New-Normal

คำว่า New Normal นั้นถูกเผยแพร่ออกมาครั้งแรกในสมัยที่ Bill Gross อดีต Co-CEO ของ PIMCO เขียนใน Monthly Outlook เมื่อปี 2009 โดยเล่าว่า หลังจากวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 ในตอนนั้น เขาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ยุคใหม่ ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

จนถึงวันนี้ สิ่งที่ Bill Gross พูดไว้ ดูจะเป็นความจริงอยู่ในหลายส่วน ผมเลยอาสาพามาทบทวนคำว่า New Normal นั้น มันหมายความว่าอะไรบ้างนะครับ

New Normal หรือ บรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจโลก นั้น จริงๆ เป็นคำเปรียบเปรยถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตซับไพรม์ครับ

เศรษฐกิจโลก เปลี่ยนไปอย่างไร?

เปลี่ยนทางปัจจัยการผลิต – ปัจจัยการผลิตมีอยู่ 3 อย่างก็คือ แรงงาน , ทุน และเทคโนโลยี ครับ ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

แรงงาน : อัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง และอายุขัยของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป นั้นก็คือ ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากยุค Baby Boomer แต่ประชากรวัยทำงาน เข้าสู่ตลาดแรงงานในอัตราที่น้อยลง สิ่งนี้ทำให้ตลาดแรงงานขาดแคลนครับ และรัฐฯมีต้นทุนแบกรับค่าใช้จ่ายสวัสดิการชราภาพมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศเจอปัญหานี้ไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น หรือในยุโรปอย่าง กรีซ ที่เกิดปัญหาการประท้วงไปแล้วอย่างที่เราเห็น และเราคงเห็นอีกหลายๆประเทศตามมา

ทุน : การสะสมทุนที่สูงขึ้น = การลงทุนที่ลดลง สาเหตุก็เพราะ พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ กลายเป็นว่า นักลงทุนไม่กล้าลงทุนใน Real Sector และด้วยนโยบาย QE ของประเทศต่างๆ ผู้มีทุนทั้งหลาย จึงเลือกที่จะเอาทุนตัวเองไปลงทุนในตลาดทุน ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจได้เร็วและยั่งยืนเท่ากับการลงทุนโดยตรง แต่ก็ช่วยไม่ได้ครับ เพราะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง และยังมีความไม่แน่นอนที่สูง มันเลยทำให้ผู้มีทุนทั้งหลาย ยังไม่กล้าตัดสินใจลงทุนจริงๆจังๆ และสาเหตุอีกอย่างก็คือ ปัจจัยที่ 3 ที่จะบอกครับ

เทคโนโลยี : จะพบว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราเห็นนวัตกรรมใหม่ๆออกมาในอัตราที่ลดลง อาจจะเป็นเพราะ เหล่าผู้มีทุน ก็ไม่อยากลงทุนใน R&D หรือ อาจเป็นเพราะ มันยังไม่มีนวัตกรรม ที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐกิจโลกอย่างก้าวกระโดดเหมือนในอดีต หรืออาจจะเพราะทั้งสององค์ประกอบ แต่มันทำให้เห็นว่า การทำ C&D (Copy & Develope) นั้น มันไม่สร้าง Value Added ให้เศรษฐกิจแบบยั่งยืน 

เปลี่ยนทางโครงสร้างการค้าของโลก – สาเหตุเป็นเพราะ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เมื่อเทียบกับยุคก่อนเกิดวิกฤตที่เศรษฐกิจขยายตัวจากการเปิดประเทศของจีน ทำให้ระบบการค้าของโลกสามารถโตขึ้นได้อย่างมาก เพราะขนาดตลาดของจีนนั้นใหญ่เพียงพอต่อกำลังการผลิตของโลกที่มีอยู่ … แต่พอเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ไม่ได้โตในระดับ 10% ต่อปีเหมือนเดิม และจีนเปลี่ยน Direction การบริหารประเทศ จากที่ต้องการโตจากการส่งออก เป็นการโตจากการบริโภคภายในประเทศ ก็ทำให้การค้าของโลกชะลอตัวลงทั้งหมด ใครที่ยังคิดจะพึ่งการส่งออก มีแต่ตายกับตายครับ ลองดูประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ ณ วันนี้สิครับ แทบลากเลือดกันหมด

เปลี่ยนทางโครงสร้างทางการเงิน – ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการรวมตัวกันทางการเงินระหว่างประเทศเกิดขึ้นมากมาย ที่ใหญ่ๆก็มี ธนาคาร ADB , AIIB และ TPP ที่เพิ่มมีสดๆร้อนๆ การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศพวกนี้ เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงทุน เพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงินก็จริง แต่ในยามที่เงินล้นโลกเช่นนี้ การเปิดเสรีให้เงินโยกไปโยกมาง่ายๆ ก็ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินมากตามไปด้วย

แล้ว New Normal ของเศรษฐกิจโลก คืออะไร?

1. อัตราเงินเฟ้อของโลกจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีกยาวนาน จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง รวมถึง การที่เศรษฐกิจโลกโตในอัตราที่ต่ำกว่าเดิม และมีความเสี่ยงที่จะถดถอยได้ ทำให้นโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ยังคงเป็นแบบผ่อนคลาย (กดดอกเบี้ยให้ต่ำ) และน่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกสักพักถึงแม้เฟดจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่ก็เชื่อว่า ประเทศอื่นๆบนโลก ไม่น่าจะมีประเทศใดขึ้นดอกเบี้ยตามเฟดได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

2. การค้าระหว่างประเทศจะลดลงเรื่อยๆ ฟื้นตัวได้ยาก เพราะทุกประเทศบนโลก เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ (Policy Shift) จากส่งออก เป็นโตในประเทศ ดังนั้น เราจะเห็นการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและพัฒนาด้านเทคโนโลยี ที่จะเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในระยะยาว ในระยะสั้น 1-2 ปี เราคงยังไม่เห็นผลลัพธ์ชัดเจน หากใครบนโลกพัฒนานวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนได้ก่อน ก็หมายถึงความได้เปรียบในระยะยาว และอาจทำให้เกิด Growth Divergence บนโลก หรือ บางที่บนโลก เศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่บางแห่งอาจโตไม่ได้ เพราะขาดนวัตกรรม

3. ระบบการเงินโลกที่เชื่อมกัน จะทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไวขึ้น สิ่งที่เราเห็นอย่าง Black Monday หรือ การปรับฐานหนักในตลาดหุ้นจีน จะเกิดบ่อยขึ้นกว่าในอดีต ประเทศใดที่สุขภาพการคลังไม่ดี หรือระบบการเงินไม่พร้อมรับกระแสเงินทุน ก็จะตกเป็นเหยื่อได้ง่ายขึ้นไปอีก

4. ทั้งหมดทั้งมวล เราจะเห็นเศรษฐกิจโลกโตในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปี (เว้นแต่เกิดวิกฤตขึ้นอีกซักรอบก่อน ถ้าเกิดแบบนั้น คงมีติดลบให้เห็นอีกรอบ)

 

 


 

ทั้งหมดนี่คือภาพใหญ่ๆที่เราจะเห็นบนระบบเศรษฐกิจของโลกนะครับ จะได้รู้ไว้ว่า ใครมาวาดฝันลมๆแล้งๆให้คุณดีใจ ใครวาดภาพจริงให้คุณเห็น

แต่ทั้งนี้ ผมไม่ได้เหมาว่า สภาพ New Normal แบบนีั ไม่มีอะไรให้ลงทุนได้นะครับ เพราะถ้าเป็นอย่างงั้นจริง ตลาดหุ้นโลกคงไม่วิ่งมา 5-6 ปีหลังวิกฤต 2008 อย่างที่เราเห็นกันวันนี้ เพียงแค่ให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า นี่คือธีมใหญ่ที่ครอบภาวะการลงทุน ณ ตอนนี้อยู่ เมื่อเรารู้ เราจะได้ไม่ตั้งความหวังกับมันเกินจริง และค้นหาสิ่งที่เราคิดว่าควรค่าแก่การลงทุนได้อย่างถูกที่ถูกทางมากขึ้น

Mr.Messenger