Financial Life – EP 8 : อย่าวัดความ “รวย” ด้วยตัว “เงิน”
ติดตาม FINNOMENA PODCAST


ฝันของคนจำนวนมาก วาดไว้ว่าตัวเองจะต้องเป็นมหาเศรษฐีร้อยล้านพันล้านให้ได้ก่อนลมหายใจสุดท้าย บางคนอาจไม่ได้ฝันถึงตัวเลขแบบเป๊ะๆว่าจะเป็นเท่าไหร่ แต่ก็คิดไว้เล่นๆว่า เอาให้มากสุดเท่าที่เราจะทำได้

ฝันให้ยิ่งใหญ่นั้นทำได้ครับ เปรียบเหมือนโฆษณาหนึ่งที่พูดว่า “ตีลูกกอล์ฟ ต้องตีลูกให้ไกลถึงดวงจันทร์ ถึงพลาดเราก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว” ลองได้ฟังมาอย่างนี้ หวังอะไร เราก็หวังไกลๆไว้ก่อน ยิ่งใหญ่ไว้ก่อน โดยไม่ประเมินศักยภาพของตัวเองเลยว่าจะสามารถไปได้ไกลแค่ไหน พอนานเข้า เราทำได้ไม่ถึงครึ่งของเป้าที่ตั้งไว้ จากแรงบันดาลใจกลับกลายเป็นความท้อแท้หมดกำลังใจไปในที่สุด กลายเป็นปมในชีวิตทันที

ถ้าเราเป็นพนักงานบริษัทได้เงินเดือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ บาท วาดฝันว่าตัวเองจะมีเงินเก็บให้ได้ ๑๐ ล้านบาท ภายในสิบปี คิดเล่นๆว่าเงินเดือนที่ได้มา เราไม่ใช้เลยซักเดือน เก็บไปตลอดสิบปี ถามตรงนี้เลย คุณคิดว่าเป็นไปได้ไหมครับ? ลองดูตาราง ผมสมมติว่าเราเริ่มต้นทำงานในปีแรกเงินเดือน ๒๐,๐๐๐ บาท ทำงานเก่งมาก เงินเดือนขึ้นปีละ ๑๕% ทุกปี ได้มาเท่าไหร่ เก็บมันเท่านั้น และเอาไปลงทุนต่อเนื่อง ได้ปีละ ๕% ทุกปี

จากตารางข้างบน ผ่านไป ๑๐ ปี เงินออมเราอยู่ที่หกล้านบาทต้นๆเอง พลาดจากเป้าหมายไปเกือบๆ ๕ ล้านบาท หลายคนอาจจะเถียงผมว่า เรามีวิธีเพิ่มรายได้ทำให้เงินออมเราเพิ่มขึ้นด้วยวิธีอื่น เช่น หาอาชีพเสริม หรือ เปลี่ยนงาน ไปทำงานในที่ที่ให้เงินเดือนสูงกว่า หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ นำเงินออมที่ได้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ๕% ต่อปี อันนี้ก็ไม่เถียงครับ แต่อย่าลืมว่า ตัวอย่างที่ผมยกมาให้ดูอันนี้ หมายถึง เราได้เงินเดือนมาเท่าไหร่ เราไม่ใช้เงินนั้นเลยซักบาทนะครับ เพราะฉะนั้นในชีวิตจริงมันคงเป็นไปได้ยากกว่าตัวอย่างที่ผมยกมาให้ดู เห็นอย่างนี้เป้าหมายที่ตั้งไว้แต่แรก ดูจะไกลเกินเอื้อมขึ้นมาอีกเยอะ คิดไปคิดมา หมดกำลังใจออมเงิน กลับไปช้อปปิ้งเที่ยวเล่นกับเพื่อนดีกว่า นี่คือชีวิตจริงหลังจากเกิดความท้อแท้หมดกำลังใจไปก่อน

ลองเปรียบเทียบอย่างนี้ดูนะครับ ถ้าเรารู้ตัวว่าเป็นคนมีทุนน้อย เราก็ค่อยๆตั้งเป้าหมายของการเจริญสติปัญญาว่า เราจะเรียนรู้กายเรียนรู้ใจไปเรื่อยๆทุกๆวัน ขยันก็ปฏิบัติ ขี้เกียจก็ปฏิบัติ ไม่รีบร้อนเกินไป ทำไปเรื่อยๆ ส่วนอีกคน พอรู้จักพระพุทธศาสนาปุ๊บก็ลงมือปฏิบัติปั๊บ กะว่าจะบรรลุให้ได้ภายในหนึ่งปี ผลจากการปฏิบัติของคนสองคนนี้จะเป็นอย่างไร ผมอยากให้นึกกันเอาเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างเชื่อ ก็คือ ความสุขที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติของคนสองคนไม่น่าจะเท่ากัน

ใช่ครับ ผมกำลังจะบอกว่า บางครั้งความสำเร็จมันไม่ได้อยู่ที่การตั้งเป้าหมายให้สูงและบอกกับตัวเองว่าเราต้องวิ่งไปให้ถึงให้ได้ซักวัน นักวิ่งมาราธอน เป้าหมายของเขาคือเข้าเส้นชัยให้ได้ที่หนึ่ง เป้าหมายนั้นมีไว้สำหรับตอนซ้อม และก่อนออกสตาร์ท แต่พอตอนออกสตาร์ทไปแล้วนะ เขาจะค่อยๆมองไปทีละก้าวทีละก้าว ทำแต่ละก้าวให้เหมือนกับที่เคยซ้อมมา ลองถ้าคิดถึงเส้นชัย อยากจะไปให้ถึงเร็วๆ เร่งฝีเท้าตั้งแต่กิโลเมตรแรก รับรองหมดแรงก่อนแน่นอน

ปรับเป้าหมายให้เหมาะกับตัวเอง ความรวยของแต่ละคน เมื่อวัดเป็นตัวเงิน อาจจะไม่เท่ากัน จำไว้ การมีอิสรภาพทางการเงิน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เรามีมากกว่าคนอื่นเท่าไหร่ แต่มันขึ้นอยู่กับคำว่า “พอ” ที่มีในใจเรามากกว่าครับ ตัวอย่างก็ให้เห็นอยู่ทุกวัน คนรวยไม่จำเป็นต้องมีความสุข คนมีความสุขไม่จำเป็นต้องรวย

คำถามสำคัญคือ คำว่า “พอ” เนี่ย เท่าไหร่เราถึงเรียกว่าพอ?

ยากนะครับ เพราะต่างคนก็ต่างความคิดเห็น ส่วนตัวแล้วผมมองว่า ความสำเร็จมันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าจะต้องทำอย่างโน้น ต้องทำอย่างนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ เป็นขั้นตอนไปเรื่อยๆ แต่จุดเริ่มต้นของคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน การงาน หรือการปฏิบัติธรรม ก็คือ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน และการมีความเชื่อว่า ตัวเราสามารถไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ลองได้คิดอย่างนี้ ต่อให้มีปัญหารุมเร้า หรือมีอุปสรรคเกิดขึ้น เราก็มองว่ามันคือประสบการณ์ที่ดี ไม่ได้มองว่ามันเป็นความล้มเหลวของชีวิต กำลังใจที่ทำให้คนเราสามารถลุกขึ้นสู้ใหม่ได้แต่ละครั้ง เกิดจากการที่เราเคยพลาดและล้มลงในอดีต แต่ยังสามารถลุกขึ้นมาสู้ใหม่ได้ทุกครั้งๆนะครับ

ถ้าเราไม่วัดความรวยด้วยตัวเงิน แล้วเราควรวัดด้วยอะไร?

วัดด้วยความสุขดีกว่าไหมครับ สุขที่ได้เดินอยู่บนเส้นทางที่ไม่ประมาท สุขที่ได้วางแผนชีวิตอย่างมีสติ สุขที่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นทุกวันทุกวัน สุขที่ได้มารู้จักกับพระพุทธศาสนา ต่อให้เรามีเงินทองมากมายซักแค่ไหน ลมหายใจสุดท้ายของเราก็เอาเงินซักบาทที่เราหามาทั้งชีวิตไปด้วยไม่ได้นะครับ เราทำงานเก็บเงินสร้างฐานะ ก็เพื่อไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ครั้นจะไม่เก็บเลย มีเท่าไหร่ก็ใช้อย่างเดียว มันก็ดูจะประมาทเกินไป ใครจะรู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา ปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ตั้งใจปฏิบัติมากก็เครียด ไม่ตั้งใจปฏิบัติก็ไม่เห็นผล พระพุทธองค์ถึงสอนเราเรื่องการเดินทางสายกลาง ไม่ตึงจนเกินไป ไม่หย่อนจนเกินไป การอยู่บนทางสายนี้ต่างหากครับ ที่ยืนยันว่าเราจะพบกับความสุขอย่างแท้จริง ซึ่งความสุขแบบนี้ เราเรียกอีกอย่างว่า “ความพอดี” เมื่อมีคำว่า “พอ” เมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็ถือว่าเรารวยแล้ว

โชคดีในการลงทุนครับ 🙂โดย Mr. Messenger


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast

TSF2024