top-down-space-inflation-soon

นักลงทุนหลายคนน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อในหลายๆมุมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นธนาคารกลางทั่วโลกงัดกลยุทธ์และนโยบายทุกวิถีทางที่จะทำให้เศรษฐกิจของตนเองขยายตัวได้เต็มศักยภาพ ซึ่งวิธีการก็ไม่ยาก คือ การลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้เอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

แต่เอาเข้าจริง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ถึงแม้จะง่ายขึ้น แต่โอกาสทางธุรกิจกลับยากขึ้น สาเหตุเพราะ การค้าโลกที่ชะลอตัว กู้ไปก็ไม่รู้จะเอาไปลงทุนอะไรดี ปริมาณเงินที่มีมากขึ้น จึงไหลเวียนอยู่ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องในรูปตราสารทางการเงิน มากกว่าที่จะเป็น การลงทุนเพื่อธุรกิจจริงๆ

สิ่งนี้ละครับ ที่ทำให้เงินเฟ้อ (Inflation) อยู่ในระดับต่ำมาอย่างยาวนาน จนเกิดความกลัวในคำว่า เงินฝืด หรือ Deflation ซึ่งมีความหมายว่า เงินเฟ้อที่มีโอกาสติดลบ หรือ มันคือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงเรื่อยๆ

ผมยังจำได้ว่า ต้นปีที่แล้ว เรายังกลัว Deflation กันอยู่เลย สาเหตุเพราะ เศรษฐกิจโลกที่ยังน่าเป็นห่วง แถมการที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง จากจุดสูงสุดของปี 2557 ที่ 107 ดอลลาร์ ลงมาเหลือ 26 ดอลลาร์ เมื่อต้นปี 2559 ก็ทำให้เกิดความกังวลว่า บริษัทผู้ผลิตน้ำมันในโลกจะอยู่รอดกันได้อย่างไร?

oil

รูปที่ 1 : ราคาน้ำมันดิบ West Texas Crude Oil (ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. ถึงปัจจุบัน)
ที่มา : Stockcharts.com

มาวันนี้ ผมเชื่อว่า นักลงทุนหลายคนน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อในหลายๆมุม ซึ่งกูรูด้านการลงทุนบางคนก็ถึงกับออกมาบอกว่า มันถึงจุดจบของการลงทุนในตราสารหนี้แล้ว โลกเราจะเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งมองไปข้างหน้า ก็มีประเด็นที่ผมเห็นว่าเป็นเช่นนั้นอยู่หลายประเด็นด้วยกัน

  1. ธนาคารกลางสหรัฐฯกลับทิศนโยบายดอกเบี้ย พร้อมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น จากการจ้างงานที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง และตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆหลายบอกว่า พร้อมแล้วสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่งที่มากกว่าเดิม
  2. สัญญาณเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่เริ่มขยับขึ้นจากฐานต่ำ ต้นปี 2559 ราคาน้ำมันอยู่ที่ 26 ดอลลาร์ มา ณ ตอนนี้ ราคาน้ำมัน Crude Oil เทรดอยู่เหนือระดับ 50 ดอลลาร์ ทั้งเดือนม.ค. แสดงว่า ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดแล้วเกิน 90% ซึ่งราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน ถูกคำนวนรวมอยู่ใน Headline Inflation ด้วย ดังนั้น ขอแค่ราคาน้ำมันไม่ลงไปต่ำกว่าระดับปัจจุบัน ก็จะทำให้มีสัญญาณเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นทันที
  3. นโยบายการคลังในยุคทรัมป์ ซึ่งน่าจะมีการอัดฉีดเงินลงทุนจากภาครัฐฯตามที่หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ ซึ่งจะทำให้ความต้องการ Raw Material ปรับตัวสูงขึ้นได้ (ถ้าทรัมป์ทำจริง)

trump-policy

รูปที่ 2 : นโยบายด้านเศรษฐกิจและภาษี ที่ทรัมป์หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้ง
ที่มา : Businessinsider.com

จริงๆ เทรนด์ หรือแนวโน้มสินค้าโภคภัณฑ์นี้ ผมได้เคยกล่าวถึงมาแล้วในบทความ Top-down ช่วงท้ายปี ว่า ปีนี้เราน่าจะเห็นการปรับตัวขึ้นของสินค้าประเภทนี้ แต่ที่มันชัดขึ้น จนอาจจะเกิดเป็นสัญญาณเงินเฟ้อก็คือ การลงนามฝ่ายบริหาร หรือ Executive Order ของประธานาธิปดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ทุกฉบับ คือสิ่งที่เขาหาเสียงไว้ตั้งแต่ตอนต้น และ 2 สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ และถ้าทำ จะทำให้เกิด Inflation Expectation ที่สูงขึ้นก็คือ นโยบายลดภาษีนิติบุคคล และนโยบายเพิ่มการลงทุนภาครัฐ ซึ่งก็เพื่อสานฝันใหญ่ของเขาก็คือ ทำให้เกิดการสร้างงานใหม่ 25 ล้านตำแหน่งให้ชาวอเมริกันนั้นเอง

ในฐานะของนักลงทุน เราสามารถติดตามสัญญาณการขึ้นของเงินเฟ้อได้ โดยสามารถดูได้จาก Fed Fund Futures ที่ตลาด CME ซึ่งจะมีการบอกโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในแต่ละการประชุม อีกทางหนึ่งก็คือ การดู Dot Plot หรือประมาณการดอกเบี้ยในอนาคตที่จัดทำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ

ตัวสุดท้ายที่สามารถดูได้ก็คือ 5-Year Forward Inflation Expectation Rate ซึ่งอยู่ในเว็บไซต์ของเฟด สาขาเซ็นหลุยส์

inflateรูปที่ 3 : 5-Year Forward Inflation Expectation Rate
แหล่งที่มา : Federal Reserve Bank of St. Louis 

พอลองดูข้อมูลที่พล็อตเป็นกราฟ ก็จะพบว่า นับตั้งแต่กลางปี 2559 ที่ผ่านมา เจ้าตัว 5-Year Forward Inflation Expectation Rate ก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ มาอยู่ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยระยะยาวในอดีตแล้วนะครับ ดังนั้น นักลงทุนต้องกลับมานั่งคิดเยอะๆแล้วว่า ในภาวะที่เงินเฟ้อกำลังจะมา การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหนที่ได้ประโยชน์มากสุด? คิดออก ก็โอกาสทำเงินนะครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640268