เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ดัชนี NASDAQ ปรับฐานร่วมๆ -2% ถ้าย้อนกลับไป เราจะเห็นแรงเทขายที่ทำให้ดัชนี NASDAQ ปรับฐานแรงๆแบบนี้ บ่อยขึ้นเรื่อยๆ โดยก่อนหน้าครั้งนี้ คือ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา วันนั้น NASDAQ ปรับฐานลงไปถึง -2.5% ทีเดียว จนถึงเมื่อคืนวันพฤหัส (15 มิ.ย. 2017) ที่ผ่านมา ดัชนี NASDAQ ก็ยังป้วนเปี้ยนอยู่บริเวณ 6,100 – 6,200 จุด
แรงเทขายหลักๆมาจาก Tech Giant ขนาดใหญ่อย่าง Apple, Facebook, Alphabet, Microsoft และ Amazon ซึ่งถือเป็นกลุ่มหุ้นที่เพิ่งทำ All Time High ไปในสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งนั้น นักวิเคราะห์บางส่วนก็มองว่า มันเป็นเหตุการณ์ปกติ ที่พอดัชนีแตะระดับจุดสูงสุด ก็ย่อมมีคนต้องการขายทำกำไรออกมา (Profit Taking) ท่ามกลางเสียงจากนักวิเคราะห์หลายแห่งที่บอกว่า มูลค่าหุ้นของกลุ่มเทคโนโลยีนี้แพงเกินไปแล้ว แต่จนแล้วจนรอดบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ก็ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์ นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ที่ชื่อ Robert Boroujerdi ได้ออก Paper ให้ความเห็นเกี่ยวกับหุ้นกลุ่มนี้ว่า การคาดการณ์กำไรที่จะโตอย่างต่อเนื่อง + การคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อคงยังไม่เร่งตัวขึ้น (The death of the reflation) ทำให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นเทคโนโลยีมากเกินไป และทำให้นักลงทุนไม่คิดถึงความเสี่ยงที่แท้จริงของหุ้นกลุ่มนี้
จริงๆแล้ว การเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในปีนี้ร้อนแรงมาระยะหนึ่งแล้ว ตัวอย่างที่เห็นชัดอันหนึ่งก็คือ ราคาหุ้น Nvidia ผู้ผลิตการ์ดจอคอมพิวเตอร์ระดับโลกที่กระโดดเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยี AI ราคาพุ่งขึ้นจาก $100 ในเดือน เม.ย. ขึ้นมาทำจุดสุงสุดที่ $159.94 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือ บวกไปร่วมๆ 60% ภายในระยะเวลา 2 เดือน หลังรายงานยอดขายไตรมาสล่าสุดโตถึง 48.4%
สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มไม่ไว้วางใจหุ้นกลุ่ม Tech โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวานนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา Tech ETF มีแรงเทขายออกมาอยู่ Sector เดียวในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ไปดูการสำรวจความเห็น หรือมุมมองของ Fund Manager ทั่วโลก ที่รวบรวมโดย BofA Merrill Lynch ล่าสุด โดยคำถามคือ “การลงทุนหรือเทรดไหน ที่คุณคิดว่า มันเป็นเทรดที่ร้อนแรงที่สุด (the most crowded trade)” คำตอบก็คือ Long NASDAQ หรือ การเข้าลงทุนในหุ้น NASDAQ นั้นเอง โดยเดือน มิ.ย. นี้ เป็นเดือนที่ 2 ที่ผลสำรวจ บอกว่า Long Nasdaq เป็นเทรดร้อนแรงที่สุดในมุมมองของ Fund Manager ทั่วโลก
แล้วยังไง มันตีความได้ว่ายังไง?
BofA Merrill Lynch ให้ข้อมูลมาเพิ่มว่า นับตั้งแต่เดือน พ.ค. ปี 2015 จนถึงปัจจุบัน เทรดที่ร้อนแรงที่สุดในความเห็นของ Fund Manager คือเทรดอะไร ในแต่ละเดือน ก็ได้ตามตารางด้านล่างครับ
ผมลองไฮไลท์เฉพาะช่วงที่ เทรดร้อนแรงคือ “Long US Dollar” หรือ แห่ไปเก็งกำไรในค่าเงิน USD มากๆ (หวังว่ามันจะขึ้นต่อ) ออกมาดู ก็พบว่า ช่วงที่เทรดนี้กลายเป็น most crowded trade ไปแล้ว นั้นถือเป็นช่วงที่ค่อนข้างอันตรายทีเดียว กล่าวคือ ค่าเงิน USD ไม่ได้แข็งค่ามากขึ้นอย่างที่ทุกคนคาดหวังนั้นเอง
เพราะฉะนั้น ในแง่ของการเป็นเทรดที่ร้อนแรง ผมมองว่า นักลงทุนต้องระมัดระวังการปรับฐานว่า ยังมีโอกาสอยู่ตลอดทาง แต่ถ้าถามว่า ถึงขั้นเป็นจุดเริ่มต้นของขาลงครั้งใหม่ของ Tech Stocks ไหม ต้องขอตอบว่า ไม่คิดอย่างงั้นครับ ด้วยเหตุผลคือ
- ถ้ามองที่ P/E Ratio – ปี 2000 ที่ฟองสบู่ dotcom แตก ตอนนั้น P/E ของ NASDAQ อยู่ที่ 107x เปรียบเทียบกับที่ระดับ 27x ณ ปัจจุบัน ก็ถือว่ายังห่างไกลจากฟองสบู่ครับ
- ถ้ามองที่ P/BV Ratio – อย่างที่เรารู้ว่าหุ้นเทคนั้นมีสินทรัพย์ค่อนข้างน้อย P/BV ในช่วงก่อนฟองสบู่ 2000 สูงถึง 7 เท่า แต่ปัจจุบันอยู่ที่แถวๆ 4 เท่า แน่นอนมันดูแพงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น แต่เทียบกับอดีตแล้ว ก็นับว่ายังห่างไกล
- การเคลื่อนไหวของดัชนี – ก่อนฟองสบู่ 2000 จะแตก NASDAQ วิ่ง 189% ในระยะเวลาเพียง 2 ปี ขณะที่ จนถึงวันนี้นับถอยหลังไป 2 ปี NASDAQ วิ่งมา 22% เท่านั้นเอง ต่างกันเยอะเลยครับ
สำหรับใครที่สนใจลงทุนในหุ้นกลุ่ม Tech จากทั่วโลก (แต่หลักๆ มันก็อยู่ที่สหรัฐฯนั้นละครับอย่างที่เรารู้กัน) กองทุนรวมที่น่าสนใจในไทยที่สามารถเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่อยากเกาะไปกับ Mega Trend นี้ มี 3 กองทุนครับ
ONE-UGG กองทุนหลักคือ Baillie Gifford Long Term Global Growth Fund
B-INNOTECH กองทุนหลักคือ Fidelity Funds – Global Technology Fund
KF-GTECH กองทุนหลักคือ T. Rowe Price Funds SICAV – Global Technology Equity Fund
ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ของกองทุนหลัก ก็ตามรูปด้านล่างเลย
ระยะยาว เชื่อว่ายังน่าสนใจ ระยะสั้น ระยะกลาง ความผันผวนน่าจะสูงเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้งนะครับ
แหล่งข้อมูล :-
Bloomberg
BofA Merrill Lynch Global Investment Research
BISNEWS
คำเตือน
• การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลการดำเนินในอนาคต
• การนำเสนอข้อมูลข้างต้น มิใช่การให้คำแนะนำการลงทุน
• การลงทุนใดๆ ต้องเกิดจากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจลงทุน บนความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนเอง
• ทางผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิ์ ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียในทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ข้อมูลข้างต้น
พิเศษ!! สนใจลงทุนในกองทุนรวมที่เน้นลงทุนใน เทคโนโลยี ผ่าน NTER SPACE คลิ๊ก