เงินเฟ้อเราไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แม้จะเป็นคนไทยเหมือนกัน

อัตราเงินเฟ้อ หรือ Inflation คือ ตัวเลขเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่แบงก์ชาติใช้ในการพิจารณาว่าจะดำเนินนโยบายทางการเงินในทิศทางไหน ในอีกมุมหนึ่ง เงินเฟ้อ ก็ถูกใช้เป็นตัววัดความมั่งคั่งของคนทั่วไป ว่าอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของเรามันดีขึ้นหรือแย่ลง

อธิบายตัวเลขเงินเฟ้อให้เข้าใจมากขึ้นก่อนนะครับ สมมติว่า ตอนนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 10% เรามีเงินอยู่ 10 บาทในกระเป๋า และมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ในการซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคือ

  1. ซื้อวันนี้เลยที่ราคา 10 บาท
  2. รออีกหนึ่งปีข้างหน้า แล้วค่อยซื้อที่ราคา 11 บาท

สมมตินะครับ เราฝากเงินในธนาคารในบัญชีเงินฝากประจำได้อัตราดอกเบี้ยอยู่ 1.5% ต่อปี ฝากไปครบ 1 ปี เงินออมเราจาก 10 ปี จะกลายเป็น 10.15 บาท ถ้าเราเลือกทางเลือกข้อ 2. จะแปลว่า เงินออมของเรา โตไม่ทันราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถ้าราคาสินค้าทั้งประเทศ โตในอัตราเดียวกันที่ 10% ทั้งหมด ขณะที่เงินฝากธนาคารดอกเบี้ยต่ำติดดินแบบนี้ คุณคิดว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศจะทำอย่างไรกันครับ?

คำตอบคือ เขาจะเร่งการบริโภค จับจ่ายใช้สอย และตุนสินค้ากันตั้งแต่วันนี้ เพราะกลัวว่า ถ้าเวลาผ่านไปเงินออมของเขา จะโดนเงินเฟ้อกินจนด้อยค่าไปเรื่อยๆ

นี่คือสาเหตุที่แบงก์ชาติต้องนำเงินเฟ้อมาเป็นหนึ่งในปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน

เงินเฟ้อ มากเกินไป ก็ไม่ดี เพราะจะทำให้เงินในกระเป๋าเราด้อยค่าลง

เงินเฟ้อ น้อยเกินไป ก็ไม่ดี เพราะคนจะไม่แรงจูงใจให้ต้องบริโภควันนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็อาจไม่เร่งตัว เงินก็ไม่หมุนเวียน

คราวนี้ เราไปดูกันว่า เราคำนวนอัตราเงินเฟ้อจากอะไรกันบ้าง ก็จะประกอบด้วย 9 หมวดใหญ่ๆ คือ

  • หมวดอาหารและเครื่องดื่ม
  • หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า
  • หมวดเคหสถาน
  • หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล
  • หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร
  • หมวดการบันเทิงการอ่านและการศึกษา
  • หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
  • หมวดอาหารสด
  • หมวดพลังงาน

ซึ่งจะเรียกรวมๆกันว่า ตะกร้าสินค้า และถ้าสินค้าในตะกร้าเป็นสินค้าทั่วไปรวมถึงสินค้ากลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงาน เงินเฟ้อที่คำนวณเรียกว่า “เงินเฟ้อทั่วไป หรือ Headline Inflation”

ถ้าสินค้าในตะกร้าเป็นสินค้าเป็นสินค้าทั่วไปที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงานออกไป เงินเฟ้อที่คำนวณเรียกว่า “เงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core Inflation”

ปัจจุบัน เงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยในเดือนก.ย. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.3%

ถือว่าสูงไหม? ลองเทียบกับประเทศแกนหลักของโลกกันดู

  • สหรัฐฯ 2.3%
  • ยุโรป 2.2%
  • ญี่ปุ่น 1.2%
  • จีน 2.5%
  • อินเดีย 3.77%

ถ้าย้อนกลับไปดูอดีตของประเทศไทยเราเอง นับตั้งแต่ปี 1977 จนถึงปัจจุบัน เงินเฟ้อพื้นฐานเราเฉลี่ยอยู่ที่ 4.15% ก็ต้องบอกว่า ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่เงินเฟ้อต่ำกว่าในอดีตพอสมควรทีเดียว

เห็นแบบนี้ แล้วอาจรู้สึกว่า ศัตรูที่ชื่อว่าเงินเฟ้อ มันไกลตัวเราใช่ไหมครับ?

ขอถามหน่อย แล้วเงินเฟ้อของตัวเราเองละ?

ที่มันน่าสนใจก็คือสิ่งนี้เอง…

ถึงเราจะอยู่ประเทศไทยเหมือนกัน อยู่กรุงเทพฯเหมือนกัน ทำงานย่านสีลมเหมือนกัน หรือถึงแม้อยู่ในบริษัทเดียวกัน เงินเฟ้อของเราแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน

พนักงานบริษัทเอกชน เงินเดือน 4-5 หมื่นบาท เปลี่ยนมือถือทุกปี มีคอนโด และรถยนต์ต้องผ่อนทุกเดือน กินข้าวนอกบ้านทุกมื้อ อยู่ได้แบบเดือนชนเดือน

ชาวนา ปลูกข้าวที่ต่างจังหวัด ใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่มีหนี้สิน กินอยู่เท่าที่ตัวเองหามาได้ เหลือเท่าไหร่ก็แบ่งปันคนอื่นตามสมควร

ผมไปเจอข่าวหนึ่ง ยิ่งทำให้เรื่องนี้ชัดขึ้น ใครอายุขึ้นเลข 3 น่าจะรู้จัก “โจเหวินฟะ” ดาราระดับซุปเปอร์สตาร์ชาวฮ่องกง ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก แต่ 17 ปีที่ผ่านมา ใช้มือถืออยู่เครื่องเดียว ใช้เงินเดือนละไม่ถึง 4 พันบาทไทย แถมอยู่ได้สบายๆไม่เดือดร้อนด้วย

ครับ!! บางที เราก็มองภาพใหญ่ๆ ไปดูอะไรที่อยู่ข้างนอก มากกว่าย้อนกลับมาดูตัวเอง

เห็นตัวเลขเงินเฟ้อในไทยอยู่ที่ 1.3% เหมือนว่า เงินเฟ้อจะไม่ได้ทำร้ายเงินในกระเป๋าเราในวันนี้ แต่ความจริงแล้ว “เงินเฟ้อของเรา มันไม่เท่ากัน” เพราะคนเรามีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน เรามาลองกางค่าใช้จ่ายของเราในแต่ละเดือนดูก่อน เราหมดไปกับ สิ่งที่จะสร้างมูลค่าให้ในอนาคต หรือ ทำให้เงินในกระเป๋ามันลดลงเรื่อยๆ

อย่างที่ปู่วอร์เรน บัฟเฟต กล่าวไว้

“If you buy things you do not need, soon you will have to sell things you need.”

เป้าหมายการลงทุนตั้งต้นในตอนแรกคือ เราต้องทำให้เงินออมของเรา ไปอยู่ที่ที่ชนะเงินเฟ้อให้ได้ แต่อย่าลืม เงินเฟ้อเรา มันไม่เท่ากัน แม้เราจะเป็นคนไทยเหมือนกัน

ดังนั้น ถ้าคิดอีกมุมว่า เราควรจัดการกับเงินเฟ้อของตัวเราให้มันลดลง ก็จะเท่ากับเพิ่มเงินในกระเป๋าได้แล้วส่วนหนึ่ง ตั้งความหวังผลตอบแทนไม่ต้องสูงมากเกินไป เงินอาจจะโตช้าลงหน่อย แต่ความสุขในชีวิตอาจจะมากขึ้นนะครับ

โดย Mr. Messenger