นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ดัชนี MSCI Emerging Markets บวกไปมากกว่า 16% ขณะที่หุ้นไทย แทบไม่ได้ขยับไปไหนนับตั้งแต่ต้นปี โดยเดือนทีดีที่สุดใน 5 เดือนแรกของปีนี้ ก็คือ เดือน ม.ค. ที่ SET Index บวกไป 2.23% โดยในช่วงเดือน ก.พ. ถึง พ.ค. ที่ผ่านมา ผลตอบแทนตามลำดับดังนี้ -1.13%, +1.00%, -0.56%, -0.30%, ลองไปเปรียบเทียบกับกองทุน iShares MSCI Emerging Markets ETF นับตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงเดือน พ.ค. นะครับ +6.66%, +1.74%, +3.69%, +1.70%, +2.85% สังเกตไหมครับ ไม่มีเดือนไหนในปีนี้ที่ผลตอบแทนตลาดหุ้นเกิดใหม่ติดลบเลย ถือว่าเป็นผลตอบแทน 5 เดือนแรกที่ดีที่สุดในรอบ 12 ปีเลยก็ว่าได้
คำถามคือ ตลาดหุ้นเกิดใหม่บวกขนาดนี้ ทำไมหุ้นไทยไม่ไปไหนเลย?
คำตอบแรกที่แสดงให้เห็นว่า Fund Flow เลือกเข้าเฉพาะบางประเทศเท่านั้น ก็เพราะดัชนีตลาดหุ้นไทยเราก็อยู่ในการคำนวณของ MSCI Emerging Markets ไม่ถึง 2% นะครับ ดังนั้น มันไม่จำเป็นว่า เงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ จะต้องเข้าในประเทศไทยด้วยตลอดเวลา
คำตอบต่อไป หากเจาะลึกเข้าไปดูจะพบว่าอุตสาหกรรม (Sectors) ที่ดัชนี MSCI Emerging Markets ให้น้ำหนักมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ IT (25.36%), สถาบันการเงิน (23.49%), วัตถุดิบ (8.25%), สินค้าฟุ่มเฟือยและกลุ่มบันเทิง (10.74%) , สินค้าจำเป็นพื้นฐาน (6.84%) ซึ่งหากมาเปรียบเทียบกับดัชนี SET Index บ้านเรา ก็จะพบว่า สัดส่วนที่ต่างกันอย่างชัดเจน ก็คือ น้ำหนักการลงทุนของกลุ่ม IT ซึ่งใน SET Index มีเพียงแค่ 2.37% เท่านั้น โดยหุ้น แค่ 3 ตัวใน Sector นี้ ก็มีน้ำหนักเกินครึ่งของกลุ่ม IT ทั้งหมด (มี DELTA, KCE และ HANA)
ขณะที่บริษัท IT ยักษ์ใหญ่ในระดับโลกฟากเอเชีย ซึ่งเข้าไปคำนวณอยู่ใน MSCI Emerging Markets อย่าง Tencent, Alibaba, Samsung, Taiwan Semiconductor หรือ Baidu นั้น สามารถสร้างปรากฏการณ์ Disruptive และทำกำไรเป็นกอบเป็นกำตามธีม Consumerism และการบริโภคภายในเอเชียที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ไทยเรา ขาดแคลนนวัตกรรม และความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอยู่พอสมควรนะครับ
แต่จริงๆ หากเราย้อนดูทิศทางค่าเงินบาท ก็จะพบหลักฐานที่ย้อนแย้งกัน เนื่องจาก ค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้นมาเกือบๆ 5% นับจากต้นปีเมื่อเทียบกับสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยหลักๆ การแข็งค่าของค่าเงินบาท มาจากการไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย โดยยอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปี เกิน 1.3 แสนล้านบาทไปแล้ว ซึ่งมากกว่าการเข้าซื้อปีที่แล้วทั้งปีเสียอีก และหากเทียบกับยอดซื้อสะสมของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยซึ่งมีเพียง 13,000 ล้านบาท ก็สะท้อนว่า เงินต่างชาติ เข้ามาไทยแต่ไม่ลงทุนในหุ้นไทยเท่าที่เราอยากให้เป็น ซึ่งตรงนี้ เหตุผลที่พอจะอธิบายเพิ่มเติมได้ก็คือ ล่าสุด เหมือนนักลงทุนจะลดความคาดหวังกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย พอมีมุมมองว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยช้าลง เงินไหลออกจากสหรัฐฯ ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่า เงินเหล่านี้ก็จำเป็นจะต้องไปหาที่อยู่ใหม่ และที่ที่น่าสนใจก็คือ สินทรัพย์ด้านการลงทุนของประเทศเกิดใหม่ทั้งตราสารหนี้ และตราสารทุน โดยดูได้จากกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ที่มีชื่อเสียงอย่าง Franklin Templeton Emerging Markets Bond Fund ก็มีผลตอบแทนนับจากต้นปีสูงกว่า 8% ทีเดียว
เพื่อตอบคำถามแบบสรุปอีกครั้งว่า Fund Flow ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ ทำไมหุ้นไทยไม่ได้ประโยชน์ คำตอบก็คือ ปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทย ยังคงเป็นที่สงสัยในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับโครงสร้างเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมด้านการแข่งขันที่เปลี่ยนไป การเข้ามาของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ยังหาบริษัทแบบนี้ในไทยที่ตอบโจทย์บนเวทีโลกยังไม่เจอ ก็ทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจากเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ในยามนี้
แต่ก็ไม่ใช่ว่า ปัจจัยพื้นฐานของไทยเราเองจะไม่มีดี การที่เงินยังไหลเข้าลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ก็สะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นกับเสถียรภาพของค่าเงินบาทในระยะยาว จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง หนี้สกุลเงินต่างประเทศของทั้งภาครัฐฯและเอกชนก็อยู่ในระดับต่ำนะครับ