เชื่อว่าถึงตอนนี้ ยังมีคนที่ไม่ได้ซื้อ LTF ซักบาทอยู่หลายคนด้วยกัน เหตุผลหลักๆก็น่าจะเป็นเพราะ เห็นภาพรวมเศรษฐกิจที่ดูไม่ค่อยจะดี ปัจจัยภายนอกประเทศก็ไม่ชวนให้รีบลงทุน ดังนั้น ก็ยิ่งมารอซื้อตอนสิ้นปีมันดีกว่า
แต่ที่น่าสงสัยกว่า ก็คือ แล้วจะเลือก LTF กองไหน มีหลักการยังไง วันนี้ผมเลยอาสา รวบรวมความเห็นของกูรู FINNOMENA บางส่วนมาให้รู้กันว่า เขาเหล่านั้น มีมุมมองอย่างไร
กูรูท่านแรกนี้ ที่ผ่านการทำงานในสาย บลจ. ใกล้ชิดการลงทุนในกองทุนรวมมาโดยตรงอย่างคุณเอ A-Academy นะครับ
คุณเอ ออกตัวก่อนเลยนะครับว่า “ขออนุญาตไม่ออกความเห็นว่าเลือกกองไหน” เพราะไม่เห็นด้วย กับการที่เราจะอาศัยความเห็นคนอื่นในการเลือกกองทุน นักลงทุนควรจะมีความสามารถในการเลือกกองได้เอง และรับผิดชอบกับผลลัพธ์ของการตัดสินใจของตนเองด้วย เรามัวแต่ถามคนอื่นว่า “ซื้อกองทุนอะไรดี/ซื้อหุ้นอะไรดี ?” มากเกินไปแล้ว และถ้าเรายังถามแบบนี้อยู่ เราจะเป็นนักลงทุนที่ดีไม่ได้
ส่วน “วิธีการเลือกกองทุน” นั้น ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายแค่ Rank กองทุนที่ในอดีตมีผลตอบแทนที่สูงที่สุด แล้วซื้อกองนั้น ควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น นโยบายการลงทุน นโยบายการจ่ายเงินปันผล ความสม่ำเสมอของผลตอบแทน ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม ฯลฯ ร่วมด้วย
หากไม่รบวมกวนเกินไป ผมอยากให้ลองศึกษาจากวีดีโอสอนการเลือกกองทุน LTF ของผม ที่นี่ (รบกวนทำลิ้งค์ไปที่ http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/29-ltf-selection/) เสียเวลาซัก 30 นาที ในการเรียน แต่ผมเชื่อว่าคุ้มค่าในระยะยาว เพราะเราจะใช้มันได้ไปอีกหลายปีครับ
ถ้าอยากได้ปัจจัยต่างๆที่คุณเอ A-Academy ว่าไว้เพิ่มเติม ผมก็ไปถามคุณเฟิร์น Wealth Me Up มาให้ ก็ได้คำตอบที่บอกถึงนั้ขตอนการเลือกกองทุนในแบบคุณเฟิร์นตามนี้ครับ
เฟิร์นขอเริ่มต้นด้วยการนั่งทบทวนหลักคิดในการเลือก LTF ของตัวเอง จนได้ข้อสรุปตามนี้
1. ต้อง ‘ไม่จ่ายปันผล’
– การปันผลออกมา เราจะโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% (จ่าย 100 บาท ได้แค่ 90 บาท) ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สู้รับเต็มๆ จากกำไรส่วนเกิน (capital gain) ดีกว่า
หรือแม้จะขอคืนภาษีได้ แต่คนที่เสียภาษีจำนวนไม่น้อยฐานภาษีเกิน 10% อยู่แล้ว จึงมักไม่ได้ขอคืนภาษี และเสียผลประโยชน์ไปโดยปริยาย
– เสียโอกาสการลงทุนต่อ (reinvest) เพราะถ้ากองทุนรวมจ่ายปันผล จะนำเงินออกมาให้กับผู้ถือหน่วย ผิดกับกองทุนรวมที่ไม่จ่ายปันผล เมื่อหุ้นในพอร์ตปันผลออกมา เงินจะกลับเข้ามาในกองทุน ทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้น และทำให้ได้ลงทุนต่ออีกด้วย
2. หุ้นเยอะ
เพราะ LTF คือกองทุนที่ลงทุนนาน 5 ปีปฏิทิน (ณ ปี 2558) ซึ่งนานพอที่จะรับความผันผวนของตลาด และความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นได้ ดังนั้นจึงกดเต็ม Max ลงทุนหุ้นยิ่งมาก ก็ยิ่งดี ^^
3. ผลตอบแทนดี และ สม่ำเสมอ
ปีนี้ที่ 1, ปีหน้าหลุดโผ คงไม่ไหว เพราะกว่าเราจะรู้ว่าดีหรือไม่ก็ช้าไปซะแล้ว ยิ่งคนส่วนใหญ่มักเลือกลงทุนกับเบอร์ 1 ‘ในอดีต’ โดยลืมไปว่าอดีต # อนาคต แต่ความสม่ำเสมอต่างหากที่สำคัญ เหมือนผู้หญิงกับผู้ชาย ไม่จำเป็นต้องดูแลให้เว่อร์วังในช่วงแรก (แล้วก็หมดโปรฯ) แค่เป็นคนดีคนเดิมตลอดไปก็พอ เนอะ 😉
4. ไม่เปลี่ยนผู้บริหารบ่อย
จริงอยู่ที่หลักการลงทุนของแต่ละบลจ. มีทีมงานหลายคนที่ช่วยกันคัดกรองหุ้น หรือสินทรัพย์อื่นๆ เข้าพอร์ต แต่เอาเข้าจริงเราก็ยึดติดกับกัปตันของบลจ.นั้นๆ หรือผู้บริหารกองทุนรวมนั้นๆ ไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่าเปลี่ยนตัว เปลี่ยนหัวแล้วจะยังเลือกหุ้นเจ๋งเป้งเหมือนเดิมรึเปล่า
5. ค่าธรรมเนียมไม่เวอร์
รู้หรือไม่! บางกองทุนรวมได้รางวัลปุ๊บ ขึ้นค่าธรรมเนียมปั๊บ ทำให้เราต้องจ่ายค่ามันสมองของผู้จัดการกองทุนแบบแพงเวอร์ (ค่าธรรมเนียมกองทุน LTF โดยทั่วไป = 1.50-2%) แต่ถามว่าจะมีสักกี่คนที่สังเกตุบ้าง?
และค่าธรรมเนียมพวกนี้แหละที่กัดกินโอกาสในการได้รับผลตอบแทนของเรา เพราะไปเข้ากระเป๋าของพวกเขาเหล่านั้นหมด…ค่าธรรมเนียมน่ะต้องมี แต่ก็ควรสมเหตุสมผลใช่ม๊า?
เขียนมาซะยืดยาว แล้วคำถามที่ว่ากองทุนที่ว่าน่ะกองไหน? ตอบเลยว่า “ไม่มี”
เพราะเฟิร์นเองไม่ได้ลงทุนทุ่มเงินกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่เน้นหลักกระจายความเสี่ยงเข้าว่า เพราะแม้ 10-20 ปีที่ผ่านมาเค้าดี๊ดี แต่อนาคตอีก 10-20 ปี ก็ไม่รู้ว่าจะดีเหมือนเดิมไหม?
กระจายการลงทุนเข้าไว้ สบายใจกว่าจ้า ^__*
มาที่กูรูอีกท่าน ซึ่งมาสาย Daytrade ตอนนี้กลายเป็นนักลงทุนอิสระเต็มตัวอย่างพีร์ Wizard Kid นะครับ
Mr.Messenger : พีร์ ช่วยวิเคราะห์หน่อย น่าจะมีคนที่อยากรู้ว่า Trader อย่างพีร์เนี่ย มีวิธีการเลือกลงทุนใน LTF ยังไงบ้าง?
Wizard Kid : เอิ่มมมม ผมเลือกง่ายมากเลยพี่แบงค์ครับ
Mr.Messenger : ???? ยังไงๆ ไหนไขข้อข้องใจหน่อย
Wizard Kid : เลือกที่จะ “ไม่ลงทุน” นะฮะ ก็รายได้ผมมันไม่ต้องเสียภาษีอ่ะพี่ จะเอาเงินไปติดคุกหลายปีเพื่ออะไร 555+
Mr.Messenger : ….. กรำ
เอาเป็นว่า ได้ความคิดเห็นของกูรูทั้ง 3 ท่านไปบางส่วนนะครับ ถึงแม้บางคนจะตอบผมกวนๆก็นะ โดยเฉพาะคนสุดท้ายเนี่ย
บทความ LTF ตอนหน้า ผมจะเดินไปถามกูรูที่กล้าบอกชื่อ LTF ที่น่าสนใจ พร้อมให้เหตุผลและวิธีการวิเคราะห์ที่เจาะลึกขึ้นไปอีกนะครับ
สุดท้าย ผมเอาผลการดำเนินงานกองทุน LTF ที่ดีที่สุดในตลาด 10 อันดับแรกมาให้ดู (ใช้ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 7 ปี) ไปละครับ 🙂