elliott-wave-01

นักลงทุนหลายคนคงรู้จักหลักการลงทุนระดับนี้ดีอยู่แล้ว แต่อีกหลายคนก็คงยังไม่รู้จักมัน หรือรู้จักแค่ชื่อ แล้วก็สงสัยว่า มันเชื่อถือได้จริงหรือ?

เชื่อถือได้หรือไม่ได้ แนะนำทดสอบด้วยตัวของคุณเองครับ แต่ถ้ามันไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงๆ  หลักการคลื่นของเอเลียตคงตายไปพร้อมๆกับเจ้าของแนวคิดตั้งแต่เมื่อ 60 ปีกว่าปีที่แล้ว จริงไหม

Ralph Nelson Elliott นี่คือชื่อของผู้คิดค้นหลักการอันน่าปวดหัวอันนี้ จริงๆแล้วเขาเป็นนักบัญชี เกิดในปี คศ. 1871 สำหรับ Elliott Wave นี้ เขาคิดค้นขึ้นได้ในช่วงราวๆปี 1930 และออกสู่สายตาธารณะชนในวงกว้างก็ช่วงปี 1938 ด้วยชื่อหนังสือ “The Wave Principle” หลักการของ Elliott Wave จริงๆแล้วถูกพัฒนามาจากทฤษฏีอีกอันที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน นั้นก็คือ Dow Theory อีกที เอาไว้ตอนหน้า ผมจะเขียนถึง Dow Theory นะครับ

หลักการของ Elliot Wave เกิดจากแนวคิด 3 แนวคิดมารวมกัน ก็คือ

  1. Action = Reaction นั้นก็คือ เมื่อมีขึ้น ก็ย่อมมีลง เมื่อหุ้นขึ้นจจนเต็มที่แล้ว ก็จะถึงจุดที่มันต้องลง และในทางกลับกัน ถ้าหุ้นมันลงจนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว มันก็พร้อมจะเป็นขาขึ้นในรอบถัดไป ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในลักษณะคลื่น ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
  2. คลื่น ประกอบด้วย ขาขึ้น 5 ลูก นับว่า 1-2-3-4-5 เราเรียกขาขึ้นนี้ว่า Impulse Wave และ ขาลง 3 ลูก นับ a-b-c เราเรียกคลื่นขาลงนี้ว่า Corrective Wave
  3. หลักการสุดท้ายก็คือ ในวงจรหุ้น หรือวงจรตลาด 1 รอบ จะประกอบด้วย Impulse Wave และ Corrective Wave ตามนี้ไปตลอด

เมื่อเอา 3 หลักการมารวมกัน เราจะได้ภาพคลื่นแบบนี้ครับ

พอเห็นภาพกว้างกันแล้ว ไปดูในรายละเอียดกันแต่ละคลื่นดีกว่าครับ

Impulse Wave

คลื่นลูกที่ 1 เป็นคลื่นลูกแรกหลังตลาดปรับฐานมาจากขาลงครั้งก่อนนั้น การปรับตัวขึ้นจะยังไม่แรงมาก เพราะนักลงทุน ที่ยังไม่แน่ใจว่าข่าวร้ายหมดไปแล้วจริงๆไหม คลื่นลูกนี้ปริมาณการซื้อขายจะยังเบาบาง แต่แรงขายก็มีไม่เยอะเช่นกัน
คลื่นลูกที่ 2 เป็นการปรับฐานหลักจากนักลงทุนที่ลงทุนไปตั้งแต่คลื่นลูกที่ 1 ได้กำไรมาพอสมควร สาเหตุของการขายทำกำไรระยะสั้นนี้ เพราะนักลงทุนกลุ่มนี้ยังไม่มั่นใจว่าตลาดจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปต่อหรือป่าว และอาจมีนักลงทุนที่ขาดทุนตั้งแต่รอบขาลงรอบที่แล้วขาผสมโรงด้วย เพราะเชื่อว่าเป็นแค่การรีบาวน์ระยะสั้นๆเท่านั้น
คลื่นลูกที่ 3 ปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย เมื่อเทียบกับลูกที่ 1 และลูกที่ 2 ตลาดมีความมั่นในมากขึ้น โดยปกติแล้ว คลื่นลูกที่ 3 นี้ จะเป็นคลื่นที่นักลงทุนรายย่อย (หรือใครหลายคนเรียกตัวเองว่าแมงเม่า) ได้กำไรมากที่สุด เพราะเป็นคลื่นที่กินระยะเวลานานกว่าคลื่นลูกที่ 1 และ ลูกที่ 5 อีกทั้ง ส่วนใหญ่ยังเป็นคลื่นที่มีความชันมากที่สุดอีกด้วย
คลื่นลูกที่ 4 เมื่อพบจุดสูงสุดของคลื่นลูกที่ 3 ก็จะมีแรงขายออกมา ซึ่ง ณ คลื่นลูกที่ 4 นี้ ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นหรือตลาด ได้มาถึงราคาที่เหมาะสมแล้ว หรือ อาจมีข่าวร้ายที่มีนัยสำคัญ กระทบต่อราคาหุ้น หรือปัจจัยตลาดอย่างรุนแรง แต่ด้วยภาวะตลาดที่เป็นขาขึ้น นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นสูง จึงทำให้ยังมีแรงซื้อกลับจากนักลงทุนอีกกลุ่ม ที่ยังเชื่อว่าตลาดไปต่อได้ หรือแรงซื้อหลายครั้ง ก็เกิดจากนักลงทุนพวกที่ตกรถในคลื่นลูกที่ 3 (ไม่รู้เพิ่งจะมามั่นใจอะไรตอนตลาดกำลังจะวาย) ทำให้เกิดคลื่นลูกถัดไป
คลื่นลูกที่ 5 วิ่งเพราะอารมณ์ตลาดล้วนๆ ในคลื่นลูกนี้ ข่าวดีจะมีเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ กลบข่าวร้ายที่มีผลต่อตลาดหมด ส่วนใหญ่ Value Investors จะหาหุ้นลงทุนเมื่อตลาดอยู่ในคลื่นลูกที่ 5 ยากมาก หรือบางที อาจหาไม่เจอด้วยซ้ำ และเมื่อนั้น งานเลี้ยงก็เลิกรา

Corrective Wave

คลื่นลูก a คลื่นลูกนี้ นักลงทุนจะพร้อมใจกันขายออกมาในปริมาณมาก บ่อยครั้งเกิดจากข่าวร้ายที่กระทบกับปัจจัยพื้นฐานแบบฉับพลัน
คลื่นลูก b นักเก็งกำไรระยะสั้น และนักลงทุนบางกลุ่ม ยังเชื่อว่าปัจจัยนั้นไม่น่ากระทบกับราคาหุ้นมาก จึงทำการเข้าซื้ออีกครั้ง เกิดเป็น Wave b รีบาวน์ขึ้น จุดสังเกตก็คือ การรีบาวน์ของคลื่นลูกนี้ โดยปกติจะไม่สูงกว่าจุดสูงสุดของคลื่นลูกที่ 5
คลื่นลูก c เกิดจาก Panic Sell นักลงทุนหมดความหวังกับหุ้นตัวนี้ หรือภาวะตลาดในช่วงนั้น หลายๆครั้ง แรงขายในคลื่น b ทำให้หุ้นลงไปต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก เพราะนักลงทุนใช้อารมณ์และมีความกลัวเข้าครอบงำ ในปลายคลื่น c นี้ แรงขายจะลดลงเหลือเบาบาง สะท้อนว่า คนที่อยากขาย ได้ขายออกมาจนใกล้จะหมดแล้ว

ไปดูเงื่อนไขของ Elliott Wave เพิ่มเติมกันอีกซักเล็กน้อยนะครับ

จะรู้ได้ไงว่าขาขึ้น (Impulse Wave) หมดรอบไปแล้ว?

จุดสังเกตจุดแรกก็คือ ให้หาคลื่นลูกที่ 2 และลูกที่ 4 ให้เจอก่อน จากนั้นลากเส้น Uptrend Line ไว้ เมื่อไหร่ที่ดัชนี หรือหุ้นของเราตกลงมาต่ำกว่าเส้นนี้ เมื่อนั้นก็ถือว่าเป็นสัญญาณกลับตัวเข้าสู่ Corrective Wave ครับ ตามรูป

จุดสังเกตจุดที่สองก็คือ หา Bearish Divergence (จุดกลับตัว) หากพบว่า ดัชนี หรือราคาหุ้น ทำจุดสูงสุดใหม่ (Higher High) แต่เครื่องมือทางเทคนิคอย่าง RSI หรือ MACD ไม่ทำจุดสูงสุดใหม่ด้วย แสดงว่าเกิด Bearish Divergence แล้ว แนะนำให้ระวังในการเข้าซื้อเพิ่ม ขอยกตัวอย่างดัขนี SET Index เมื่อตอนช่วงปี 2006-2008 นะครับ

สำหรับในช่วง Corrective Wave หากเจอ Bullish Divergence ดัชนีหรือราคาหุ้นจุดต่ำสุดรอบใหม่ (Lower Low) แต่เครื่องมือทางเทคนิคกลับไม่ทำจุดต่ำกว่าตามราคา ก็แสดงว่า แรงขายใกล้หมดแล้ว แนะนำให้เตรียมเงินเข้าซื้อได้เลย

แต่ทั้งคลื่นขาขึ้น และคลื่นขาลง ต่างก็ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะแบบนี้ไปทุกครั้งนะครับ รูปแบบ Elliott Wave ที่ผมเอามาให้ดูอันนี้ ถือว่าเป็นแค่ Principle หรือหลักการเบื้องต้นเท่านั้น จริงๆแล้ว ในคลื่นแต่ละคลื่น ก็จะมีคลื่นลูกเล็กลูกน้อย ซึ่งผู้ใช้ ต้องจินตนาการเอาเองว่าจะนับด้วยวิธีไหน

ยกตัวอย่างรูปเล็กนี้ จะเห็นว่า ในคลื่นลูกที่ 1 ลูกที่ 3 ลูกที่ 5 ก็เป็นไปได้ว่าจะประกอบไปด้วยคลื่นลูกเล็กๆอีก Wave ละ 5 คลื่นด้วยกัน (minor impulse wave) และคลื่นลูกที่ 2 และลูกที่ 4 ก็เป็นไปได้ว่า จะมี a-b-c เล็กๆอยู่ในนั้นอีก นั้นไง เริ่มปวดหัวกันแล้วใช่มั้ยครับ หุหุ

เรื่องการนับคลื่นอย่างละเอียด และแม่นยำ เป็นเรื่องของจินตนาการ และประสบการณ์ของแต่ละคน อีกทั้ง บางคนก็ไม่ได้มีความเชื่อในหลักการนี้ด้วยซ้ำ ตรงนี้ไม่ว่ากันครับ แต่ที่ทดสอบมาแล้วว่าใช้ได้ผลจริง ก็อย่างที่เขียนไปแล้วข้างต้นครับ นั้นก็คือ จุดกลับตัวอย่าง Bullish & Bearish Divergence และการใช้ Trend Line ลากดูแนวโน้มเข้าช่วย

อีกเรื่องที่นักลงทุนสามารถเอาแนวคิด Elliot Wave ไปใช้ได้ก็คือ ภาวะตลาด และอารมณ์ของนักลงทุนในแต่ละคลื่น ถ้าเรารู้ว่ามวลชนในตลาดอยู่ในภาวะแบบไหน (ไม่ใช่อารมร์ตัวเองคนเดียวนะครับ) เราก็พอเดาได้แล้วครับ ว่าเราอยู่ในคลื่นไหน ควรถือ ควรซื้อ หรือ ควรขาย

สุดท้ายจริงๆล่ะ เครื่องมือทางเทคนิค แต่ละอย่าง เป็นแต่ตัวช่วยในการประกอบการตัดสินใจ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่นักลงทุนคนหนึ่งควรรู้ไว้ และบทความ Elliott Wave อันนี้ ก็เป็นแค่หลักการเบื้องต้น ซึ่งจริงๆยังมีเงื่อนไขอีกเยอะเยอะให้เราได้ศึกษา แนะนำให้นักลงทุนหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง

โชคดีในการลงทุนครับ