ตลาดทุนโลก จะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้งในปี 2019

ในช่วงเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา เกิดพัฒนาการเชิงบวกหลายอย่างในตลาดทุนโลก

ซึ่งผมมองว่า นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตลาดหุ้นโลก รวมถึงทางฝั่งเอเชีย และตลาดหุ้นไทย กลับมามีโอกาสสร้างผลตอบแทนให้เป็นบวกได้อีกครั้ง หลังจากที่ทำให้นักลงทุนผิดหวังกันมาทั้งปี 2018 ที่ผ่านมา

บทความตอนนี้ขอพาไปดูปัจจัยบวกที่เห็นได้ค่อนข้างชัดตั้งแต่ย่างเข้าเดือนพ.ย. ที่ผ่านมานะครับ

กลไกการคานอำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเริ่มทำงาน

หลังจากผลการเลือกตั้งกลางสมัย ผลที่เราทราบคือพรรคเดโมเครตครองเสียงข้างมากในสภาล่าง ซึ่งทำให้อีก 2 ปีข้างหน้า พรรครีพลับรีกันไม่ได้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งสภาบนและสภาล่างแล้ว ผลหลังจากนี้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก็คือ ผมเชื่อว่า ปธน.ทรัมป์ จะเปลี่ยนท่าทีการดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศ หลังจากที่ผลักดันภาษีนำเข้า หรือ นโยบายกีดกันทางการค้าในช่วง 2 ปีแรกมาตลอด เพราะน่าจะเกรงว่าจะยิ่งเสียคะแนนนิยมไปมากกว่านี้ และหลายฝ่ายก็ออกมาเตือนตลอดเวลา แนวทางการดำเนินนโยบายเช่นนี้ ไม่น่าจะส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในระยะยาว

ราคาน้ำมันในตลาดโลก ปรับฐานจากจุดสูงสุดต้นเดือนต.ค. มากกว่า -25%

ประเด็นนี้ ที่ผมมองว่าเป็นปัจจัยบวก สาเหตุเพราะ การที่ราคาน้ำมันดิบลดลง จะส่งผลโดยตรงให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้เป็นตัวพิจารณาแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งเหตุผลของการปรับลดลงครั้งนี้ ก็มาจากหลายๆปัจจัย ทั้งเรื่องที่พี่ใหญ่ในกลุ่มโอเปคอย่างซาอุฯ เพิ่มกำลังการผลิตในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำมันสำรองในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวบ้างในปี 2019 และปี 2020 ก็ส่งผลให้เหล่านักวิเคราะห์ออกมาปรับประมาณการอุปสงค์ของน้ำมันดิบลงด้วยเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะเพราะเหตุผลใดก็แล้วแต่ ในด้านของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตราสารทุนหรือหุ้น ย่อมชอบที่จะเห็นนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย มากกว่าการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว ซึ่งก็เห็นแล้วนะครับว่า หลายๆ ช่วงของปี 2018 ที่ผ่านมา ความผันผวนของตลาดหุ้นก็มีสาเหตุบางส่วนมาจากความกลัวว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยับขึ้นเร็วเกินไป

การเปลี่ยนท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ซึ่งตลาดเห็นมาซักระยะว่ามีแรงกดดันทางการเมือง จากการที่ปธน.ทรัมป์ ให้ความเห็นกึ่งโจมตีคณะกรรมการ FOMC ว่า การรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มันทำลายความตั้งใจและสวนทางกับนโยบายการคลังที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสู้กับการขาดดุลกับประเทศคู่ค้า เพราะทำให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าเกินไป แต่สัญญาณมาเริ่มชัดเจนขึ้น ก็เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวล กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายกำลังเข้าใกล้ระดับที่สมดุล หรือจุดที่เป็นกลาง โดยอยู่ต่ำกว่าระดับที่เป็นกลางเพียงเล็กน้อย ถือเป็นระดับที่ไม่ได้ทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ คำสัมภาษณ์นี้ เหมือนกำลังจะแย้มบอกกับนักลงทุนว่า ปีหน้า (2019) เราจะได้เห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าลงมากกว่าปีนี้ จากที่ปีที่ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้ง และน่าจะขึ้นอีกครั้งในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี รวมทั้งหมดเป็น 4 ครั้ง นักวิเคราะห์ในตลาดมองว่า ปี 2019 เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้เพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น ซึ่งปัจจัยสนับสนุนก็มาจากเหตุผลข้อ 2. ด้วยเช่นกัน ที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงครับ

การเริ่มต้นเจรจาเพื่อหาข้อยุติในประเด็นสงครามการค้า

โดยปธน.ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และ ปธน.สี จิ้น ผิง ของจีน พร้อมทีมเศรษฐกิจเข้าร่วมกันเจรจาการค้าในวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังจากการประชุม G-20 ซึ่งกินเวลาถึงมากกว่า 2 ชั่วโมงทีเดียว การเจรจานี้เกิดขึ้นที่กรุงบัวโนส แอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เราคงต้องรอรายละเอียดซักหน่อยนะครับ เพราะตอนนี้ยังไม่มีรายงานออกมาจากทั้ง 2 ฝั่งว่า ตกลงกันเรื่องอะไรไปบ้าง เพราะเพิ่งเป็นการพบปะกันครั้งแรกหลังจากเปิดฉากตั้งกำแพงภาษีกันมาตั้งแต่ต้นปี แต่ข้อดีที่นักลงทุนรับรู้ได้ทันทีคือ นับจากนี้ จะไม่มีการตั้งกำแพงภาษี หรือออกมาตรการกีดกันการค้าอะไรเพิ่มเติมแล้ว ถ้ามองอีกมุมมอง ก็สามารถมองได้ว่า กรณีที่เลวร้ายที่สุดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน อาจจะผ่านพ้นไปแล้ว และน่าจะมีพัฒนาการเชิงบวกออกมาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้นักวิเคราะห์การเมืองบางท่าน ให้ความเห็นว่า สาเหตุหลักอาจเป็นเพราะ ปธน.ทรัมป์ ต้องการพุ่งเป้าไปที่รัสเซียไปยึดเรือยูเครนไว้ 3 ลำกลางทะเลพิพาท ใกล้แคว้นไครเมีย และยกเลิกการประชุมกับปธน.ปูตินหลังประชุม G20 ไป

ถึงแม้จะมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นมาถึง 4 ประเด็นภายในเดือนเดียว และตลาดหุ้นอาจเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลังจากผันผวนมาทั้งปี 2018 ที่ผ่านมา แต่อีกหนึ่งอย่างที่ผมเชื่อก็คือ การจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) ก็ยังถือว่ามีความสำคัญในการรับมือกับทุกสถานการณ์การลงทุนในระยะยาว เราไม่ควรประมาท เตรียมแผนการรองรับ รวมถึงเตรียมจิตใจกันไว้พร้อมครับ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646081