นักลงทุนต้องรู้! จัดเก็บภาษีใหม่วันที่ 20 ส.ค. 2562 กระทบกับกองทุนรวมที่เราถืออย่างไร?

สืบเนื่องจาก พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) ปี พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2562 ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. เป็นต้นไป ได้มีการแก้ไขปรับปรุงการเก็บภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่ผ่านกองทุนรวม และมีการเปลี่ยนแปลงประเภทเงินได้ตามกฎหมาย

ซึ่งจากประกาศนี้ จะมีผลกระทบต่อนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมก็คือ

กรณีที่ 1 : กรณีนักลงทุน ลงทุนในกองทุนรวมทุกประเภท (ยกเว้น RMF และ PVD) ที่มีการฝากเงิน หรือ ลงทุนในตราสารหนี้ จะถูกหักภาษี 15% ของดอกเบี้ย หรือ ส่วนลดรับ ที่กองทุนรวมได้รับจากผู้ออก โดยจะเป็นการหักภาษีตั้งแต่ต้นทางก่อนจะจ่ายดอกเบี้ย หรือผลกำไรส่วนต่างจากส่วนลดรับ แล้วนำเงินผลประโยชน์เข้ามาให้กองทุน

ดังนั้น ในแง่ของ Operation Process จึงถือว่า ไม่มีผลกระทบต่อนักลงทุนแต่อย่างใด แต่ในแง่ของผลตอบแทนจากการลงทุน จะทำให้ ผลตอบแทนคาดหวังใครที่ลงทุนในกองทุนรวมที่มีการลงทุนในเงินฝาก หรือ ตราสารหนี้ หลังจากนี้จะปรับตัวลดลง ตามสัดส่วนที่กองทุนไปลงทุนเพราะต้องถูกหักภาษี 15% ทันที

…ยังไม่หมดครับ มีอีก 1 ประกาศ

ก็คือ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ซึ่งในเนื้อหา มีคำสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) (ซึ่งคือ เงินปันผล และ เงินส่วนแบ่งของกำไร) มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินปันผลที่จ่ายออกจากกองทุนรวมทุกประเภท ยกเว้นก็เพียงกองทุนรวมตราสารหนี้

ผลกระทบต่อนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมก็คือ

กรณีที่ 2 : กองทุนรวมทุกประเภท (ยกเว้น กองทุนรวมตราสารหนี้) กรณีที่กองทุนรวมมีการจ่ายปันผลให้บุคคลธรรมดา ซึ่งรายได้ตรงนี้ เป็นรายได้มาตรา 40(4)(ข) จะถูก บลจ. หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% ของจำนวนเงินปันผลที่นักลงทุนได้รับในทุกกรณี ตามคำสั่งกรมสรรพากร ทั้งนี้ ถึงแม้ท่านจะเลือกไม่ให้ บลจ. หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ ทาง บลจ. ก็จำเป็นต้องหักภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ ยังคงสิทธิของนักลงทุนในการเลือกว่า เงินปันผลที่ได้รับ จะนำไปรวมคำนวนหรือไม่รวมคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้

สาเหตุที่ยกเว้น กองทุนรวมตราสารหนี้ ก็เพราะจะถูกหักภาษี 15% ไปแล้วตั้งแต่ต้นทางจากกรณีที่ 1

การเปลี่ยนแปลงนี้ จะมีผลกับการลงทุนในกองทุนรวมทั้งระบบ ทุก บลจ. ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2562 เป็นต้นไปครับ

สรุปตามนี้ครับ

กองทุนรวมหุ้น ที่มีนโยบายจ่ายปันผล – เงินปันผลที่ได้ นักลงทุนถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทันที 10% โดยไม่มีข้อยกเว้น

กองทุนรวมหุ้น ที่มีนโยบายไม่จ่ายปันผล – ไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากประกาศนี้

กองทุนตราสารหนี้ ที่มีนโยบายจ่ายปันผล – ไม่ถูกหักภาษี ที่จ่าย 10% ตอนจ่ายปันผล แต่ถูกหักภาษี 15% ตั้งแต่ได้ผลตอบแทนจากตราสารต้นทาง

กองทุนตราสารหนี้ ที่มีนโยบายไม่จ่ายปันผล – ดอกเบี้ย และส่วนลดรับ จะถูกหักภาษี 15% ตั้งแต่ได้ผลตอบแทนจากตราสารต้นทาง

กองทุนรวมผสม ที่มีนโยบายจ่ายปันผล – ในส่วนที่ผู้จัดการกองทุนจัดสรรเงินลงทุนไปลงทุนในตราสารหนี้ หรือ เงินฝาก ดอกเบี้ยหรือส่วนลดรับที่กองทุนได้จากผู้ออกตราสาร จะถูกหักภาษี 15% และถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก 10% ตอนจ่ายปันผลให้นักลงทุน

กองทุนรวมผสม ที่มีนโยบายไม่จ่ายปันผล – ถูกหักภาษี 15% ตั้งแต่ได้ผลตอบแทนจากตราสารต้นทาง (เฉพาะส่วนที่ลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้)

แต่ทั้งนี้ ก็มีข้อถกเถียงกันอยู่นะครับ กรณีการลงทุนในกองทุนรวมผสมที่มีนโยบายจ่ายปันผล ว่า ไม่ควรหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% อีกครั้งหรือเปล่า เพราะเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ผิดหลักการภาษี ประเด็นนี้ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ดังนั้น แนะนำนักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนรวมผสมอยู่ ณ ปัจจุบัน หรือ คิดจะลงทุนในอนาคตหลังวันที่ 20 ส.ค. 2562 เป็นต้นไป แนะนำว่า หลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน ถ้าไม่อยากโดนเก็บภาษี 2 ต่อ ไม่งั้น ผลตอบแทนที่ได้ โดนภาษีกินไปหมดครับ ไม่คุ้มกับที่เสี่ยงลงทุนไป

แหล่งที่มา :-
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/P…/2562/A/067/T_0103.PDF
https://www.rd.go.th/publish/3479.0.html

Mr.Messenger รายงาน

TSF2024