คำว่า Goldilocks ถ้าแปลแบบตรงตัวตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ก็คือ เด็กผู้หญิงผมยาว ซึ่งดูจะไม่ได้มีความหมายใดๆ ในเชิงเศรษฐศาสตร์นะครับ แต่เมื่อเอาคำว่า Goldilocks มารวมกับคำว่า Economy กลายเป็น “Goldilocks Economy” ก็ให้ความหมายที่ต่างออกไปทันที
Goldilocks Economy หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ร้อนแรงจนเกินไปจนมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แต่ก็ไม่ชะลอตัวเบาเกินไปจนมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
ขอให้ย้อนกลับไปถึงความหมายของคำว่า Goldilocks กันหน่อย
คำนี้ มาจากนินทานเก่าแก่ของอังกฤษที่มีชื่อเรื่องว่า The story of Goldilocks and three bears
เรื่องย่อของนิทานเรื่องนี้ ก็มีอยู่ว่า…
วันหนึ่งหนูน้อย Goldilocks เข้าไปในป่า เจอกระท่อมไม้แห่งหนึ่งซึ่งประตูเปิดแง้มเอาไว้ เป็นบ้านของครอบครัวหมี 3 ตัว แต่ไม่อยู่บ้านในตอนที่ Goldilocks ไปถึง
เด็กน้อยเห็นข้าวต้ม 3 ชามบนโต๊ะอาหาร เมื่อชิมชามของพ่อหมี ก็พบว่าร้อนเกินไป ไปชิมชามของแม่หมี ก็เย็นเกินไป จึงทานข้าวต้มของลูกหมีซึ่งอุ่นกำลังพอดี
พออิ่มแล้ว ก็จัดแจงทำความสะอาดกระท่อมหมีให้ เมื่อทำงานจนเหนื่อยเริ่มง่วง ก็ไปหาเตียงนอน โดยตัดสินใจนอนบนเตียงของแม่หมี เพราะเตียงของพ่อหมีใหญ่เกินไป ในขณะที่เตียงของลูกหมีก็เล็กเกินไป
เนื้อหาของนิทาน บอกถึงการปรับตัวของเด็กน้อย และการอยู่ร่วมในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างได้ด้วยการปรับตัวเอง
ณ ปัจจุบัน เหมือนสภาพเศรษฐกิจโลก จะเจอจุดดุลยภาพที่เรียกว่า Goldilocks Economy ซึ่งยิงยาวมาตั้งแต่ปี 2560 และน่าจะต่อเนื่องไปในปี 2561 เช่นกัน กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับค่อนข้างต่ำทั้งโลก ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกไม่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว หรือ เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนต้นทุนทางการเงินสูงเกินไป ในขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจก็ขยายตัวได้อย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไปได้ทั้งโลก เครื่องยนต์เดินเครื่องได้ ไม่ดับกลางคัน จนทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกไม่จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือ ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษอย่างที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
เมื่อเห็นความหมายของ Goldilocks Economy เช่นนี้ ก็จะพบว่า สัญญาณที่อาจทำให้ภาวะนี้เลือนหายไป ก็คือ
- เงินเฟ้อที่เร่งตัวแรงในอนาคต
- เศรษฐกิจที่ชะลอตัวแรงกว่าที่เราคิด
สิ่งไหนจะเกิดในปี 2561 นี้?
คำตอบในมุมมองของผมคือ ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ทั้ง 2 กรณีข้างต้น
ในมุมของการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อนั่น ข้อถกเถียงสำคัญที่นักลงทุนอาจกังวล ก็คือ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นมาเหนือ $65 ณ ปัจจุบัน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นแทบจะทุกหมวด จนหลายฝ่ายมองว่า ถ้าราคาน้ำมันยังไปต่อเรื่อยๆเช่นนี้ จะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นด้วยหรือเปล่า
แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือ การอ่อนค่าของค่าเงินดอลล่าร์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯเอง ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเลย แสดงให้เห็นว่า การบริโภคในสหรัฐฯเองซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของ GDP ยังไม่ได้ขยายตัวได้ดีตามที่เฟดตั้งเป้าหมายไว้ และอาจหมายรวมถึงว่า ภาคการส่งออกสหรัฐฯยังไม่ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของค่าเงินเท่าไหร่ เศรษฐกิจจึงขยายตัวได้อย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไปไม่ร้อนแรงขนาดนั้น (เงินเฟ้อในสหรัฐฯ คำนวนจาก PCE หรือ Personal Consumption Expenditure ไม่ใช่ CPI อย่างไทยเรา)
ส่วนโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวอย่างรุนแรง ผมมองว่า ก็มีความเสี่ยงจากอีก 2 เหตุการณ์นอกเหนือจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ก็คือ การเมืองสหรัฐฯ และ สัญญาณการก่อตัวของสงคราม
ตั้งแต่ ปธน.ทรัมป์ รับตำแหน่ง เราก็เห็นค่อนข้างชัดว่า พูดมากกว่าทำ และการพูดในหลายๆครั้ง ก็ไม่ใช่เป็นการพูดในประเด็นที่สร้างสรรค์ ออกจะสร้างศัตรูเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป ทำให้ การคาดการณ์ว่าสหรัฐฯจะดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางใด เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากมาก
ด้านมาตราการกีดกันทางการค้า ที่นายทรัมป์หาเสียงไว้เมื่อปลายปี 2559 นักวิเคราะห์เชื่อกันว่า หากเริ่มเห็นนโยบายเป็นรูปเป็นร่าง หรือบังคับใช้เป็นกฎหมายจริง ก็อาจนำมาสู่การยกระดับมาตรการกีดกันอื่นๆจากนานาชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเช่นกัน แต่ก็นะครับ ทุกอย่างยังเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้
ยกตัวอย่าง กลับไปช่วงต้นปี 2560 ตอนนั้น เหล่านักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างมองว่าปี 2560 เป็นปีที่มีความท้าทาย และความเสี่ยงสูงมาก ก็เพราะการเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิปดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์นี่ละ ถึงปี 2560 จะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆทางการเมือง แต่ก็ใช่ว่า สิ่งนี้จะไม่เกิดอะไรขึ้นเลยในอนาคต
ในฝั่งของประเด็นด้านสัญญาณการก่อตัวของสงคราม ที่เห็นว่าตึงเครียดที่สุดในตอนนี้ เห็นจะเป็น เกาหลีเหนือ กับสหรัฐฯ นะครับ โดยนักวิเคราะห์ด้านการเมืองระหว่างประเทศเริ่มให้ความเห็นว่า มีโอกาสสูงขึ้นที่สหรัฐฯอาจส่งกองกำลังเข้าไปประชิดชายแดนเกาหลีเหนือ หากเกาหลีเหนือยังพยายามทดสอบขีปนาวุธในอนาคต เช่นเดียวกับสงครามตัวแทนในเยเมน ระหว่างซาอุดิอาระเบีย ชาตินิกายสุหนี่ กับอิหร่าน ชาตินิกายชีอะห์
โดยรวมแล้ว ปี 2561 เศรษฐกิจโลกน่าจะอยู่ในภาวะ Goldilocks Economy ต่อไป แต่ก็มีความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้นที่เราต่อติดตามอย่างใกล้ชิดครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643643