การประท้วงในฮ่องกง อย่างที่เราทราบข่าวกันนั้น มีการพัฒนาขึ้นจากการชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่ทำให้จีนสามารถขอตัวผู้ต้องสงสัยที่ทำผิดในฮ่องกงไปดำเนินคดีในจีนได้ สาเหตุที่คนฮ่องกงจำนวนมากไม่ยอมให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านได้ก็คือ กลุ่มผู้ต่อต้านมองว่า จีน อาจใช้ช่องโหว่กฎหมายนี้ ในการตรวจสอบ และจับกุมผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันในอนาคตเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพ และอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจากจำนวนผู้ร่วมชุมนุมที่เราเห็นตามข่าว ก็ชัดเจนว่า ชาวฮ่องกงแคร์กับเรื่องนี้มากขนาดไหน
จนถึงตอนนี้ การชุมนุมกินระยะเวลาถึง 10 สัปดาห์แล้ว นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และเปลี่ยนกลยุทธ์จากการชุมนุมสถานที่เดียว มาเป็นการกระจายตัวชุมนุมและชุมนุมแบบเคลื่อนที่เร็ว เพื่อไม่ให้ตำรวจสกัดการชุมนุมได้เหมือน แล้วก็นำมาซึ่งปัญหาความรุนแรงอย่างที่เราเห็น
เหตุการณ์นี้ ถือเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจฮ่องกงเองหรือไม่?
คำตอบที่นักลงทุนมองเห็น หากมองจากตลาดหุ้น Hang Seng ศูนย์กลางการเงินของเอเชีย ก็ต้องบอกว่า เป็นความเสี่ยงแน่นอน
สิ้นปี 2018 Hang Seng ปิดที่ราคา 25,845.70 จุด วิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดของปี 2019 เมื่อเดือนเม.ย. ที่ระดับ 30,157 จุด แต่ตอนนี้ ดัชนี Hang Seng ลงมาที่ระดับเดิมเมื่อต้นปีอีกรอบ
จากต้นปี บวกไปจนถึงจุดสูงสุดของปี คิดเป็นการวิ่งขึ้น 16% และจากจุดสูงสุดเดือนเม.ย. จนถึงวันนี้ ร่วงมาแล้ว -15% ที่น่าสนใจคือ สัปดาห์ที่แล้วดัชนี Hang Seng มีร่วงลงมา 10 วันติดต่อกัน ถือเป็นการลบติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค. ย้อนกลับไปเมื่อปี 1984 เลยทีเดียว (แม้แต่ตอนวิกฤต Subprime ก็ไม่ไหลยาวติดต่อกันขนาดช่วงนี้)
ในปี 1984 ณ ตอนนั้นที่ตลาดปรับฐาน คือ เป็นการปรับฐานในช่วงที่ตลาดรับรู้ข่าวว่า จะเกิดปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษขึ้น ในปลายปีนั้น ซึ่งสาเหตุเพราะอังกฤษพยายามทำการเจรจาต่อรองกับเพื่อต่ออายุสัญญาเช่าซื้อเขตนิวเทร์ริทอรีส์ไม่สำเร็จจนต้องทำตามสัญญาและถอนตัวจากการปกครองฮ่องกงกลายเป็น “1 ประเทศ 2 ระบบ”
2 เหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นร่วงติดต่อกันยาวนาน มีจุดร่วมเหมือนกันก็คือ “เป็นเรื่องการเมือง” ซึ่งถือว่า มีผลต่อคนในประเทศฮ่องกงเอง และผลต่อเศรษฐกิจไม่น้อยทีเดียว
ลองนึกภาพว่า ถ้าฮ่องกงถูกปกครองโดยจีน 100% จริงๆตั้งแต่ตอนนี้ ก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่า เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรต่อไป
แต่ที่แน่ๆ เหตุการณ์ปิดสนามบินฮ่องกงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้ภาพความน่าสนใจของการทำธุรกิจในฮ่องกง เกิดความไม่แน่นอนขึ้นทันที นายสตีฟ ออร์ลินส์ คณะกรรมการแห่งชาติของประธานาธิบดีสหรัฐ – จีน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “ไม่เพียง แต่จะกระทบกับเศรษฐกิในระยะสั้น แต่ในระยะยาว – ถ้าคุณคิดถึงบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่ในฮ่องกง – พวกเขาจะคิดอย่างไร พวกเขาควรย้ายไปสิงคโปร์หรือไม่ พวกเขาควรย้ายไปไต้หวันหรือไม่ พวกเขาควรจะย้ายไปที่โตเกียวหรือไม่?”
รายงานจากทางการฮ่องกง พบว่า กรุ๊ปทัวร์จีนแผ่นดินใหญ่มาฮ่องกงลดลงจากเฉลี่ยเดือนละ 7,800 กรุ๊ป เหลือ 5,641 กรุ๊ป รวมถึง Occupancy Rate ในฮ่องกงลดลง 20% จากปีก่อนหน้านี้ ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่ CEO ของสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิกแอร์เวย์ Rupert Hogg บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าการจองขาเข้าฮ่องกงลดลงเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากการประท้วงแล้วมากกว่า -10% จากปีก่อน (นี่ยังไม่รวมผลกระทบจากการปิดสนามบินเมื่อวันจันทร์อีกนะ)
ชาวฮ่องกงต้องการเสรีภาพขนาดนั้นเลยหรือ?
ปัญหาสำคัญอีกอย่างที่คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงรู้สึกตอนนี้ก็คือ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ”
ฮ่องกงถูกจัดเป็นเมืองที่มีราคาที่ดินแพงที่สุดในโลก เฉลี่ยตกตารางฟุตละ $2,041 หรือประมาณ 63,000 บาท หรือ ราวๆ 673,000 บาท ต่อ ตารางเมตร ขณะที่เงินเดือนเฉลี่ยของชาวฮ่องกงอยู่ที่ $2,500 หรือคิดเป็นเงินบาท 77,500 บาท มีรายได้เหมือนเยอะ แต่ก็ค่าครองชีพสูง ไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเอง สื่งนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงโดยตรง แต่ก็คงอยู่ในจิตใจคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงไม่มากก็น้อย และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตของพวกเขาที่ดีกว่า
ว่าแต่… ราคาที่จ่าย คือ เท่าไหร่?
Mr.Messenger รายงาน