ณ ตอนที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ ราคาทองในตลาดโลกขยับขึ้นมาอยู่ที่ $1,662.75 ทำจุดสูงสุดในรอบ 8 ปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจัยที่อยู่ในหน้าข่าวที่ทุกคนรู้กัน สาเหตุหลักก็มาจากการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 ซึ่งเพียงแค่วันที่ 22 ก.พ. วันเดียว ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะยานขึ้นไปสูงถึง 142 ราย จากผู้ติดเชื้อรายที่ 31 ของประเทศ ที่เป็นคุณป้าที่มีอาการป่วย แต่ปฏิเสธไม่ยอมให้หมอตรวจเชื้อตรวจด้วยเหตุผลเพียงว่า เธอไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ จะไปติดไวรัสตัวนี้ได้อย่างไร ซึ่งน่าสนใจนะครับ เพราะจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ทราบว่าคุณป้าได้รับเชื้อมาจากใครด้วยวิธีการใด
ขณะที่อิตาลีที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว 21 ราย อยู่ที่แคว้นลอมบาร์เดียถึง 19 ราย ส่วนอีก 2 รายอยู่ในแคว้นเวเนโต ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ รวมถึง ชายอังกฤษที่ไปร่วมงานสัมมนาที่ประเทศสิงคโปร์ เดินทางเข้าพักในประเทศสวิสเซอร์แลนด์และกลับอังกฤษ แพร่เชื้อให้คนในครอบครัวและเพื่อนร่วมทริปรวม 10 คน
ซึ่งเคสทั้งหมดที่ยกมานี้ ความกังวลคือ มันเป็นการกระจายเชื้อจากคนสู่คนในวงกว้าง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจด้วย
แต่ผมขอพากลับไปดูภาพรวมของอุปสงส์ อุปทาน ของทองคำจากรายงานของ World Gold Council Report กันก่อน เราจะได้เห็นภาพใหญ่และเข้าใจสถานการณ์ในภาพรวมเหมือนๆ กันนะครับ
ประการแรก Demand ของทองคำในปี 2019 ปรับตัวลดลงมาจากปี 2018 เล็กน้อยที่ -1% (YoY) มาที่ 4,355.7 ตัน แต่ที่น่าสนใจคือ เป็นการปรับตัวลดลงใน Q4/2019 -19% ซึ่งพอไปดู Demand รายประเทศจากรายงานของ WGC พบว่า จีนและอินเดีย คิดเป็น 80% ของ Demand ที่ลดลงใน Q4/2019 โดยสาเหตุเกิดจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น (ค่าเงินท้องถิ่นอ่อนค่า) และเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้คนจีนและอินเดีย ลดการถือครองทองคำ และขายทองทำกำไร เพื่อเพิ่มการถือครองเงินสด หรือ สินทรัพย์เสี่ยงต่ำในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว
แต่ที่น่าสนใจคือ Demand จากฝั่ง Investment ใน Q4/2019 กลับเพิ่มขึ้น +9% (YoY) มาที่ 1,271.7 ตัน หลักๆ มาจาก ETFs Demand ที่พุ่งสูงขึ้นถึง +426% (YoY) 401.1 ตัน ทั้งๆ ที่ Q4/2018 อยู่แค่เพียง 76.2 ตัน เท่านั้น สะท้อนว่า นักลงทุนสะสมทองคำเข้าพอร์ตในรูปแบบของกองทุน ETFs มากขึ้นผิดปกติ
ซึ่งพอไปดูว่า ETFs Demand มาจากนักลงทุนชาติใดก็พบว่า มาจากอเมริกาและยุโรปในสัดส่วนเกินกวาครึ่งมาตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2019 จนถึงสิ้นปีเลยทีเดียว พอย้อนกลับไปดูสถานการณ์ตอนนั้น ก็พอเข้าใจได้ เพราะ อยู่ในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้งติดต่อกัน ขณะที่ประเด็น BREXIT ก็อยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนนำมาสู่การแยกตัวกับสหภาพยุโรปเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยจากที่ผมได้ดูรายงานปริมาณการถือครองทองคำผ่าน ETFs เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า เหล่ากองทุน ETFs ถือครองทองคำแท่งกันแตะระดับสูงสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ราคาทองยังห่างจากจุดสูงสุดเดิมอยู่ไม่น้อย นี่ก็สนับสนุนเหตุผลว่า นักลงทุนเริ่มลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ และหันกลับมาให้ความสนใจในการถือทองคำเพิ่มขึ้นมาแล้วเป็นปีๆ
Demand การถือทองคำจากเหล่าธนาคารกลางในปี 2019 ที่ผ่านมาลดลงจากปี 2018 นิดหน่อยที่ -1% (YoY) มาที่ 650.3 ตัน แต่ที่ลดเยอะจริงๆ มาลดเยอะเอาตอน Q4/2019 ที่ลดลงไปถึง -34% (YoY) ทีเดียว โดยเป็นการชะลอการซื้อจากผู้เล่นหลักของวงการอย่างจีน โดยสาเหตุมาจากการที่จีนพยายามสร้างบรรยากาศการเจรจาการค้าให้ดีขึ้นด้วยการกลับมาซื้อดอลล่าร์เข้าเป็นทุนสำรองบ้าง แต่ถึงอย่างนั้น ธนาคารกลางทั่วโลกก็ซื้อสุทธิทองคำเข้าเป็นเงินทุนสำรองมา 10 ปีติดต่อกันแล้ว เป็นผู้ค้ำยัน และได้ประโยชน์จากราคาทองดีดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างแท้จริง
Demand อีกฝั่งที่ถึงจะมีผลต่อราคาทองน้อยหน่อย แต่ไม่พูดถึงก็ไม่ได้ คือ Demand จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งปีที่แล้วซบเซา คงต้องไปหวังแรงหนุนจากกลุ่ม 5G ทั้ง Semiconductor และโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็หวังไม่ง่ายแล้วจากเหตุการระบาดของ COVID-19 ในตอนนี้ โดย Demand ทั้งปี 2019 ลดลงจากปี 2018 ไป -2% (YoY)
โดยสรุป จากรายงาน พบว่า Demand ของทองคำแท่ง (Physical) จะมาจากเอเชียอย่างอินเดียและจีนเป็นหลัก (ขึ้นตรงกับสภาพทางเศรษฐกิจ) ซึ่ง ณ ปัจจัย บอกเลยว่า Demand ลดลงแน่นอน ส่วน Demand จากฝั่ง ETFs มาจากอเมริกา และยุโรป (ขึ้นตรงกับความเสี่ยงการเงินและการเมือง) และดูเหมือนจะมีแรงจูงใจให้นักลงทุนอเมริกาและยุโรป สนใจถือทองคำเพิ่มในพอร์ตมากขึ้นแทนถือหุ้น เพราะดัชนีหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ก็เดินหน้ามาซักพัก อยากจะเก็บกำไรเข้าพอร์ตบ้างก็คงไม่น่าแปลกใจอะไร
ระหว่างแรงขายจากเอเชีย กับแรงซื้อจากอเมริกาและยุโรป คุณว่าใครจะชนะ
Mr.Messenger
ติดตามราคาทองคำแบบ Real-Time ได้ที่ FINNOMENA MONEY บน LINE
https://liff.line.me/1597701222-kKX12QL0/?page=miniapp-market-gold-spot