เรื่องผิดๆ ที่คนส่วนใหญ่คิดเกี่ยวกับการจัดพอร์ต

ตั้งใจอยู่ในวงการมาจนถึงวันนี้ ต้องบอกเลยนะครับว่า นักลงทุนส่วนน้อยมากๆ ที่จะเห็นถึงความสำคัญของการจัดพอร์ตการลงทุน เหตุผลก็มีมากมายแตกต่างกันไปตามแต่ละประสบการณ์ที่นักลงทุนแต่ละท่านไปพบเจอมา

บทวิจัยหลายๆฉบับที่ได้ทำการศึกษาปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จในการลงทุน ซึ่งมีทั้งหมด 3 ปัจจัย คือ

  1. การจัดพอร์ต (Asset Allocation)
  2. การคัดเลือกหุ้น (Stock Picking)
  3. การจับจังหวะ (Market Timing)

บทสรุปคือ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เรามั่นใจว่า จะประสบความสำเร็จในการลงทุน ก็คือ “การจัดพอร์ต หรือ Asset Allocation” มากกว่า 90% และที่เหลืออีก 10% มาจากอีก 2 ปัจจัยที่เหลือ

เห็นบทสรุปแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของการจัดพอร์ตมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น บทความนี้ จะพาผู้อ่านไปตามหาความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการจัดพอร์ตกันดูอีกรอบนะครับ ใครคิดตามนี้ บอกได้ทันทีว่า “คุณคิดผิด”

1. การจัดพอร์ต เป็นเรื่องของคนรวย

คำนี้ ได้ยินมาบ่อยมากๆนะครับ ได้ยินมาตั้งแต่วันที่ตัวเองหัดลงทุนด้วยซ้ำ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า 10 กว่าปีที่แล้ว องค์ความรู้ด้านการจัดพอร์ตแก่นักลงทุนรายย่อยยังถือว่าน้อยมาก แล้วพอเราเพิ่งมีเงินเก็บหลักพันหลักหมื่น ก็คิดไปว่า จะจัดพอร์ตแล้วกระจายความเสี่ยงไปเพื่ออะไร คนที่เหมาะกับการจัดพอร์ต คือ คนรวยสิ เพราะเงินเขาเยอะ จะไปลงทุนในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียวก็มีความเสี่ยง เลยต้องกระจาย

ขอถามกลับครับ เงินหลักพันหลักหมื่นของคุณ มันก็คือ น้ำพักน้ำแรงของคุณ คือ ต้นทุนที่เอาไว้ต่อยอดในอนาคต ใช่หรือไม่? ถ้าคำตอบคือ ใช่ แล้วเราจะปล่อยให้เงินลงทุนก้อนนี้ ไปอยู่ผิดที่ผิดทางจริงๆหรือครับ

การรับความเสี่ยง เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคล ไม่เกี่ยวว่าจะเงินเยอะเงินน้อย ดังนั้น ใครที่ยังไม่ได้จัดพอร์ตอย่างจริงๆจังๆ ก็ย้อนกลับมาทำ Asset Allocation ดูความเสี่ยงของตัวเราเองก่อน จะทำให้เราใช้ชีวิตทำงานหาเลี้ยงชีพได้มีความสุข และให้เงินทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เชื่อผม

2. เราเพิ่งเริ่มทำงานเอง อยากรวยเร็ว ต้องเสี่ยงเยอะๆ

แนวคิดแบบนี้เกิดกับหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มทำงานและเงินออม รวมทั้งเงินเดือน ยังถือว่าน้อยอยู่ คำพูดนี้เกิดจาก ความต้องการเร่งผลตอบแทนให้เร็ว อยากพบกับความสำเร็จเร็วๆ ถามว่าผิดไหม มันก็ไม่ผิดหรอกครับ แต่น้อยคนนักที่จะทำได้

เพราะการลงทุนด้วยการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น ไปนั่งเทรดหุ้น หรือ ถึงขั้นไปลงทุนใน Cryptocurrency มันกินเวลาในชีวิตปกติของเราเยอะเหมือนกันนะครับ ถ้าใจไม่ได้รักจริง และมีสิ่งที่ต้องการมากกว่าเงิน ผมก็อยากแนะนำให้บริหารเงินลงทุนให้ดีๆ ไม่เสี่ยงทุ่มลงทุนอะไรที่ผันผวนมากเกินไป

3. มีหุ้นเป็น 10 ตัวในพอร์ต ก็เรียกว่าจัดพอร์ตแล้ว

กรณีนี้ เป็นความเข้าใจผิดของนักลงทุนที่พอร์ตการลงทุนของตนเองอาจจะมีแต่หุ้นในพอร์ต โดยไปมองว่า ก็ซื้อสะสมไว้หลายตัวแล้ว หรือ การไปลงทุนผ่านกองทุนรวมซึ่งมีหุ้นในพอร์ตเกิน 30 ตัว นี่ก็ถือว่ากระจายความเสี่ยงแล้ว นี่ละคือพอร์ตของฉัน
คิดแบบนี้ ก็ถือว่า “ผิด” เพราะ การจัดพอร์ต หมายถึง การผสมสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภท ไม่ใช่การเลือกซื้อสินทรัพย ประเภทเดียวหลายๆ ตัว

สมมตินะครับว่า หุ้น 10 ตัวที่เรามีในพอร์ต มันคือหุ้นไทยล้วนๆทั้งหมด เราก็เห็นมานักต่อนักแล้วว่า ถึงเวลาขับขัน หรือเกิดแรงเทขายรุนแรงขึ้นมา อาจจะเหลือหุ้นที่ทนทานสภาวะตลาดได้ประมาณ 2-3 ตัวในพอร์ต แต่หุ้นส่วนใหญ่ในพอร์ตของคุณก็ปรับตัวลงตามสภาวะตลาดอยู่ดี แบบนี้ จะเรียกว่า กระจายความเสี่ยงได้จริงๆหรือครับ

4. ฉันรับความเสี่ยงไม่ได้ ยังไงก็ไม่ควรมีหุ้นในพอร์ต

นี่ก็เป็นปัญหาอีกประเภทครับ คือ สำหรับนักลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ หรือ รับความเสี่ยงไม่ได้ เขาก็มักจะคิดว่า คำว่า “จัดพอร์ต” หมายถึง การเอาตราสารทุน หรือ หุ้น เข้ามาใส่ไว้ในพอร์ตด้วย พอเห็นภาพว่าตลาดหุ้นผันผวน ก็ไปกลัวว่า เงินต้นจะหาย การกระจายไปลงทุนในหุ้น จะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น

เอาเข้าจริงก็คือ ถึงแม้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำมาก ก็สามารถเพิ่มการลงทุนในหุ้นได้ในสัดส่วน 10-15% ของพอร์ตการลงทุนนะครับ ลองคิดง่ายๆ สมมติเรามีกองทุนตราสารหนี้ หุ้นในพอร์ต คิดว่า ผลตอบแทนต่อปีของตราสารหนี้ จะเท่ากับ 3% และตราสารทุนเท่ากับ 10% แค่เอาหุ้น (Equity) ใส่เข้ามาในพอร์ต 10% โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้นก็มี ทำให้จากเดิมได้ 3% ก็มีโอกาสได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.7% ทันที แน่นอนว่า มันมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นครับ แต่มีหุ้นแค่ในระดับ 10% ของพอร์ต สมมติให้ตลาดหุ้นพังพินาศเลย ขาดทุน 50% ก็เท่ากับมีผลต่อพอร์ตเพียงแต่ -5% จาก Total Return เท่านั้น ใช่ว่าเงินต้นจะหายไปทั้งหมดซักหน่อย ดังนั้น ในมุมมองของผม แม้แต่นักลงทุนเสี่ยงต่ำ ก็ยังจำเป็นต้องมีหุ้นในพอร์ตบางส่วนนะครับ

5. วางพอร์ตดีๆ อีก 10 ปีค่อยมารีวิวก็ได้

ข้อสุดท้าย อันนี้คือปัญหาของนักลงทุนที่อาจเคยทำการประเมินความเสี่ยง และได้สัดส่วนพอร์ตที่มีผู้แนะนำด้านการลงทุนมาแนะนำเราไว้แล้วนะครับ

ที่จะบอกคือ กระบวนการรีวิว และประเมินความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนเป็นช่วงๆ ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องในการจัดพอร์ตการลงทุน สาเหตุเป็นเพราะ ระหว่างทาง การยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุนเองอาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยเกิดจาก เช่น ตอนวางแผน ไม่คิดจะมีลูก แต่พอแต่งงานปั๊บ ภรรยาคลอดลูกแฝด 2 คน ก็ต้องวางแผนค่าใช้จ่ายใหม่ทั้งหมด และอาจกระทบพอร์ตการลงทุนด้วย

หรือ อีกด้านก็คือ บางที ความเสี่ยงตลาด (Market Risk) ก็กลับมา ตลาดหุ้นมีความผันผวน หรือ เป็นช่วงที่ตราสารหนี้วิ่งในทิศทางเดียวกับหุ้น กลายเป็นว่า พอร์ตที่มีการกระจายความเสี่ยง 2 ประเภทสินทรัพย์ไว้ อาจไม่ถือเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะวิ่งในทิศทางเดียวกัน ถ้าเป็นแบบนี้ เราอาจเลือกที่จะโยกเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นชั่วคราว ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ จะเห็นได้ เราก็ต้องรีวิวพอร์ตไม่ห่างเกินไป อย่างน้อยที่สุดก็ต้องปีละครั้งละครับ

นี่คือ 5 เรื่องผิดๆที่คนส่วนใหญ่คิดเกี่ยวกับการจัดพอร์ต หลังจากอ่านบทความนี้ เชื่อว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญกับการจัดพอร์ตมากขึ้น และตั้งใจลงทุนอย่างจริงจังนะครับ

ไม่รู้จัดพอร์ตยังไง ก็ให้เราลองช่วยคุณ ด้วยการสร้างแผนการลงทุนกับเราได้ที่ https://www.finnomena.com/nter-exclusive/

TSF2024