เมื่อวันศุกร์ต้นเดือนที่ผ่านมา ทางกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประกาศตัวเลข Nonfarm Payroll หรือ แปลเป็นไทยว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตร ตัวเลขนี้ เป็นที่ตัวที่เอาไว้วัดค่าการเปลี่ยนแปลงของจำนวนของผู้ที่มีงานทำในระหว่างช่วงเดือนก่อนหน้านี้ โดยจะไม่รวมจำนวนผู้ที่งานทำที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาคการเกษตรเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสาเหตุที่ดัชนีนี้ นักลงทุนให้ความสำคัญ เป็นเพราะว่า การสร้างงานที่เพิ่มขึ้น สามารถตีความได้ว่า ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น และจะนำไปสู่การใช้จ่ายที่สูงขึ้นในอนาคต ซึ่งการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคนี้ ถือเป็นส่วนที่มากที่สุดอย่างหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นเอง
ทำไมต้องเป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตร?
สาเหตุเป็นเพราะ ผู้ใช้แรงงานในสหรัฐฯที่อยู่นอกภาคเกษตร มีสัดส่วนสูงถึง 80% ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) และนอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯยังจะเผยแพร่ตัวเลขอีกหนึ่งตัวในวันเดียวกันที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน และเป็น Benchmark ของธนาคารกลางในการพิจารณาความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นก็คือ Unemployment Rate ซึ่งก็คือ อัตราการว่างงานของตำแหน่งงานนอกภาคเกษตร
Nonfarm Payroll เปิดเผยตัวเลขอะไรบ้าง?
ข้อมูลสถิติที่เปิดเผย จะแยกการจ้างงานเป็นรายอุตสาหกรรมให้เห็นว่า แต่ละเดือน เกิดการจ้างงานที่กลุ่มอุตสาหกรรมใดมากกว่ากัน ตรงนี้ละครับ ที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนใช้ในการคาดการณ์ยอดขาย หรือกำไรสุทธิในอนาคตของอุตสาหกรรมนั้นๆได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ในข้อมูลสถิติยังเปิดเผยค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมง (Average hourly earnings) และ การเพิ่มขึ้นของค่าแรง (Wage growth) ให้เราได้เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร
เราลองไปดูข้อมูลตัวเลข Nonfarm Payroll เดือน ก.ย. ที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์กันครับ ว่าตีความว่าอย่างไร
ตัวเลข Nonfarm Payroll เดือน ก.ย ประกาศออกมา ลดลง 33,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่า น่าจะเพิ่มขึ้น 90,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่าตัวเลขเดือน ส.ค. ที่ประกาศออกมาอยู่ที่ 169,000 ตำแหน่ง ตัวเลขที่ประกาศออกมา สะท้อนว่า ผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนทั้งสองลูกที่ถล่มสหรัฐฯ มีมากกว่าที่ได้คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ แต่ตัวเลข Unemployment Rate ออกมาลดลงเหลือ 4.2% ดีกว่าเดือนก่อนหน้า และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ พอเห็นแบบนี้ ก็ต้องเข้าไปดูข้างในครับ
ตัวเลข Nonfarm Payroll รายอุตสาหกรรม ที่เปิดเผยออกมา พบว่า ตำแหน่งในร้านอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงจากเดือน ส.ค. มากกว่า 100,000 ตำแหน่ง เพราะเหล่าร้านค้า จำเป็นต้องปิดให้บรการในช่วงประสบภัยพิบัติพายุเฮอร์ริเคน สะท้อนให้เห็นว่า ในภาพรวมแล้ว ไม่ได้กระทบอุตสาหกรรมอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มธุรกิจขนส่ง การศึกษา และ สุขภาพ ยังคงมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
เมื่อไปดูจำนวนแรงงานที่ประกาศออกมาเช่นกัน ก็พบว่า จำนวนแรงงาน (Labor-force) เพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ปี 2014 โดย Labor-for นี้ไม่รวมลูกจ้างชั่วคราวนะครับ พอเห็นแบบนี้ ก็พอจะบอกได้ว่า ที่ Nonfarm Payroll ลดลงในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นลูกค้าชั่วคราวเสียส่วนใหญ่นั่นเอง
Average wages ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือน ก.ย. จะมีสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ย. ที่ตัวเลขปรับลดลงนิดหน่อย ตัวเลขที่สำคัญตัวต่อไปก็คือ Unemployment Rate นะครับ เหตุผลที่ Unemployment Rate ยังปรับลด ขณะที่ Nonfarm Payroll กลับลดลงด้วยเช่นกัน สาเหตุเพราะ Unemployment Rate ดูที่สัญญาการจ้างงานครับ คือ ถึงแรงงานจะไม่ได้มาทำงาน แต่ถ้ายังคงมีสถานะเป็นลูกจ้างของบริษัท ก็จะไม่ถูกนับอยู่ใน Unemployment เห็นแบบนี้ เราก็เข้าใจตัวเลขมากขึ้นแล้วครับว่ามีความเป็นมาอย่างไร
ผลต่อตลาดทุนเลยออกมาไม่บวกไม่ลบ เพราะ ตัวเลขฝั่งแรงงานที่ประกาศออกมา ไม่ได้ถูกตีความว่า ตลาดแรงงานในสหรัฐฯยังแข็งแกร่ง หรือ ทรุดลง จากเดือนก่อนหน้า ส่วนใครเฝ้าติดตามว่า โอกาสที่ที่ประชุม FOMC จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ สูงขึ้นหรือลดลงอย่างไร ก็คงต้องไปติดตามปัจจัยอื่นเพิ่มเติมอีกทีครับ
หวังว่า ในการประกาศตัวเลข Nonfarm Payroll เดือนต่อๆไป จะทำให้คุณเห็นแนวทางในการตีความ เข้าใจมากขึ้น และกำหนดเป็นกลยุทธ์การลงทุนได้ดีขึ้นนะครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/642789