ตอนนี้หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นบางพื้นที่ในมณฑลเจียงซู, เจ้อเจียง และ กวางตุ้ง เริ่มขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า และมีหน่วยงานบางส่วนเริ่มออกนโยบายให้มีการปันส่วนเพื่อลดการใช้งานไฟฟ้า ซึ่งโดยรวมแล้ว ทั้ง 3 มณฑลนี้ คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของ GDP ทั้งจีน เนื่องจากมีโรงงานซึ่งถือเป็นฐานการผลิตใหญ่ ๆ ตั้งอยู่
อุตสาหกรรมเหล็ก อะลูมิเนียม และซีเมนต์ ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากมาตรการควบคุมการผลิตรอบนี้ของทางการจีน โดยกำลังการผลิตอะลูมิเนียมประมาณ 7% ถูกระงับ ขณะที่การผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศได้รับผลกระทบกำลังการผลิตหายไปเกือบ ๆ 30%
และผลกระทบอาจจะไม่ใช่แค่กับเศรษฐกิจของจีนเท่านั้น แต่อาจกระทบกับ Global Supply Chain ในสินค้าหลายประเภทด้วย ยกตัวอย่าง บริษัท Eson Precision Engineering บริษัทในเครือ Foxconn ซึ่งตั้งอยู่เมืองคุณซาน และเป็นฐานการผลิตหลักของ Apple และ Tesla ต้องระงับการผลิตชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. – 1 ต.ค. สาเหตุเพราะอยู่ในพื้นที่ที่ต้องลดการใช้งานพลังงานไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาลท้องถิ่น
วิกฤตพลังงานครั้งนี้ เกิดขึ้นจากสาเหตุใด?
ต้องบอกว่า มีหลายสาเหตุด้วยกัน ไปดูกันทีละประเด็น
1. ภาพใหญ่เลยคือ จีน ตอนนี้ผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก และนั่นก็ทำให้จีนกลายเป็นเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน นโยบายของทางการจีน เล็งเห็นถึงปัญหานี้ในระยะยาว ถ้าไม่แก้ไข จึงกำหนดนโยบายด้านพลังงานโดยมีเป้าหมายที่จะนำการปล่อยก๊าซคาร์บอนไปสู่ระดับสูงสุดภายในปี 2030 และทำให้เป็นศูนย์ภายในปี 2060
2. ซึ่งจากข้อ 1. มันต้องใช้เวลาอยู่แล้ว หนึ่งในนโยบายพลังงานของจีน ในตอนนี้ ก็คือ การบังคับใช้มาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษ ทำให้โรงไฟฟ้า ต้องผลิตไฟฟ้าจำกัดมากขึ้นเพราะ จีนผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วนถึง 77% และนี่คือ ตัวการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถึงจะผลิตเยอะในอดีต แต่มันก็ไม่เพียงพอต่อการใช้ไฟในประเทศนะครับ ยังต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศมาตลอดด้วย
3. คราวนี้ จริง ๆ ปกติจีน จะนำเข้าถ่านหินจากประเทศออสเตรเลียเป็นหลัก แต่นับตั้งแต่ต้นปี ความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่าง 2 ประเทศนี้ไม่ดีเลย นับตั้งแต่ออสเตรเลียเรียกร้องให้หาต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี จีนก็แบนการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียด้วย เลยต้องหันไปนำเข้าถ่านหินจากแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และโคลอมเบีย ซึ่งคุณภาพอาจจะต่ำกว่า และราคาต้นทุนค่าขนส่งที่แพงกว่า และทุกประเทศก็กำลังจะเปิดเมืองกลับบมา กลายเป็นว่า มาแย่งถ่านหินในเวลาใกล้ๆกัน ราคาก็แพงขึ้นมาอีก
4. อีกสาเหตุคือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีนเอง ก็เริ่มกลับมามากขึ้นเรื่อย ๆ บริษัท โรงงานต่าง ๆ ก็กลับมาเร่งกำลังการผลิตส่งออกสินค้า แน่นอนว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามันก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย แถมทางตอนเหนือของจีน อุณหภูมิในเวลากลางคืนก็ลดลงเนื่องจากการใกล้เข้าหน้าหนาว ความต้องการใช้พลังงานก็พุ่งขึ้นไปอีก
จีนจะออกจากวิกฤตพลังงานนี้ได้อย่างไร?
ปัญหาพลังงานขาดแคลนคือสิ่งที่รัฐบาลจีนต้องคอยแก้ปัญหาอยู่เรื่อย ๆ มาตลอด จากการที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทางแก้ในอดีต จีนก็เร่งเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าผ่านโรงงานไฟฟ้าถ่านหินให้โตทันความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมาตลอด
หลังจากนี้ จีนจะแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมไม่ได้แล้ว เพราะการเพิ่มโรงไฟฟ้า หรือเร่งผลิตไฟฟ้าในตอนนี้ จะเท่ากับจีนกำลังเร่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผิดไปจากนโยบายหลักที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซลง
ดังนั้น ทางออกระยะยาวของจีน ชัดเจนว่า ต้องเป็นการสนับสนุนพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หวังจะลดสัดส่วนการพึ่งพากำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ
โดยทางหนังสือพิมพ์ People’s Daily ของจีน ได้มีการรายงานว่า ณ สิ้นปีที่แล้ว กำลังการผลิตติดตั้งพลังงานสะอาดของจีน เพิ่มขึ้นมาแตะที่ระดับ 1 พันล้านกิโลวัตต์ แล้ว ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด คาดว่า นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป กำลังการผลิตติดตั้งพลังงานสะอาดจะมีสัดส่วนเกินครึ่งแล้ว นี่คือ ทิศทางที่จีนจะไป ในอนาคตอย่างแน่นอน
ซึ่งจุดแข็งของจีนในแง่ของนโยบายด้านพลังงานสะอาด ที่เหนือกว่า สหรัฐฯ นั้นก็คือ การที่นโยบายของสหรัฐฯผันเปลี่ยนไปตามการเมืองหากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของอดีตปธน.ทรัมป์ ก็มีนโยบายกลับมาสนับสนุนพลังงานจากฟอสซิล รวมถึงการพาสหรัฐฯออกจากความ Paris Agreement ก่อนที่จะกลับเข้ามาอีกครั้หลังนายโจ ไบเดน ได้รับการเลือกเข้ามาแทน
แต่ระยะสั้น จีนจะแก้ปัญหาการชาดแคลนพลังงานได้ ที่ดูจะทำได้เลยก็คือ การปันส่วน แบ่งเวลาการใช้พลังงานในช่วง Peak Time หรือ การเข้าไปปราบปราม ระงับกิจกรรมการใช้ไฟจำนวนมากที่ผิดกฎหมาย เช่น กรณีการปิดเหมืองขุดคริปโตฯ ในช่วงที่ผ่านมา
แล้วแนวทางแก้ปัญหาที่จีนทำอยู่ มันเพียงพอไหม?
ถ้าในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องบอกว่าไม่พอ เพราะตอนนี้ มีอย่างน้อย 3 เจ้า ที่ออกมาปรับประมาณการ GDP Growth ของจีนลง
Nomura ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ทั้งปี 2021 จากเดิมให้ไว้ที่ 8.2% เหลือ 7.7% ด้านนักวิเคราะห์ของ Morgan Stanley กล่าวว่าการลดกำลังการผลิตในจีน หากยืดเยื้ออาจทำให้ GDP ของจีนหายไป –1% ในไตรมาส 4 ปีนี้
และล่าสุด Goldman Sachs ปรับคาดการณ์ GDP Growth ของจีนลงสู่ระดับ 7.8% จากเดิม 8.2% โดยให้ความเห็นว่า ปัญหาขาดแคลนพลังงานและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงที่จีนเจออยู่ตอนนี้ ได้เพิ่มแรงกดดันให้เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง
แต่ Goldman Sachs ก็บอกว่า มันไม่ใช่ประเด็นเรื่องการขาดแคลนพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องการที่รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยี รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของ China Evergrande ด้วย ที่ทำให้มีการปรับประมาณการครั้งนี้
เรียกว่า ปีนี้ เป็นปีแห่งความท้าทายของทางการจีนจริง ๆ และมันส่งผลมาถึงนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นจีนตามไปด้วยนะครับ
ในฐานะของนักลงทุนที่มี Exposure การลงทุนในจีน ควรทำอย่างไร?
เราควรต้องกลับมาดูว่า สิ่งที่เราลงทุนนั้น ได้รับผลกระทบทางตรงจากเหตุการณ์นี้หรือไม่ และในช่วงที่ผ่านมา ราคามีการปรับฐานและซึมซับกับเหตุการณ์นี้ไปแล้วมากน้อยแค่ไหน
ความเห็นส่วนตัว มีมุมมองว่า นักลงทุนควรใช้จังหวะในวิกฤตนี้ หาโอกาสเข้าลงทุนในจีน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในแง่ราคาไปแล้ว และกลุ่มที่ได้ประโยชน์ทางนโยบายของรัฐบาลจีนในระยะยาว เช่น ธีมพลังงานสะอาด เป็นต้น นะครับ
- https://www.businessinsider.com/china-power-shortage-halts-apple-tesla-suppliers-stresses-supply-chain-2021-9
- https://www.reuters.com/business/energy/chinas-widening-electricity-crisis-caused-by-coal-shortage-kemp-2021-09-28/
- https://www.xinhuathai.com/china/213731_20210708
- https://www.cnbc.com/2021/09/28/goldman-sachs-cuts-chinas-gdp-growth-forecasts-amid-energy-crunch.html
- https://www.cnbc.com/2021/09/27/nomura-cuts-china-gdp-forecast-as-power-crunch-drags-down-growth.html
- https://www.barrons.com/articles/goldman-sachs-slashed-china-growth-forecast-to-zero-51632835741
Mr.Messenger รายงาน