Club Fund Day – Ep 10 : 5 ขั้นตอนกระจายความเสี่ยงแบบง่ายๆ
ติดตาม FINNOMENA PODCAST


การกระจายความเสี่ยง หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Diversification เป็นที่รู้จักกันในการลงทุนว่า เป็นสิ่งที่ควรทำ สำหรับนักลงทุนที่หวังจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว แต่สำหรับนักลงทุนรายบุคคล (Individual Investor) น้อยคนเหลือเกินที่จะเห็นความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงนี่

แต่กลายเป็นมุ่งหวังว่า จะสร้างกำไรจากสินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหุ้นเพียงแค่ตัวเดียวในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ เพื่อทำกำไรโดยการใส่เงินไปไว้ในสินทรัพย์นั้นทั้งก้อน กำไรมาก็โชคดีไป และยิ่งตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นขาขึ้น เราจึงเห็นนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่เห็นความจำเป็นของการกระจายความเสี่ยง เพราะซื้ออะไรไปมันก็ขึ้นมากันหมด แต่มี 2 สิ่งที่เราต้องรู้ก็คือ

  • ไม่มีใครรู้ว่า ตลาดหุ้นมันจะขึ้นไปอีกนานไหม แบบเดาถูก 100% หรอก
  • การกระจายความเสี่ยงอาจลดอัตราผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนบ้างก็จริงๆ แต่สิ่งที่ลดลงด้วย และลดลงอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ความเสี่ยง (Risk)

ผมขอเล่า 5 ขั้นตอนสำหรับการกระจายความเสี่ยงอย่างง่ายๆ เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยสามารถนำไปใช้ในเบื้องต้นเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนตัวเองนะครับ

1.) อย่าถือหุ้นแค่ตัวเดียว หรือ อุตสาหกรรมเดียว

แน่นอนว่า สินทรัพย์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในระยะยาวก็คือ “หุ้น” แต่.. นั้นคือภาพรวมของการลงทุนในหุ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นไทยพุ่งขึ้นมาสูงๆต่อเนื่อง กลับมีหุ้นบางกลุ่มที่แทบไม่ได้ขึ้น หรือราคาลงด้วยซ้ำ สาเหตุเพราะวงจรเศรษฐกิจแต่ละรอบ และปัจจัยที่มากระทบบริษัทแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกัน วิธีเลือกหุ้นเข้ามาในพอร์ตเพื่อกระจายการถืออย่างง่ายๆก็คือ เลือกบริษัทที่คุณรู้จัก หรือเห็นและใช้อยู่ตลอดในชีวิตประจำวัน บางคนอาจเถียงว่า ถ้าอย่างนั้นพอร์ตการลงทุนของเรา มันจะไม่อยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ Retail Consumption เยอะไปหรอ? แต่การที่เรารู้จัก และใช้บริการหรือสินค้าอยู่เป็นประจำ จะทำให้เราสามารถประเมิณสถานการณ์ได้ง่ายๆ และมั่นใจมากขึ้น สำหรับการลงทุนในระยะยาว

2.) เลือก Index Fund หรือ Bond Fund เข้าพอร์ตไว้บ้าง

กองทุนรวมดัชนี หรือ กองทุนตรสารหนี้ จะมีการกระจายความเสี่ยงอยู่แล้ว สำหรับนักลงทุนที่ไม่อยากจะไปหาหุ้นที่เห็นหรือใช้อยู่ในตลาด วิธีการกระจายความเสี่ยงที่ได้ประสิทธิภาพก็คือ เลือก Index Fund ซึ่งมีหุ้นอยู่ข้างในไม่ต่ำกว่า 30 ตัวไปเลย ถ้าทำอย่างนี้ ก็การันตีได้ว่า ผลตอบแทนยังไงก็ไม่หนีจาก Benchmark ไปเยอะแน่นอน ส่วน Bond Fund ถือเป็นกองทุนที่มีการเคลื่อนไหวของราคาไม่สัมพันธ์กับหุ้น เมื่อมาอยู่ในพอร์ตการลงทุน ในช่วงที่หุ้นผันผวนมากๆ Bond Fund จะทำหน้าที่เป็นเหมือนหน่วยรับแรงกระแทก ไม่ให้พอร์ตทั้งพอร์ตของคุณผันผวนในช่วงเวลานั้นมากเกินไป ส่วนควรจะมีเยอะหรือน้อยเท่าไหร่ ก็แล้วแต่ความเสี่ยงของคุณเอง

3.) อย่าหยุดเติมเงิน

การลงทุนแบบตูมเดียวเข้าทั้งก้อน (Lum-sum Investment) ก็เป็นเรื่องดีสำหรับการตั้งต้น แต่มันดูเหมือนกลายเป็นการพนันไปซักหน่อย แนะนำว่า ให้พยายามทำพอร์ตการลงทุนของคุณ เป็นเหมือนพอร์ตการออมในระยะยาว จะเพื่อการเกษียญ หรือ เพื่ออะไรก็ได้ แต่ตั้งเป้าหมายในระยะยาวไปเลย จะดีกว่า คุณอาจจะเลือกวิธี Dollar Cost Average (DCA) ในการเติมเงินเข้าไปเรื่อยๆทุกๆเดือน ตามสัดส่วนที่วางบนไว้ก็ได้ เพราะพอร์ตการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญอีกอย่าง ก็คือ “วินัยในการลงทุน”

4.) ถือยาว ไม่ได้แปลว่า ห้ามขาย

บางคนเข้าใจผิดคิดว่า Buy & Hold แปลว่า ถือลืมไปเลย เข้าสู่โหมด Autopilot แล้วให้เงินมันทำงานแทน ไม่ต้องไปใส่ใจ หรือสนใจอะไรมัน ผมไม่มองว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด แต่ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ประมาท เพราะแม้แต่ลูกที่เรารักที่สุด เพราะเขาเป็นเด็กดี เรียนเก่ง และมีความรับผิดชอบสูง คุณก็ยังต้องคอยดูแลและตักเตือนอยู่ห่างๆตลอด นับประสาอะไรกับการลงทุนซึ่งมีปัจจัยมากระทบรอบด้านไปหมด หลักการปรับพอร์ตอย่างง่ายๆก็คือ สมมติว่า หุ้นขึ้นมาแรงมากๆ จนทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในพอร์ตสูงกว่าตราสารหนี้มากๆ เช่นเริ่มต้น มีหุ้นอยู่ 70% พอหุ้นวิ่งแรงๆ 6 เดือน กลายเป็นหุ้นมีสัดส่วน 90% เพราะราคาขึ้นแรงมาก เราก็ต้องลดพอร์ตในส่วนที่กำไรเยอะๆออกไปบ้าง ขายซัก 10-20% ไปลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อให้พอร์ตโดยรวมกลับมาเท่ากับความเสี่ยงตั้งต้นที่เราตั้งใจวางแผนไว้

5.) ค่าธรรมเนียม อีกเรื่องที่ต้องใส่ใจ 

จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า หากหักค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น หรือค่าธรรมเนียมกองทุนออกไปให้หมดในตลาด นักลงทุนที่ลงทุนแล้วได้กำไรจะเพิ่มขึ้นทันที 20-30% นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้น จะได้กำไรเพิ่มขึ้น 4-5% ต่อปี ในขณะที่ 2-3% ต่อปี สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวม นี่แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะสั้น ซื้อเข้า ขายออก เร็วๆ โดนค่าธรรมเนียมไปเยอะ ผมไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องไม่ควรทำนะครับ สำหรับนักลงทุบางคนที่เก่งและถูกจริตกับการลงทุนระยะสั้นแบบนี้ และพอใจกับผลการดำเนินงานของพอร์ตการลงทุนตัวเองอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไร แต่ใครมีนิสัยเทรดดิ้งเล่นสั้น แล้วมานั่งสงสัยว่า ทำไมกำไรน้อยกว่าคนอื่น ก็โปรดจงรู้ไว้ ค่าธรรมเนียมนี่ล่ะ ตัวดีเลย หรือถ้าเป็นกองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมซื้อสูงๆ คุณก็ต้องมั่นใจด้วยว่า ผู้จัดการกองทุน สามารถทำผลตอบแทนส่วนเกินได้ดีกว่าดัชนีในระยะยาวคุ้มค่าพอกับสิ่งที่คุณจะจ่าย

สรุป การลงทุนเป็นเรื่องที่สนุก หากคุณรักที่จะหาข้อมูล หาความรู้ มีวิธี กลยุทธ์ในการลงทุน กระจายความเสี่ยงที่ถูกต้อง ติดตามข่าวสารอยู่ตลอด และที่สำคัญที่สุด ต้องมีวินัยในการลงทุน ในระยะยาว ผมเชื่อว่า รางวัล ที่คุณจะได้ ยังไงก็คุ่มค่า … จริงๆมันคุ่มค่าตั้งแต่คุณรักการลงทุน และสนุกกับมันแล้วต่างหาก จริงไหมครับ

“We don’t have to be smarter than the rest. We have to be more disciplined than the rest.” -Warren Buffett


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast

TSF2024