สถิติบอกว่า ... ขาขึ้นของราคาทอง ยังไม่จบง่ายๆ

นับตั้งแต่ต้นปี 2019 จนถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาทองขยับขึ้นมาแล้วมากกว่า 16% ถือเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับหุ้นโลก หุ้นไทย ตราสารหนี้ หรือ โภคภัณฑ์ตัวอื่นอย่างราคาน้ำมัน จะมีแพ้ ก็แพ้แค่หุ้นสหรัฐฯ อยู่นิดหน่อย ซึ่งจากผลตอบแทนที่ดีขึ้นในปี 2019 นี้ ก็นำไปสู่คำถามที่ว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ราคาทองขยับขึ้นมาได้ค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งเหตุผลของการขึ้นของราคาทอง มาจาก 2 ประเด็นหลักๆ

1. คณะกรรมการ FOMC มีการเปลี่ยนจุดยืนด้านนโยบาย (Policy Stance) ถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ในการประชุมรอบที่ผ่านมา ออกมาในทำนองว่า จะพิจารณาภาพรวมของเศรษฐกิจและการลงทุนมากขึ้น การลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี สะท้อนว่า เฟดก็เห็นสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจ และพร้อมจะลดดอกเบี้ยมากขึ้น รวมถึงอีกหนึ่งสัญญาณที่ชัดเจนมากๆ ก็คือ การตัดสินใจชะลอการทำ QT เร็วขึ้น 2 เดือนจากที่กำหนดไว้ก่อนหน้า ก็แปล่วา เฟดเองไม่อยากให้สภาพคล่องในระบบถูกดูดกลับเร็วเกินไป และข้อมูลโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่สำนักข่าว Bloomberg ติดตามอยู่ ล่าสุด โอกาสเพิ่มขึ้นมาสูงกว่า 20%ซึ่งเป็นค่าที่อยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2009 หรือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เห็นแบบนี้ นักลงทุนในตลาด ก็จะเริ่มคิดถึงการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนยังสินทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่หุ้นมากขึ้น

2. ครั้นจะเอาเงินลงทุนขายออกจาตลาดหุ้น ไปลงทุนยังตราสารหนี้ ก็เจอปัญหาเดิมๆ นั้นก็คือ อัตราผลตอบแทนที่ต่ำเตี้ยติดดิน โดยพบว่า พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของ 11 ประเทศทั่วโลก ให้อัตราผลตอบแทนติดลบกันไปแล้ว (ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป จะมีที่นอกยุโรป ก็คือ ประเทศญี่ปุ่น) และประเทศที่ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) คำนวนจาก นำผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ พบว่า มีมากกว่า 19 ประเทศทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่า การถือตราสารหนี้ในเวลานี้ไม่ได้ให้ผลตอบแทนจูงใจอะไรแก่นักลงทุนเลย แต่สาเหตุที่เงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง เป็นเรื่องของความกลัวเศรษฐกิจชะลอ หรือ ถดถอยเสียมากกว่า ดังนั้น เงินลงทุนอีกส่วนจึงไหลมาเข้าลงทุนในทองคำ

ใครเป็นผู้ซื้อทองคำในรอบนี้?

กลับไปดูข้อมูลของ World Gold Council พบว่า เหล่ากองทุน ETF มีการสะสมทองคำแท่งมากขึ้นชัดเจนในเดือนมิ.ย. และก.ค. ที่ผ่านมา โดยซื้อทองไปมากถึง 127 ตัน และ 52 ตัน ตามลำดับ ถ้านับตั้งแต่ต้นปี กองทุน ETF เหล่านี้ สะสมทองไปแล้วถึง 6.4% ของขนาดกองทุน โดยเป็นเม็ดเงินลงทุนที่เข้ามาในกองทุน คิดเป็นมูลค่า 8.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือ มากกว่า 190 ตัน ทีเดียว ชัดเจนว่า ทองคำปีนี้ ผู้ซื้อหนักๆมาจาก Investment Demand หรือ ซื้อเพื่อลงทุน มากกว่า เพื่อไปทำอย่างอื่น โดยเป็นการซื้อผ่านกองทุน Gold ETF อย่างที่กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนั้น ข้อมูลจาก kitco.com ซึ่งเพิ่งรายงานออกมาสัปดาห์ที่แล้ว ก็พบว่า ผู้ซื้อรายใหญ่อีกราย ที่แอบสะสมทองมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นก็คือ “ประเทศจีน” โดยในปีนี้ จีน มีการซื้อทองเพื่อเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาต่อเนื่องทุกเดือน โดยสิ้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน รายงานตัวเลขการถือทอง อยู่ที่ 8.9 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยรายงานจากทางการจีน บอกว่า เฉพาะช่วงไตรมาส 2 (เดือน เม.ย. ถึง มิ.ย.) ที่ผ่านมา จีน ซื้อทองคำแท่งเข้าเป็นเงินทุนสำรอง สูงถึง 224 ตัน ถือเป็นตัวเลขการซื้อที่มากกว่านักลงทุนทั้งโลกที่ซื้อผ่านกองทุน Gold ETF เสียอีก การซื้อทองคำของจีน เป็นที่คาดการณ์กันได้อยู่แล้วว่า ก็เพื่อลดอิทธิพล หรืออำนาจของค่าเงินดอลล่าร์ลง ยิ่งมีสงครามการค้ากันอยู่ตอนนี้ ยิ่งชัดเจนว่า กลยุทธ์นี้ ในมุมมองของจีน อาจเป็นทางเลือกที่ถูกต้องเพื่อใช้ในการคานอำนาจกับสหรัฐฯ ที่ดีทางหนึ่ง

ในแง่ของสัญญาณบนกราฟเทคนิค พบว่า ราคาทองดีดตัวแรงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขึ้นมาเหนือ $1,500 นั้น ดูเหมือนจะขึ้นมาแรงและเร็วเกินไปในสายตาของนักลงทุนบางกลุ่ม แต่ถ้าดูจากการสะสมพลังในกรอบบริเวณ $1,150 – $1,350 มาเป็นระยะเวลา 3 ปี การขึ้นมารอบนี้ ก็มองได้ว่า ยังถือว่าน้อยเกินไปน้อย หากจะบอกว่า ราคาทอง หมดรอบขาขึ้นแล้ว และการผ่านแนวต้าน $1,350-$1,360 ขึ้นมา น่าจะเรียกว่าขาขึ้นรอบใหม่ เกิดขึ้นที่ตรงนั้น ดังนั้น แนวต้านที่ทองคำจะมีย่อแรงๆซักครั้ง จึงอยู่แถวๆ $1,550 – $1,570 น่าจะเป็นแนวต้านที่สำคัญจริงๆ

หลังจากนี้ ราคาทองอาจเริ่มผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนในประเด็นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน แต่ถ้าผันผวนลง ก็เป็นโอกาสในการกระจายการลงทุน มากกว่าจะบอกว่า ราคาทอง หมดรอบขาขึ้นแล้วนะครับ

Mr.Messenger

ที่มาบทความ: http://inews.bangkokbiznews.com/read/378057