invest-more-than-one-mf01

เฉพาะกองทุนรวมประเภทตลาดเงิน หรือ Money Market Fund ก็มีมากมายหลาย บลจ. บางแห่งมีกองทุนประเภทนี้มากกว่า 1 กองอีกต่างหาก นี้ยังไม่รวมถึงกองทุนรวมหุ้น หรือที่ไปลงทุนในต่างประเทศอีกนะครับ รวมๆกันแล้วปัจจุบันกองทุนที่เสนอขายให้นักลงทุนในไทยตอนนี้ก็มีเกินกว่า 400 กองทุนเข้าไปแล้ว

พอมีเยอะขนาดนี้ การเลือกกองทุนเพียงกองเดียวที่เหมาะกับตัวเรา หลังจากการพิจารณาเลือกนโยบาย และดูผลการดำเนินงานย้อนหลัง รวมทั้งประเด็นอื่นๆต่างๆนานาแล้ว ควรจะเพียงพอต่อการลงทุนของเราหรือไม่? ในความเห็นของผมก็ต้องตอบว่า “กองเดียวไม่พอ” ถึงแม้จะมีข้อโต้แย้งผมว่า ก็เราเลือกพิจารณารอบด้านแล้ว เห็นว่ากองทุนนี้เหมาะสมกับเราที่สุด ถ้าอย่างนั้นก็ลงทุนมันไปอย่างนั้นล่ะง่ายดี

ตอบคำถามนี้ได้ง่ายมาก คุณแน่ใจได้อย่างไรว่ากองทุนนั้นจะทำผลการดำเนินงานได้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ 100% ห้ามเถียงผมนะครับว่า ก็ศึกษาข้อมูลเสียละเอียดขนาดนั้น ยังไงก็น่าจะให้ผลตอบแทนตามเป้าหมายแน่นอน อย่าลืมว่า การลงทุนนั้น ไม่ว่าคุณจะพยายามควบคุมความเสี่ยงด้วยวิธีไหน การลงทุนก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี ดังนั้นการผูกชีวิตการลงทุนของเราไว้กับกองทุนเดียว ดูจะเป็นเรื่องที่เสี่ยงถ้าคุณหวังผลตอบแทนในระยะยาวที่ไม่ผันผวนมากจนเกินไป

 การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนกับกองทุนแบ่งเป็น 2 ประเภทนะครับ

  1. กระจายการลงทุนภายในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน
  2. กระจายการลงทุนระหว่างกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเภทกัน

ประเภทแรก นี้เรียกอีกอย่างว่า การ Diversified Portfolio คำนี้ น่าจะคุ้นกันนะครับ เพราะวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนผ่านกองทุนรวม ก็คือ การกระจายความเสี่ยง ในลักษณะนี้ล่ะครับ ส่วนประเภทหลังเราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การทำ Asset Allocation หาสินทรัพย์ต่างประเภทมาผสมกันตามสัดส่วนที่นักลงทุนแต่ละคนคิดว่าเหมาะสม อย่างหลังนี้ คนที่มี Wealth ณ ระดับหนึ่ง และหวังผลตอบแทนระยะยาวจริงๆ จะให้ความสนใจมากกว่าการ Diversified Port ครับ

มาดูการกระจายความเสี่ยงภายในการกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกันก่อน ยกตัวอย่างเช่น กองทุนหุ้นไทย ก็แบ่งออกเป็นหลายประเภท บางกองทุน เลือกลงทุนโดยอ้างอิงกับ SET50 บางกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก หรือบางกองทุนก็เลือกลงทุนเฉพาะบางกลุ่มอุตสาหกรรมเช่น กลุ่มธนาคาร หรือ พลังงาน เป็นต้น สาเหตุที่กองทุนมีหลากหลายนโยบาย ก็เพราะ วงจรเศรษฐกิจของหุ้นแต่ละประเภทนั้นแตกต่างกัน และมีความเสี่ยงเฉพาะแต่ละธุรกิจที่แตกต่างกัน นักลงทุนแต่ละคนก็มีความเห็นที่แตกต่างกันอีก ความหลากหลายของกองทุนจึงทำให้นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น แต่ทางเลือกมากขึ้นนี้ ก็นำมาซึ่งปัญหาที่ว่า “เลือกไม่ถูก”

Morning Star เคยทำวิจัยเกี่ยวกับจำนวนกองทุนที่นักลงทุนควรจะลงทุนในช่วงระยะเวลาหนึ่งว่า นักลงทุนแต่ละคนไม่ควรลงทุนในกองทุนมากกว่า 4กอง เพราะหากมากเกินไป ก็หมายถึงไม่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้ผู้จัดการกองทุนที่ควรจะมีใครซักคนหนึ่งทำผลตอบแทนได้ดีกว่าคนอื่นโดยเปรียบเทียบ หรือมองอีกมุมหนึ่งก็หมายความว่า ยิ่งถือหลายๆกอง ก็เหมือนกับซื้อกองทุน Index Fund เพราะจำนวนหุ้นในพอร์ตกองทุนแต่ละกองจะเพิ่มขึ้นตามกองทุนที่เราถือไปด้วย แล้วเราจะหวังให้ผลตอบแทนคาดหวังสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Benchmark) ได้ยังไง

สำหรับนักลงทุนที่เริ่มไม่ถูกว่าจะลงทุนกับกองทุนหุ้นกองไหนดี?

แนะนำให้ประการแรก อาจเลือกลงทุนใน กองทุนประเภท Passive Management Portfolio (กองทุน Index Fund) ไปก่อน อย่างน้อย ได้ผลตอบแทนพอๆกับดัชนีแน่นอน และพอได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มขึ้น เริ่มรู้จักตัวธุรกิจ ตัวหุ้นดีขึ้น รู้ว่า Fund Flow จะไหลเข้าออกกลุ่มไหน เริ่มจับทางได้ จับจังหวะเป็นบ้าง ก็ใช้วิธีเพิ่มพอร์ตการลงทุนไปยังกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะกลุ่ม เช่น เน้นลงทุนในกลุ่มพลังงาน เพราะราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นแรง  หรือ เน้นลงทุนในหุ้นจ่ายปันผลดี เป็นหุ้นขนาดกลางหรือขนาดเล็ก เพราะถึงฤดูประกาศผลประกอบการ คาดว่าการขยายตัวด้านอุปโภคบริโภคในประเทศขยายตัวได้ดี เป็นต้น

เมื่อได้ Theme การลงทุนแล้วก็มาเลือกกองทุนที่เหมาะกับ Theme ของเรา โดยดูจาก ผลการดำเนินงานย้อนหลัง ความสามารถของผู้จัดการกองทุน ความสะดวกในการทำธุรกรรม ค่าธรรมเนียม และพอร์ตการลงทุนว่าเหมาะกับเราหรือไม่

ซึ่งการวิเคราะห์หรือการคาดการณ์เหล่านี้ ก็ต้องอาศัยการทำการบ้าน การศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม การติดตามและประเมินผลไปตลอดการลงทุน อย่าลืมนะครับ อยากได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานที่หนักขึ้น นักลงทุนที่ดี เราไม่ใช้แค่ความไว้ใจในการตัดสินใจลงทุนหรอกครับ ถ้าง่ายขนาดนั้น ตอนนี้คงนั่งยิ้มกันหมดเพราะ SET Index วิ่งขึ้นมาทดสอบ 1,500 จุดแล้ว ทั้งๆที่ต้นปียังอยู่ที่ 1,200 ต้นๆ แต่ตอนนี้ ผมรู้นะ ว่ามีคนขายหมูตั้งแต่ 1,400 จุดตั้งหลายคน แถมตอนนี้ก็ไม่กล้าลงทุนเพิ่ม เห็นไหมครับ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก นี้คงเป็นเสน่ห์ของการลงทุน

“คราวหน้า มาต่อกันที่ความจำเป็นของการทำ Asset Allocation กันครับ”