ใครที่ติดตามสภาวะการลงทุนของโลกในช่วงตั้งแต่พบกับการระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้เฟดต้องประกาศอัดฉีดครั้งประวัติศาสตร์ตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. จะพบว่า มีแนวคิดใหม่ ๆ หรือ ทฤษฎีเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้ออกมาเป็น 2 แนวทาง ซึ่งอยู่ในขั้วตรงกันข้ามกันเลย นั่นก็คือ ฝั่งหนึ่ง เชื่อว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเชื่อว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคเงินฝืด (Deflation)
ฝั่งที่เชื่อว่า โลกกำลังจะเข้าสู่ Hyperinflation ในสายตาของนักลงทุนธรรมดา ๆ อย่างเรา ๆ ก็มองว่า มันดูมีความเป็นไปได้มากทีเดียว สาเหตุเพราะ ปริมาณเงินที่ทุก ๆ ธนาคารกลางของโลกอัดฉีดเพิ่มขึ้นมา มันคือการเพิ่มอุปทาน (Supply) ของเงินอย่างที่ไม่เคยเยอะมากกว่า
เราก็เชื่อไปว่า ยิ่งปริมาณเงินเยอะขึ้น เงินมันก็ควรจะเฟ้อ
และยิ่งปริมาณเงินมันเยอะขึ้นมาก ๆ เงินมันก็ต้องยิ่งเฟ้อหนักขึ้นไปอีก (Hyperinflation)
แต่สำหรับอีกฝั่งของนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่า สิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังทำอยู่นี้ กำลังจะพาโลกไปสู่ยุคเงินฝืด (Deflation) เราอาจจะยังไม่เข้าใจเหตุผลของมันมากพอ วันนี้ผมจะพยายามลองอธิบายดูนะครับ
อย่างแรกก่อน เราต้องเข้าใจก่อนว่า เราจะดูแค่สถานการณ์เศรษฐกิจตรงหน้าว่า “เหล่าผู้ประกอบการกำลังจะจัดการลดราคากระหน่ำ เพื่อดึงยอดขายกลับมา ทำให้เงินเฟ้อจะติดลบในไตรมาสหน้า” หรือมองอีกด้านว่า “ราคาอาหารจะพุ่งปรี๊ดแน่ ๆ เพราะคนกลัว COVID-19 รอบสองต้องตุนอาหารกันอีกเพียบ” แบบนี้คงไม่ได้ มันง่ายเกินไปที่เราจะตัดสินใจบนข้อมูลดิบแบบนี้ว่า โลกกำลังจะเคลื่อนไปสู่ทิศทางไหน
แต่สำหรับค่ายของนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนที่เชื่อว่า เงินฝืด รอเราอยู่ หนึ่งในข้อถกเถียงซึ่งเมื่อหยิบขึ้นมาอธิบายปั๊บ ก็ดูมีเหตุผลทันที ก็คือ เราอาจกำลังโดนหลอกด้วยภาพลวงตาที่เราเชื่อมาตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพรม์ตอนปี 2008 ว่า QE คือ การพิมพ์เงิน และเพิ่มปริมาณเงิน หรือ (Money Supply) แบบตรง ๆ
ความจริง QE นั้นเพิ่มฐานเงิน หรือ Monetary Base (ไม่ใช่เพิ่ม Money Supply) ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจจริง ตราบใดที่ธนาคารซึ่งได้เงินไปแล้วไม่ได้เอาไปปล่อยกู้ ผู้บริโภคไม่ได้กู้ไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
ดังนั้นถึงแม้เฟด และธนาคารกลางทั่วโลก (รวมถึงมาตรการจากการคลัง) จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบตอนนี้ในปริมาณมหาศาล แต่ Money Velocity หรือ การหมุนของเงินก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากจากมาตรการ Lockdown และการทำ Social Distancing
ยิ่งมีความเสี่ยงที่ประเทศแกนหลักของเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ จีน และ ญี่ปุ่น มีความเสี่ยงจะต้องเจอกับการระบาดรอบสอง ก็ทำให้คนในประเทศ และผู้ประกอบการทั้งหลายระมัดระวังในการใช้เงินเพิ่มขึ้นไปอีก การหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจจริงจึงยังไม่กลับมาที่จุดเดิมได้เร็ววันแน่ ๆ
Supply Shock นำไปสู่ Demand Shock
หากดูจากเศรษฐกิจจีนเป็นตัวอย่าง เราอาจจะมองโลกในแง่ดีว่า ตัวเลข PMI ฟื้นกลับมาขยายตัวได้แล้ว คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยกันแล้วหลัง COVID-19 ผ่านไป
กับประเทศอื่น อาจไม่เป็นเช่นนั้น สหรัฐฯ ยังมีปัญหากลุ่มผู้ประท้วง และอัตราการว่างงานที่พุ่งไปเกิน 40 ล้านคน ฐานะการคลังของกลุ่มประเทศในยุโรปที่มีหนี้ปริมาณไม่น้อยอยู่ก่อนหน้าวิกฤตครั้งนี้
คนไม่มีงานทำ จะเอาเงินที่ไหนมาใช้? และถึงได้เงินจากรัฐบาลมาใช้ จะใช้ได้เท่า ๆ กับก่อนหน้าที่เขาเหล่านั้นยังมีงานทำจริง ๆ หรือ?
แสดงว่าเฟดไม่ควรทำ QE แล้ว?
ดูเหมือนว่า ที่ตลาดการเงินทั่วโลกกลับมาผันผวนอีกครั้งตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว สาเหตุหลักก็มาจากการที่เฟดส่งสัญญาณว่า จะยังไม่อัดเงินเพิ่ม และเมื่อดูจากข้อมูลที่เฟดรายงานออกมา เดือนพ.ค. เฟดทำการซื้อสินทรัพย์ผ่านโครงการ QE ลดลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงแรกของการเกิดวิกฤต
เป็นไปได้สองทางครับ 1) เฟด เห็นสัญญาณแล้วว่า Unlimited QE ที่ทำไปรอบนี้ผลของมันอาจไม่เวิร์คเท่า ๆ กับ QE รอบก่อน ๆ หรือ 2) เฟดกำลังศึกษาหาทางเลือกอื่นมาใช้ควบคู่ เพราะรู้ว่า การขยายวงเงิน QE โดยไม่มีกลไกในการบริหารโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองในระยะยาว
ไม่ว่าการที่เฟดชะลอการซื้อสินทรัพย์ลง จะเป็นไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม เชื่อว่า มาตรการ Yield Curve Control (YCC) หรือ การกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในการควบคุมเส้นอัตราดอกเบี้ย จะถูกปล่อยออกมามาในไม่ช้าแน่ ๆ
เพราะหากดูจากอดีตตอนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจทำ YCC ตอนปี 2016 จะพบว่า ช่วงที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงต่ำ ๆ หรือติดลบ BOJ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการอัดฉีดจำนวนมากอย่างธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ที่เจอปัญหาแบบเดียวกัน
สุดท้าย ตอนเราจะรู้ว่า โลกจะวิ่งไปที่จุดใดระหว่าง Hyperinflation VS. Deflation มันอาจจะอยู่ตรงที่ตลาดกังวลตอนนี้ละครับว่า เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก จะปิดเมืองรอบสองหรือไม่?
Mr.Messenger