บทความตอนล่าสุดเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ผมไปดู US Treasury Yield 30 ปี ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.538%
ต่ำกว่าวันที่ ปธน. ทรัมป์ เข้ามาดำรงตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ปรับลดลงแม้แต่ครั้งเดียว และผมมองว่า มีความเป็นไปได้อยู่ 2 ทางก็คือ
-ตลาดมองไปแล้วว่า เศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ อาจจะชะลอตัวต่อเนื่องหลังจากนี้ และเฟดเองก็ต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
-ตลาดอาจจะกังวลกับอนาคตมากเกินไป (Overreact) เลยไล่ซื้อพันธบัตรระยะยาวมาใส่ไว้ในพอร์ตไว้ก่อน
สัปดาห์ที่ผ่านมานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้แถลงสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อคณะกรรมาธิการบริหาร ของสภาคองเกรส เมื่อวันที่ 10 ก.ค ที่ผ่านมานี่เอง ระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวในวงกว้าง ซึ่งกำลังปกคลุมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองก็ยังคงมีอยู่จนกว่าสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับชาติมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะจีน จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
หากใครติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะแปลกใจกับความเห็นที่ประธานเฟดให้ความเห็นครั้งนี้อยู่บ้าง เพราะเอาเข้าจริง ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง อัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าแรงสหรัฐฯ ก็ทยอยปรับขึ้นนับตั้งแต่ปี 2008 แล้วเหตุใด เฟดจึงดูจะกังวลกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในครั้งนี้
สาเหตุหลักๆ ก็เป็นเพราะ เศรษฐกิจโลกมีความผูกพันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเศรษฐกิจประเทศใดชะลอตัวลง ก็จะส่งผลต่อประเทศอื่นไม่มากก็น้อย นี่คือคำตอบที่อธิบายในภาพกว้าง
และตัวเลข PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เอง ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2018 เช่นเดียวกับประเทศแกนหลักอย่างยุโรป ซึ่งยังมีปัญหากรณี BREXIT, ญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดมีข้อพิพากกับเกาหลีใต้ และ จีน ซึ่งเป็นคู่ชกของสหรัฐฯ ในสงครามการค้า
ดังนั้น สิ่งที่นายพาวเวลบอกกับสภาคองเกรส ก็แปลว่า ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะพึ่งพาการบริโภคมากถึง 70% ของจีดีพี แต่สัญญาณการชะลอตัวในภาคการผลิต เป็นสิ่งที่เฟดให้น้ำหนักมากกว่า ทั้งนี้ ในตอนหนึ่งของการแถลง นายพาวเวลกล่าวว่า อัตราว่างงานในระดับต่ำของสหรัฐฯ ณ ระดับปัจจุบัน อาจทำให้ระดับเงินเฟ้อดิ่งลงไปได้อีก โดยชี้แจงว่า ภาพรวมการขึ้นราคาสินค้ายังถือว่าเงียบเหงา
จนถึงตอนนี้ หากมองไปที่ Fed Fund Futures จะพบว่า นักลงทุนในตลาดมองตรงกันว่า สิ้นเดือนก.ค.ที่จะถึงนี้ เฟดจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงหนึ่งอีก 0.25% เป็นอันว่า สิ้นสุดดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีต่อเนื่องนับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ปี 2008 และหากลดดอกเบี้ยจริง ก็จะเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่เฟดประกาศลดดอกเบี้ยด้วย
ถึงตรงนี้ ก็มีคำถามต่อว่า หากเฟดลดดอกเบี้ยจริง จะเป็นการลดติดต่อกันหลังจากนี้ หรือเป็นการลดดอกเบี้ยแค่ชั่วคราวเพื่อเป็นหลักประกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังสามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพ
นักลงทุนมีภาพในหัวที่ค่อนข้างน่ากลัวต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดในอดีตนะครับ เพราะสถิติย้อนหลังบอกว่า รอบสองล่าสุดที่เฟดลดดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งขึ้นไป สิ่งที่ตามมาก็คือ การเทขายอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นทั้งในปี 2000 และปี 2008
ดังนั้นตอนนี้เรามาถึงทางแยกสำคัญครั้งหนึ่งของตลาดกระทิงรอบนี้ที่มีอย่างยาวนาน อาจมีคนเห็นต่างก็ตรงที่ ไปอ่านความเห็นจากธนาคารกลางว่า มันจะกลายเป็นวิกฤตได้ยังไง ในเมื่อเศรษฐกิจในภาพรวม ไม่ได้ดูแย่และไม่ได้เกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้นเหมือนๆ กับสองครั้งก่อนหน้านี้ แต่ในมุมมองส่วนตัวของผม ต้องอย่าลืมว่า กว่าเราจะรู้ว่าเกิดวิกฤต เราก็ไปอยู่ในวิกฤตนั้นเรียบร้อยแล้ว และอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้ไว้คือ ไม่มีธนาคารกลางที่ไหนของโลกที่จะพูดว่าเศรษฐกิจประเทศตัวเองกำลังพังหรือมีความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้แล้ว เพราะในฐานะของการเป็นธนาคารกลาง ก็ต้องให้ความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและประชาชนในระบบเศรษฐกิจอยู่แล้วไม่ว่าสถานการณ์จะยากลำบากขนาดไหน
ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงควรวิเคราะห์ด้วยข้อมูลชุดอื่นประกอบกัน มิใช่แค่เพียงถ้อยแถลง หรือ statement จากธนาคารกลางเพียงเท่านั้น
สิ้นเดือน ก.ค. เฟดจะลดดอกเบี้ยหนึ่งครั้ง และเปิดทางให้เหล่าธนาคารกลางทั่วโลกกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วย ซึ่งถ้าการลดดอกเบี้ยรอบนี้ เป็นแค่เพียงเรื่องชั่วคราว ไม่ได้ลากยาวลดดอกเบี้ยรัวๆ พอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก็น่าจะยังสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงปลายของตลาดกระทิงเช่นนี้
แต่ในทางกลับกัน ถ้านี่คือจุดเริ่มต้นของดอกเบี้ยขาลงครั้งใหม่ เราเห็นกันแล้วนะครับว่า เฟดลดดอกเบี้ยรัวๆ เมื่อปี 1999-2000 และปี 2007-2008 แล้วเกิดอะไรกับตลาดหุ้นทั่วโลก ตรงนี้ ต้องจับตากันให้ดีๆ จริงๆ นักลงทุนทุกท่าน
ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647777