เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2561 คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ไตรมาสแรกของปีนี้ออกมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.8% YoY ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส และเป็นการเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 4%
พอเห็นเศรษฐกิจไทยเราโตแบบนี้ นักลงทุนหลายคนก็คงดีใจ แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนก็คงสงสัยว่า มันไปโตที่ไหนกัน ดังนั้นบทความนี้ จะพาทุกท่านไปลองดูให้ครบทุกมุมแบบเร็วๆนะครับ
ไปที่มุมมองเศรษฐกิจที่ สศช. ประเมินไว้สำหรับปี 2561 นี้ทั้งปีกันก่อน
ถ้าดูเป็นการประมาณการจากรอบที่แล้ว (ณ วันที่ 19 ก.พ. 2561) เทียบกับรอบนี้ จะเห็นชัดขึ้นว่า สศช. มองต่างไปอย่างไร
ณ เดือนก.พ. 2561 คาดการณ์การขยายตัวของ GDP อยู่ที่ 3.6-4.6% มารอบนี้ ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.2%-4.7%
มุมมองต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ที่ทางสศช.ประมาณการ มองแบบนี้ครับ
ภาคส่วนที่ สศช. ปรับประมาณการเพิ่มขึ้น หรือ มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น ก็คือ การบริโภคภาคเอกชน (C), การลงทุนภาคเอกชน (I) และดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งก็คือ ผลรวมสุทธิของดุลการค้า ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน (X-M)
ขณะที่มีมุมมองว่า การขยายตัวด้านการอุปโภคและการลงทุนภาครัฐฯ (G) จะขยายตัวลดลงจากประมาณการครั้งก่อนนิดหน่อย
คราวนี้มาดูตัวเลขการขยายตัวในไตรมาส 1/2561 กัน ว่าออกมาเป็นอย่างไรในแต่ละส่วน
การบริโภคภาคเอกชน
ขยายตัวได้ 3.6% เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 3.4% โดยปัจจัยหลัก มาจากฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยจากภาครัฐ และการที่อัตราเงินเฟ้อรวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ก็เชื่อกระตุ้นการบริโภคได้
การลงทุนภาคเอกชน
ขยายตัว 3.1% เร่งขึ้นจากการขยายตัวที่ระดับ 2.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกันแล้วนะครับ เข้าไปดูข้างใน ก็พบว่า ในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว 3.1% ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัว 3.4% ถือว่าเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง -2.3% ในไตรมาสที่แล้ว
อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจในแง่ของการลงทุนภาคเอกชนก็คือ มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาส 1/2561 ออกมาอยู่ที่ 203.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 228.5% จากไตรมาสที่แล้วทีเดียว โดยเป็นมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 165.4 พันล้านบาททีเดียวนะครับ และตัวเลขอีกตัวที่น่าสนใจก็คือ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 52.4 สูงสุดในรอบ 24 ไตรมาสทีเดียว
การส่งออกสินค้า
ขยายตัวได้ 9.9% เป็นการขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ และเกือบทุกหมวดสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของเราไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอาเซียนนะครับ โดยกลุ่มสินค้าที่มูลค่าขยายตัวดี ตัวอย่างเช่น ข้าว (21.1%) มันสำปะหลัง (28.7%) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (41.1%) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (15.4%) รถยนต์นั่ง (18.5%) รถกระบะและรถบรรทุก (1.8%) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (9.4%) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (16.1%) และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (37.7%) เป็นต้น
ซึ่งถ้าไม่นับรวมอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่ขยายตัวได้ 37.7% ก็จะเห็นว่า กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดีๆ คือ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง ข้าว มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม นั่นเองครับ
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและการลงทุนของภาครัฐ
ไปดูที่การใช้จ่ายกันก่อน พบว่า ขยายตัว 1.9% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 0.2% หลักๆก็มาจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปกตินะครับ ขณะที่การลงทุนภาครัฐฯ ถือว่ากลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา ขยายตัวอยู่ที่ 4.0% จากที่ลดลง -6.0% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่เอาจริงๆ แล้ว เป็นการลงทุนในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้น 11.5% ขณะที่รัฐบาลเองการลงทุนลดลง -0.3%
ถ้าย้อนกลับไปดูข้อมูลตัวเลขจริงของไทยในปี 2560 ก็ต้องบอกว่า ทางสศช. มองเศรษฐกิจไทยเติบโตปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วค่อนข้างชัด และมองดีกว่าประมาณการที่เคยทำไว้เมื่อเดือนก.พ. ตอนที่ยังไม่ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2561
โดยตัวที่เป็นพระเอกสำคัญของปีนี้ เห็นจะเป็น “การลงทุนภาครัฐฯ” ซึ่งในปี 2560 ตัวเลขออกมาหดตัว -1.2% แต่ประมาณการล่าสุด สศช.มองว่า ขยายตัวได้ถึง 8.6% ทีเดียว (ถึงจะลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 10% ก็เถอะ) เรามารอดูกันว่า เมื่อเครื่องจักรตัว G เริ่มทำงาน เศรษฐกิจไทย จะโตไปได้ในระดับไหนหลังจากนี้นะครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644700