฝันหวานว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ดีไม่แพ้กัน แต่พอผ่านไป 3 เดือนเท่านั้น ความฝันก็เหมือนจะเลือนราง และจางหายไปตามกาลเวลา นักลงทุนเริ่มกลับมากังวลกับปัจจัยลบที่รุมเร้าเข้ามาเรื่อยๆ

ผมเจอนักลงทุนหลายคน เริ่มตั้งคำถามคล้ายๆ กันว่า ปีนี้เราควรพักรบ กอดเงินสด รอให้ตลาดปรับฐานเสร็จแล้วค่อยกลับมาลงทุนดีไหม? และคำตอบที่ผมให้ไปก็คือ “ไม่ดี ถ้าเพิ่งเริ่มต้นลงทุน ไม่ควรรอจังหวะ” เพราะการรอ ก็มีต้นทุนค่าเสียโอกาสของมัน

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหรจะเกิดวิกฤต แล้วถ้าเรารอไปอีก 3 ปี แต่วิกฤตไม่เกิดละ พอเรารอไม่ไหว แล้วไปลงทุนหลังจากนั้น ปรากฎว่า เกิดวิกฤตขึ้นมาจริงๆ ก็เท่ากับเงินเราอยู่นิ่งๆ ไป 3 ปี แล้วไปขาดทุนหนักเอาปีที่ 4 หรือเปล่า? ดังนั้นต้องลองคิดไว้หลายกรณี เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้หน่อยก็ดี

ถ้าให้อธิบายมากกว่านั้น ในแง่ของการวิเคราะห์ภาพรวมตลาด ผมเชื่อว่า ตลาดยังไม่ได้ Price-in ปัจจัยในอนาคต และ Price-in ปัจจัยลบในระยะสั้นมากเกินไป โดยมี 2 ปัจจัยจากนอกประเทศ และ 2 ปัจจัยของตัวเราเอง ที่อยากให้ผู้อ่านได้มีมุมมองเพิ่มเติม ส่วนจะมีอะไรบ้าง ตามนี้นะครับ

1. เชื่อว่า ความกลัวเรื่องสงครามการค้า (Fears of trade war) จะเป็นแค่ความกลัว และไม่เกิดขึ้นจริง

โดยหากดูจากผลงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาของ ปธน.ทรัมป์ ก็จะพบว่า ยังไม่มีผลงานในเชิงนโยบายที่เด่นชัด และมีความขัดแย้งทั้งระหว่างรีพลับบริกัน และ พรรคแดโมแครต หรือแม้แต่ภายในพรรครีพลับบรีกัน ด้วยกันเองอยู่เรื่อยๆ นโยบายของ ปธน.ทรัมป์ ที่พยายามผลักดัน ถือว่าสวนกระแสเศรษฐกิจในปัจจุบันพอสมควร จึงเกิดแรงต้านที่เยอะเกินไป และอาจกระทบฐานเสียงของตนเองก่อนการเลือกตั้ง Mid-term ในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้

2. ในอดีต ฟองสบู่ตลาดหุ้นที่มันแตก จะเกิดจากการบวมขึ้นของราคาสินทรัพย์ในอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมหนึ่งเป็นพิเศษ

ยกตัวอย่างเช่น ฟองสบู่ปี 1980 ราคาหุ้นไปวิ่งแรงที่กลุ่มพลังงาน จนทำให้กลุ่มพลังงาน มี Market Cap ใหญ่เป็นอันดับ 1 นำกลุ่มอื่น และมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นสูงเกินไป หรือ ฟองสบู่ dotcom ตอนปี 2000 ตอนนั้นหุ้นกลุ่ม Technology ก็มี Market Cap คิดเป็น 32% ของตลาดทีเดียว หรือ ในปี 2008 ที่ผลิตภัณฑ์พวกสินเชื่อผูกกับราคาอสังหาฯ เนื้อหอม ก็ทำให้กำไรของกลุ่มสถาบันการเงินโตดี และราคาหุ้นก็วิ่งตาม จน Market Cap ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งก่อนฟองสบู่แตกเช่นกัน

ตอนนี้หุ้นกลุ่ม IT ในสหรัฐฯ มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 23% เมื่อเทียบกับ Market Cap ทั้งตลาด ตรงนี้ คุณอาจกังวลว่า หุ้น IT ในสหรัฐฯ แพงไปแล้วรึเปล่า เพราะธนาคารกลางก็เคยแสดงความกังวลถึงประเด็นนี้

แต่มุมมองส่วนตัวของผม ผมมองว่า การเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี คือ Mega Trend ของโลกหลังจากนี้ ดังนั้น IT Sector ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากนะครับ และการที่กลุ่มนี้ค่อยๆ โตขึ้น ก็เป็นการลดความสำคัญและความเสี่ยงที่จะเกิดกับตลาดโดยรวมจากความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมอื่นไปในตัวด้วยเช่นกัน อีกอย่าง ของปี 2000 ตอน Dotcom Bubble กลุ่ม Technology มี Market Cap สูงถึง 32% ของตลาด นับว่าวันนี้ยังห่างจากวันนั้นอยู่เยอะทีเดียวครับ

3. การลงทุนภาครัฐ จะมีการเร่งเบิกจ่ายที่ชัดเจนนับตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2018

โดยจะมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจากปี 2017 ถึง 3 เท่า ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นจะวิ่งเพื่อตอบรับเชิงบวกก่อนการเบิกจ่ายจริง ซึ่งอาจจะตั้งแต่ครึ่งปีแรกของปีนี้เลยก็เป็นไปได้ เพราะปกติตลาดหุ้น เป็นตลาดแห่งความคาดหวังในอนาคต อย่างน้อยๆ 3-6 เดือนข้างหน้า และเมื่อเทียบการก่อหนี้ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว หนี้ภาครัฐของประเทศไทยเรา ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ สามารถเร่งลงทุนได้ รวมถึงอีกเรื่องคือ หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2019 ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ตลาดกลับมาให้ความสนใจอีกครั้งหนึ่ง

4. เงินลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

และแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยส่งผลให้ Earning yield gap (EYG) ของตลาดหุ้นไทยมี Spread กว้างมากขึ้น ซึ่งแปลว่าตลาดหุ้นไทยที่ปรับฐานลงมาในไตรมาส 1/61 ที่ผ่านมาเริ่มมีมูลค่าที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ ตรงจุดนี้เชื่อว่าจะทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ จะมีการโยกย้ายเปลี่ยนสินทรัพย์จากตราสารหนี้เป็นหุ้น ในจังหวะเวลาที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งก็คงต้องติดตามประเด็นนโยบายการค้า และมุมมองของเฟดต่อการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644357

SaveSave

SaveSave

SaveSave

SaveSave

TSF2024