บอกเจตนาก่อนนะครับ ว่าไม่ได้จะมาซ้ำเติม หรือ วิจารณ์ว่าเป็นการลงทุนที่ผิดพลาดแต่อย่างใด แต่สาเหตุเนื่องจาก ทาง FINNOMENA ได้จัด Campaign แก้พอร์ต (FINNOMENA Fix My Port) ให้กับนักลงทุนที่สนใจรับคำแนะนำการจัดพอร์ตอย่างถูกวิธี โดยการให้ส่งพอร์ตจริง เงินจริงของท่านเข้ามาให้เราทำการประเมิน
หลังจากที่มีผู้สนใจมากกว่า 200 คนลงทะเบียนและส่งพอร์ตกันเข้ามา ผมเข้าไปดูแล้วพบว่า เกือบๆครึ่งหนึ่งของนักลงทุน ติดดอยกองทุนอยู่ 2 ประเภท นั้นก็คือ กองทุนน้ำมัน และ กองทุนทองคำ นะครับ
เลยอยากจะขอแนะนำในภาพรวม เพราะเชื่อว่า มีหลายคน ตั้งคำถามกับพอร์ตตัวเองอยู่เหมือนกันว่า มี 2 กองนี้ อยู่ในพอร์ต ทำอย่างไรดี?
เราไปดูกราฟราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ 2 ประเภท กันหน่อยว่า เคลื่อนไหวอย่างไรในอดีตที่ผ่านมา
ทองคำ ราคาไปทำจุดสูงสุดเมื่อกลางปี 2011 ด้วยธีม และความคาดหวังที่ว่า การปั๊มเงินด้วยมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำให้ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่าลงเรื่อยๆ และสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงกรณี USD อ่อนค่า ได้ดีที่สุด ก็คือ “ทองคำ” … แต่จนถึงวันนี้ ทุกคนก็รู้แล้วว่า เราคิดผิด
น้ำมัน ราคาทำจุดสูงสุดในไตรมาส 3 ปี 2008 และแตกพร้อมๆ กับฟองสบู่อสังหาฯ ในวิกฤตซับไพรม์ที่สหรัฐฯ หลังจากนั้นราคาก็เป็น Sideway Up จนถึงปี 2014 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ความหวังว่า ราคาน้ำมัน จะขึ้นไปที่ระดับสูงกว่า $100 ก็ต้องพังทลายลง จากการมาของ Shale Oil & Shale Gas
สำหรับนักลงทุนสายกราฟ แค่ดูด้วยสายตา ก็รู้ว่า สินทรัพย์ทั้งสองประเภทนี้ ไม่ได้อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นอย่างแน่นอนนะครับ ดังนั้น ใครที่บอกกับตัวเองไว้ว่า ต้องการจะถือยาวๆ หวังว่า เดี๋ยวมันก็ขึ้นมาให้ขายเอง … คำแนะนำของผมคือ คุณอาจกำลังหลอกตัวเอง และหากจะต้องรอจริงๆ อาจต้องรอนานกว่าที่คิดด้วยครับ ดังนั้น อ่านข้อมูลต่อไปนี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
แนวโน้มของราคาทอง
ปัจจัยกดดันราคาทองในระยะสั้น มีอยู่ 2 เหตุการณ์หลักๆ ก็คือ
- แนวโน้มเงินเฟ้อ ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะขยับขึ้นมาเร็วในปีนี้ ปรากฏว่า ยังไม่มา ขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป รวมถึงล่าสุด นักลงทุนคาดว่า เฟดอาจจะไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีกรในปีนี้ มันบอกกลายๆว่า ธีมการลงทุนของทองคำ เรื่อง “Hedge Against Inflation” หรือ ป้องกันความเสี่ยงกรณีเกิดเงินเฟ้อ น่าจะยังไม่ใช่ในเร็ววันครับ
- แนวโน้มค่าเงินดอลล่าร์ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เตรียมตัวขยับขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ ทำให้มุมมองของเรา ก็เชื่อว่า ค่าเงิน USD น่าจะค่อยๆขยับแข็งค่าขึ้น แต่สิ่งที่เราเห็นตั้งแต่ต้นปี 2017 ก็คือ Dollar Index อยู่ในทิศทางอ่อนค่ามาตลอด จากเหตุผลหลักๆคือ ตลาดเริ่มไม่คาดหวังกับนโยบายของนายทรัมป์ และเฟด เองก็ไม่ได้คิดจะรีบขึ้นดอกเบี้ยในเร็ววัน ผลจากการที่ USD อ่อนค่า ควรจะทำให้ราคาทองเป็นบวกในช่วงตั้งแต่ต้นปี ซึ่งก็จริงแค่ 5 เดือนแรกเท่านั้น แต่หลังจากกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาที่ Dollar Index ร่วงลงต่ำกว่า 97 จุด เรากลับพบ่วา ราคาทองปรับตัวลงต่อเนื่อง จากจุดสูงสุดของปีนี้ที่ $1,294 มาอยู่ที่ $1,222 ในปัจจุบัน
ถ้ามองภาพกว้างกว่านั้น จริงๆ เราก็ทราบข่าวว่า Hedge Fund เจ้าใหญ่ๆ อย่าง George Soros และ John Paulson ก็ลด Position ในการลงทุนทองคำลงตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ขณะที่ รายงานการซื้อสะสมทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกจาก World Gold Council ก็พบว่า โดยภาพรวมซื้อสะสมในปริมาณที่ลดลง
ถ้าใครสังเกตมากกว่านั้นก็จะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมืองในเนเธอแลนด์ การเลือกตั้งฝรั่งเศส และอังกฤษ ซึ่งดูมีความเสี่ยงสูง รวมถึง กรณีชาติตะวันตกคว่ำบาตรกาตาร์ และการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ เหล่านี้คือ ความเสี่ยงที่เคยทำให้การถือทองคำ เป็นเหตุที่ดี แต่ ปีนี้ เราก็เห็นกันแล้วว่า ราคาทองเองก็ไม่ได้ขยับไปไหน
แนวโน้มของราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันถูกเทขายลงมาที่ ราวๆ 42-43 ดอลลาร์ กลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นหลักๆ มาจากตลาดเริ่มไม่เชื่อมั่นว่า ข้อตกลงตรึงกำลังการผลิตระหว่าง OPEC และ non-OPEC จะทำได้จริงและตรึงกำลังการผลิตได้จริง ถึงแม้จะมีการขยายระยะเวลาตรึงกำลังการผลิตออกไปถึงปีหน้าก็ตาม
ไปดูเหตุผลที่ตลาดไม่เชื่อ หนึ่งในนั้นก็เพราะ กำลังการผลิตนอกกลุ่ม OPEC ก็ยังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐ จากตัวเลขแท่นขุดเจาะรายสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แทบทุกสัปดาห์ตั้งแต่ย่างเข้าไป 2017 เป็นต้นมา รวมถึงการเดินกำลังการผลิต Shale Oil และ Shale Gas ที่สะท้อนว่า ต้นทุนการผลิตของเทคโนโลยีนี้ เข้ามาใกล้จุดที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตน้ำดิบได้แล้ว
ถ้ามองภาพใหญ่กว่านั้น ราคาน้ำมันก็โดนกดดันอยู่มาอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด หรือ Clean Energy โดยเทคโนโลยีที่จะมาเป็นคู่แข่งพลังงานน้ำมันจริงๆ ก็คือ Power Storage หรือ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า นั้นเอง เพราะตัวเก็บประจุไฟฟ้า หรือ Power Storage จะทำให้การใช้พลังงานสะอาดมีเสถียรภาพมากขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ไม่มีตัวเก็บประจุ ก็แปลว่า เราจะใช้ไฟฟ้าได้แค่ตอนช่วงกลางวันเท่านั้น ดังนั้น เทคโนโลยี Power Storage จึงถือว่ามีความสำคัญ และเป็นจุดเปลี่ยนอีกหนึ่งอย่างที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานสะอาดต่ำลงไปอีก และเข้าถึงคนจำนวนมากขึ้นกว่าปัจจุบันไปอีก
ดังนั้น มุมมองของผม จึงมองว่า ราคาน้ำมัน ถูกกดดันทั้งปัจจัยลบระยะสั้น (สหรัฐฯผลิตแข่ง และต้นทุนสู้ได้) และระยะยาว (การเข้ามาของพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด)
กลับไปดูที่ ราคากองทุนทองคำ เทียบกับทองคำ และ กองทุนน้ำมัน เทีนบกับราคาน้ำมันดิบ นะครับ
กองทุนทองคำ VS ราคาทอง
ขอยกตัวอย่าง กองทุน TMBGOLD ซึ่งไปลงทุนใน SPDR Gold Trust ในสกุลดอลล่าร์แบบไม่ป้องกันความเสี่ยง และ TMBGOLDS ซึ่งไปลงทุนในสิงคโปร์ และ Fully Hedge ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน 100% ย้อนหลังดูการเคลื่อนไหว 2 ปี เปรียบเทียบกับทองคำ (Spot Gold : RTXGL)
จะเห็นว่า ช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า เมื่อเทียบกับ ดอลล่าร์สหรัฐฯ และช่วงที่ราคาทองอยู่ในขาขึ้น อย่างช่วง ธ.ค. 2015 – มิ.ย. 2016 กองทุน TMBGOLD ซึ่งไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ได้ประโยชน์ทั้งสองอย่าง (ราคาทองบวก และเงินบาทอ่อนค่า) ทำให้ Performance ชนะ Spot Gold
แต่พอเข้าปี 2017 ที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง TMBGOLD ก็แพ้ Spot Gold ทันที
สรุปจากกรณีตัวอย่างข้างบน คือ ถ้าคุณติดดอยกองทุนทองคำ และเป็นกองทุนที่ไม่ทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน แปลว่า เงินคุณจะเสี่ยงขึ้นไปอีกนะครับ ถ้าไม่มีความรู้หรืออาจทิศทางค่าเงินไม่ออกจริงๆ ก็ย้ายมาลงทุนในกองทุนทองคำที่ทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินแบบ 100% จะดีกว่า
แต่เหนือไปกว่าการเลือกว่าจะลงทุนแบบป้องกันหรือไม่ป้องกันค่าเงิน นั้นก็คือ แนวโน้มทิศทางราคาทองในระยะยาว ก็อาจมี Upside จำกัด ใครถืออยู่หนักๆ แบบ 40-50% ของพอร์ต หรือ เอาที่ผมเห็นจริงๆ คือ บางคนถือแต่กองทุนทองคำ ไม่ลงทุนอย่างอื่นเลย … แนะนำว่า คุณจำเป็นต้องลดสัดส่วนครับ นักลงทุนอย่างเราๆ ควรมีทองคำในการลงทุนของพอร์ตไม่เกิน 10% เท่านั้นก็พอครับ
กองทุนน้ำมัน VS ราคาน้ำมัน
ขอยกตัวอย่าง K-Oil กับ KF-OIL (จริงๆมีกองทุนน้ำมันอีกเยอะทีเดียวครับในตลาด มีกันครบทุก บลจ.) โดยกองทุนน้ำมันแทบทุกกองนะครับ จะไปลงทุนใน Master Fund ที่ไปลงทุนใน Oil Futures หรือ สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า
แสดงว่า กองทุนน้ำมัน ไม่ได้เอาเงินเราไปซื้อน้ำมันจริงนะครับ แต่ไปกองทุนที่ต่างประเทศ ซึ่งมีนโยบายว่า พยายาม Track ตามดัชนีที่อ้างอิงในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าราคาน้ำมันอีกที
ลองดูผลการดำเนินงานย้อนหลัง 2 ปี เปรียบเทียบกับราคาน้ำมันดิบ Crud Oil นะครับ
มาถึงประเด็นสำคัญ ทำไมราคากองทุนน้ำมัน มันถึงแพ้ราคาน้ำมันดิบได้มากขนาดนี้?
สาเหตุก็คือ Master Fund ของเหล่ากองทุนน้ำมันในไทย ก็คือ Powershare DB Oil Fund (DBO) ไม่ได้ลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์ที่เป็นเดือนถัดไป ที่ประกาศในหน้าเว็ป หรือที่เราติดตามดูกันตลอดเวลานะครับ แต่เจ้า DBO จะเลือกช่วงอายุสัญญาที่เหมาะสมในการลงทุน อาจจะเลือกเปิด position ใน contact ตัวไกล 12 เดือน หรือ 6 เดือน ก็ได้ และเจ้าราคาสัญญาตัวไกลๆนี้ ปกติ เราก็ไม่ได้ตามดูราคาของมัน เพราะไม่ได้มีประกาศตามสื่อต่างๆ
พอเป็นอย่างนี้แล้ว ตามทฤษฎีคือ ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของเดือนที่ส่งมอบไกลออกไป จะมีราคามากกว่า ราคา ณ ปัจจุบัน (Spot Rate) หรือสัญญาที่มีอายุส่งมอบใกล้กว่าเสมอ
แต่ถ้าดูการเคลื่อนไหวของสัญญาล่วงหน้าที่อยู่ในเดือนที่ใกล้กว่า จะเห็นความเคลื่อนไหวผันผวนมากกว่าสัญญาที่อยู่ไกลออกไป ทั้งนี้เป็นเพราะราคาของเดือนปัจจุบันจะสะท้อนกับข้อมูลและข่าวสารที่มีผลกับราคาน้ำมันระยะสั้น เช่นตัวเลขเศรษฐกิจ สต็อกน้ำมันคงเหลือที่ประกาศทุกๆสัปดาห์ ความเสี่ยงการเมือง เป็นต้น
การเคลื่อนไหวของราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบในแต่ละช่วง (ระหว่างสัญญาตัวใกล้ กับ สัญญาตัวไกล) จะมีการเคลื่อนไหวที่ไม่เท่ากันซะทีเดียว และเป็นไปได้ครับที่ในบางครั้ง อาจจะมีทิศทางที่แตกต่างกันไป จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบ และการเคลื่อนไหวของกองทุน DBO จึงไม่เท่ากัน
สรุปคือ กองทุน Master Fund ที่ชื่อ DBO กองนี้ ไม่ได้สะท้อนราคาน้ำมันดิบที่ประกาศอยู่ข้างหน้าเว็ป หรือหน้าข่าวที่เราตามอ่านๆกันอยู่ทุกวันนั้นเอง และในระยะยาว มีแนวโน้ม Underperform จากทั้งเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการซื้อสัญญาล่วงหน้า ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (กรณีเทรดบ่อย) ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องระวังให้ดีครับ
และ คำแนะนำของผมคือ ถ้าสนใจลงทุนในอะไรที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันจริงๆ ไปเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน หรือกองทุนที่มีหุ้นกลุ่มพลังงานอยู่ในพอร์ต น่าจะเป็นการลงทุนที่ดีกว่า ทั้งในแง่ของความเข้าใจต่อการลงทุน ที่ง่ายกว่า และในระยะยาว หุ้นยังวิ่งตามผลประกอบการของธุรกิจอีกด้วยครับ
คำถามสำคัญอีกหนึ่งคำถามคือ ถ้าต้องตัดใจขาย ต้องขายตอนไหน?
คำตอบที่พอจะให้ได้ก็คือ แล้วแต่คุณเลยครับ … ผมคงไม่อาจบอกได้ว่า ระยะสั้น ราคาน้ำมัน ราคาทอง จะเป็นอย่างไร ขายตรงไหนเหมาะที่สุด รู้แต่ว่า ต้นทุนของการถือสินทรัพย์ที่ไม่ดีต่อไปในระยะยาว มันทำลายทั้งพอร์ตใหญ่ และทำลายทั้งจิตใจของเราเอง
ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องมานั่งกางพอร์ต และจัดพอร์ตการลงทุนให้ถูกวิธี โดยคำนึงถึงความเสี่ยงการลงทุนเป็นสำคัญ … ไม่ใช่หวังแค่ผลตอบแทน
พิเศษ!! เข้าร่วมกิจกรรม FINNOMENA FIX MY PORT กับเราง่ายๆ เพียง ถ่ายรูปพอร์ทของท่าน แล้วส่งมาที่
https://www.finnomena.com/fixmyport ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย