Financial Life – EP 6 : ลดคือเพิ่ม เพิ่มคือลด
ติดตาม FINNOMENA PODCAST


เชื่อว่าผู้อ่านคงเคยได้ยินวลีที่ว่า “เหรียญมี ๒ ด้าน” ซึ่งก็แปลความได้ตรงๆว่า ในโลกนี้ ทุกอย่างล้วนมีอีกมุมหนึ่งให้มองเสมอ อย่าคิดว่า สิ่งที่ตัวเองรู้ นั้นคือ ทั้งหมดของเรื่องราวที่เราพบ ใครที่ทำแบบนั้นอยู่ คนไทยเราเรียกอาการแบบนี้ว่า “เข้าข้างตัวเอง”

บรรพบุรุษเราเก่งนะครับ ใช้คำอธิบายความหมายได้เห็นภาพมากๆเลย นับถือๆ

ในเรื่องของเงินๆทองๆก็เช่นเดียวกันกับเรื่องอื่นๆครับ มีหลายด้านให้มอง ให้ค้นหา เพื่อหาจุดลงตัวของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนกัน

ปัญหาในเรื่องเงินๆทองๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องหลักๆอยู่ ๒ เรื่อง ก็คือ

๑. มีรายได้ไม่พอรายจ่าย
๒. รายจ่ายเยอะกว่ารายได้

ถ้าจะมีปัญหา จะมีปัญหาแค่ ๒ เรื่องนี้ เป็นเรื่องพื้นฐานเลยครับ จะหลุดจากกับดักความจน ก็ต้องแก้สมการ ๒ ข้อนี้ให้ออก ไม่อย่างนั้นก็ตกอยู่ใต้อำนาจของการหาเงินอยู่ร่ำไป

คนที่มีปัญหา มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย มองในมุมของเขา วิธีก็คือ พยายามหาเงินให้ได้เยอะขึ้น หารายได้พิเศษ ทำอาชีพเสริม ก็แล้วแต่ว่า จะจับโอกาสอะไรได้ ก็ทำแบบนั้น

ส่วนคนที่มีปัญหารายจ่ายเยอะกว่ารายได้ คือ รู้ว่าตัวเองใช้จ่ายเกินไป วันๆงานการก็ทำไม่เยอะ แต่เรื่องจ่ายเงินออกจากกระเป๋า กลับจ่ายเอาจ่ายเอา เงินไหลออกจากกระเป๋าเร็วกว่าน้ำตกทีลอซูซะอีก

คนแรก คิดเรื่อง หาเงินให้เยอะขึ้น คนที่สอง คิดเรื่อง ลดรายจ่ายให้น้อยลง คำถามคือ วิธีแก้ปัญหา มันมีแค่นี้จริงๆหรือ?

ลด คือ เพิ่ม หมายความว่า ลดรายจ่าย ก็เท่ากับ เพิ่มรายได้

เพิ่ม คือ ลด หมายความว่า เพิ่มรายได้ ก็เท่ากับ มีรายจ่ายลดลง (ตามสัดส่วน)

ดังนั้น สำหรับคนที่มีปัญหาพื้นฐาน ผมอยากให้มองทางแก้ปัญหาว่ามีมากกว่า ๑ ทาง แต่คุณสามารถทำหลายๆทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้

สาเหตุที่แนะนำเช่นนี้ ก็ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องการเดินทางสายกลาง ไม่ตึงจนเกินไป ไม่หย่อนจนเกินไป นั้นเอง

ถ้าเรามีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย พยายามคิดแต่จะหาเงินเพิ่มลูกเดียว ไม่สนใจสุขภาพ ไม่สนใจสิ่งอื่นรอบตัว ชีวิตก็ขาดความสมดุล เกิดความเครียด มีความทุกข์ แล้วงานที่คุณทำ มันจะออกมาดีได้อย่างไร ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณคิดจะลดแต่รายจ่ายท่าเดียว เค็มจนมหาสมุทรเรียก “พี่” กลายเป็นคนตระหนี่ ขี้ระแวง ขี้กังวล จะหาความสุขให้ตัวเอง ก็กลัวเงินในกระเป๋าจะหายไป เป็นแบบนี้ ก็ถือว่า สุดโต่งไปอีกฝั่ง

เราต้องหาจุดสมดุลของตัวเองให้เจอครับ บางคนอาจสามารถแก้ปัญหาด้วยการทำอาชีพเสริมเล็กๆน้อยๆ แล้วลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเช่น ทำกับข้าวทานเองที่บ้านเพิ่มขึ้น ปลูกผักสวนครัว ลดการช้อปปิ้ง ฯลฯ

ในขณะที่บางคน แค่ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย จากที่เคยเปลี่ยนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ทุกๆ ๖ เดือน ก็ใช้ซัก ๒-๓ ปีค่อยเปลี่ยน จากทานกาแฟสตาร์บัควันละ ๒ แก้ว ก็เหลือแก้วเดียว ทำเป็นเล่นไปนะครับ ประหยัดได้เดือนละไม่ต่ำกว่าพันบาทเลย ลองดู

ที่สำคัญ ถ้าอยากจะมีเงินเก็บจริงๆ ผมแนะนำให้ตั้งเป้าหมายการออมเงินให้ชัด ไม่งั้นภาพที่วาดไว้มันจะรางเลือนเกินไป จนเราเองนั้นล่ะครับที่ไม่ให้ความสำคัญและทำให้ตัวเองพลาดเป้าไปได้

ไล่ลำดับการจัดการปัญหาแบบนี้นะครับ

ลดรายจ่าย คือ เพิ่มรายได้
เพิ่มรายได้ คือ ลดรายจ่าย

มันต้องมีซักจุดครับ ที่เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่เครียดเกินไป ไม่ประมาทเกินไป การปฏิบัติภาวนาของเราก็จะดีขึ้น เรียกได้ว่า มีเสบียงไว้เลี้ยงตัว ทั้งในยามแก่ในชาตินี้ และตุนไว้ให้เรา ในชาติหน้า…

โดย Mr.Messenger


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast

TSF2024