เคยโพสใน Twitter ไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ขอนำกลับมาให้อ่านอีกทีและ Update ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้นนะครับ
วันนี้มาคุยกันเรื่อง basic ดีกว่า พาไปดู Technical Indicator มาหลายตัว กลับมาดู Financial Ratio ง่ายๆกันบ้าง
P/E Ratio เรื่องง่ายๆ มาทวนกันหน่อย ว่าดูยังไง เห็นมีนักลงทุนหน้าใหม่เข้าตลาดเยอะ ^^
ในแง่ของ Fundamental Analysis นั้น มีิวิธีวัด Valuation ของหุ้น 2 อย่าง คือ Discount และ Relative
Discount ก็คือ หามูลค่าหุ้นด้วยการประเมินผลกำไรในอนาคตของบริษัทว่าน่าจะเป็นเท่าไหร่ แล้ว discount กลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน
วิธี discount นี้ ปล่อยให้นักวิเคราะห์ และนักลงทุนเซียนๆเขาใช้ไปครับ เรานั่งรอดูว่าเขาประเมิณออกมาเป็นเท่าไหร่ และเหตุผลดูน่าเชื่อถือไหมก็พอ อีกวิธีหนึ่งคือ “Relative” คือ การดูว่าราคาหุ้น ณ วันนั้น ถูก หรือ แพงกว่า โดยเปรียบเทียบกับ ข้อมูลในอดีต หรือ บริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายกัน
P/E Ratio ถือเป็นอัตราส่วนที่นักลงทุนต้องรู้ก่อนเข้าลงทุนในตลาดเลยก็ว่าได้ หาโดยการเอา
Market Price / Earnings per Share
Market Price = ราคาตลาด ณ วันนั้น
Earnings per Share คือ กำไรสุทธิต่อหุ้น ซึ่งโดยปกติจะใช้ 4 ไตรมาสหลังสุดที่ประกาศมา
หากใช้ EPS 4 ไตรมาสหลังสุดในการคำนวน P/E เราจะเรียกว่า “trailing P/E”
แต่ถ้าใช้ EPS พยากรณ์ไป4 ไตรมาสข้างหน้าในการคำนวน P/E เราจะเรียกว่า “projected or forward P/E”
ยกตัวอย่าง หุ้น PTTGC วันนี้ราคาปิดที่ 76 มี EPS หรือ กำไรต่อหุ้น 4 ไตรมาสล่าสุดอยู่ที่ 5.24 บาทต่อหุ้น :: P/E = 76/5.24 = 14.5 เท่า
ความหมายของ P/E Ratio มองง่ายๆเลยก็คือ จำนวนปีที่นักลงทุนจะคืนทุนหากลงทุน ณ ราคาปัจจุบัน โดนสมมุติว่ากำไรของบริษัทจะคงที่ตลอด
นั้นหมายถึง พี่ PTTGC เนี่ย ถ้ากำไรเท่านี้ไปตลอด ไม่โตขึ้น เท่ากับว่าอีก 14.5 ปี เราถึงจะคืนทุนนั้นเอง
ถ้าผมตั้งสมมติฐานว่า “หุ้นทุกตัวใน SET Index มีกำไรคงที่ตลอด” หากใช้ P/E Ratio ในการพิจารณาเลือกหุ้น ใคร P/E ต่ำ ก็จะน่าลงทุนที่สุด
ที่น่าลงทุนที่สุด ก็เพราะ P/E ต่ำ หมายถึง ระยะเวลาคืนทุน เร็วกว่าหุ้นตัวอื่น โดยเปรียบเทียบ
แต่ในชีวิตจริง มันไม่ง่ายอย่างในตำรา กำไรของบริษัทมันขึ้นลงได้ ดังนั้นหุ้นแต่ละตัวก็มี P/E ที่เหมาะสมไม่เหมือนกัน
สมมติมีหุ้น 4 ตัวที่เราจะเลือก
หุ้น AA มีแนวโน้มกำไรเติบโต
หุ้น BB มีแนวโน้มกำไรลดลง
หุ้น CC มีแนวโน้มกำไรคงที่
หุ้น DD กำไรผันผวนสูงบ้างต่ำบ้าง
ถ้าราคาหุ้นเท่ากัน และกำไรสุทธิในอดีตเท่ากัน ระหว่าง AA,BB,CC เราคงเลือกไม่ยาก หากใช้ P/E Ratio เลือก (เราเลือก AA ถูกไหม)
ปัญหาคือหุ้น DD นี่สิ จะไปรู้ได้ยังไงว่า P/E มันถูก หรือ แพง… ใครรู้บ้างว่าต้องทำยังไงกับหุ้นตัวนี้??
ในตลาดหุ้น มีหุ้นลักษณะเดียวกับหุ้น DD อยู่พอสมควร วิธีการคือ หากเจอหุ้นเหล่านี้ แนะนำหลีกเลี่ยง อย่าใช้ P/E Ratio ตัดสินใจ หรือจนกว่าจะแน่ใจว่า ทิศทางแนวโน้มกำไรในอนาคตมีความชัดเจน หรือพอประมาณการณ์ได้ ก็ค่อยมาใช้ P/E Ratio ประกอบการตัดสินใจ
โดยปกติ เราจะใช้ P/E Ratio เปรียบเทียบหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือทำธุรกิจคล้ายกัน ว่าถูกหรือแพงกว่ากันโดยเปรียบเทียบ
ยกตัวอย่างหุ้นในกลุ่มสื่อสาร DTAC, ADVANC และ TRUE 3 ตัวนี้อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ดู P/E Ratio เปรียบเทียบกันได้
DTAC 18.15x, ADVANC 19.86x, TRUE ไม่มีค่า P/E
สำหรับ DTAC และ ADVANC นั้นมีกำไรโตขึ้นต่อเนื่องทุกปี ดังนั้น ณ ราคาปัจจุบัน มองผ่าน P/E Ratio แล้ว DTAC ถือว่าถูกกว่า
แต่สำหรับ TRUE นั้น กำไรผีเข้าผีออก ผันผวนสูง แถมปี 54 และ 55 3 ไตรมาสล่าสุด ก็ขาดทุนอีก จึงไม่สามารถหาค่า P/E ได้ (ตามสูตรคณิตศาสตร์ ตัวหาร ติดลบไม่ได้นะครับ)
ปล. นี่เป็นแค่มุมมองราคาหุ้นผ่าน P/E Ratio เท่านั้นนะครับ ไม่ได้แปลว่า DTAC น่าซื้อกว่าหุ้นอีกสองตัว
นักลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูล P/E Ratio ของหุ้นทุกตัวในตลาดได้ใน http://www.settrade.com เลือกหุ้น และเลือกอันดับในอุตสาหกรรม เพื่อประกอบการตัดสินใจ
มีคนกระซิบถามว่า P/E Ratio เอาไว้ดูตลาดได้ไหม คำตอบคือ ได้ครับ วิธี ก็คือ เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน ว่าเราแพงหรือถูกกว่า
แต่ส่วนตัวแล้ว สำหรับผม ชอบดู Historical P/E มากกว่าที่จะเอา SET Index เราไปเปรียบเทียบกับตลาดอื่น (เพราะปู่ set มีความเป็นตัวของตัวเองสูง)
ลองดูกราฟ P/E SET Index ย้อนหลังไกลๆ เทียบกับดัชนีราคาหุ้นนะครับ
ขอบคุณกราฟจาก Barton’s Global Market Trends
จะเห็นว่า Barton เขาแบ่ง P/E ออกเป็น 4 โซน คือ
โซน P/E ถูก ซึ่งเกิดจากภาวะตลาดขาลงแรงๆ ที่ P/E ต่ำกว่า 6 เท่า
โซน P/E ปกติ อยู่ในกรอบกว้างหน่อย คือ 6 ถึง 16 เท่า
โซน P/E แพง เกิดจากภาวะตลาดกระทิง นักลงทุนแห่เข้ามาลงทุน กรอบอยู่ที่ 16-25 เท่า (เราอยู่ในโซนนี้ครับ)
โซน P/E แพงโคตร โซนนี้ เกือบ 40 ปีที่ผ่านมา หุ้นไทย ไปแตะแค่ 3 ครั้งเท่านั้น
กลับมาการดู P/E ย้อนหลัง 4 ไตรมาส จริงๆแล้ว ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าหุ้น หรือดัชนีนั้นถูกหรือแพงแบบเต็มปาก 100%
นักวิเคราะห์จึงพยายามคาดการณ์อนาคตของบริษัทโดยประเมินว่า 4 ไตรมาสต่อไป กำไรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งโดยปกติ บริษัทที่มี EPS Growth โตต่อเนื่อง จะมีค่า Forward P/E ต่ำ Historical P/E อยู่แล้ว (หรือ แปลว่า ค่า E ในอนาคต สูงกว่าในอดีตนั้นเอง)
ส่วนความถูกต้องแม่นยำของการวิเคระาห์กำไรนั้น นั้นก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องพิจารณากันเอาเอง ยังไงๆก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปาก 100% ว่า Forward P/E ถูก แล้วหุ้นน่าเก็บอยู่ดีนะครับ
เอาเป็นว่า นี่เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการวิเคราะห์ตลาดหุ้น และตัวหุ้นอย่างง่ายๆ และหาข้อมูลได้ง่าย ก็แล้วกัน 🙂