Financial Life – EP 12 [จบซีซั่นแรก] : เพื่อนคู่คิด เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น
ติดตาม FINNOMENA PODCAST
ผมเคยเขียนบทความที่กล่าวถึงสัญญาณอันตรายที่เตือนเราว่า สุขภาพทางการเงินของเรา อาจไม่แข็งแรง และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา สุขภาพทางการเงิน ก็เหมือนกับสุขภาพร่างกายของคนเรานะครับ เพราะโรคบางโรคก็ส่งสัญญาณออกมาให้เห็นที่ภายนอกร่างกาย แต่โรคร้ายๆมักกลายเป็นว่าหากันไม่ค่อยเจอ ยกเว้นไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือรู้ตัวอีกทีก็อาการหนักเสียแล้ว
ถ้าร่างกายเรา เรายังต้องการตรวจสุขภาพประจำปี แล้วทำไมเรื่องเงินๆทองๆเราถึงไม่ยอมตรวจตราบ้าง?
จะตรวจสุขภาพทางการเงิน จริงๆแล้วเราสามารถตรวจเองได้ไม่ลำบาก แต่สำหรับคนที่ไม่มีความชำนาญ การพึ่งที่ปรึกษาด้านการเงิน ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียว
แล้วจะเลือกเพื่อนคู่คิดทางการเงินอย่างไรดี ก็ต้องดูตามนี้ครับ
๑. ต้องได้คุณวุฒินักวางแผนการเงิน
สำหรับคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในสากล มีชื่อว่า Certified Financial Planner (CFP) ซึ่งปัจจุบัน ผู้ที่มีคุณวุฒินี้ในไทย มีเพียงแค่ 111 คน (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2556) เท่านั้น แล้วพวกเขา ทำอะไรให้คุณได้? ผู้มีคุณวุฒิ CFP สามารถให้บริการวางแผนการเงินซึ่งประกอบด้วย แผนการลงทุน แผนการประกันชีวิต แผนภาษีและมรดก และแผนเพื่อวัยเกษียณแก่ลูกค้า ที่ครอบคลุมทั้งการให้คำปรึกษาและจัดทำแผนการเงินในทุกๆด้าน เรียกได้ว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้เรื่องการเงินส่วนบุคคลแบบครบวงจรทีเดียวครับ แต่เนื่องจากผู้ที่ได้รับคุณวุฒินี้ในไทยยังถือว่าน้อยมาก คุณก็อาจเลือกผู้ที่มีคุณวุฒิอีกชื่อ คือ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT หรือ Associate Financial Planner Thai แทนก็ได้ครับ
๒. เช็คประวัติย้อนหลังซักหน่อย
การตรวจสอบประวัติย้อนหลัง จะทำให้เราทราบประสบการณ์การทำงานของที่ปรึกษาทางการเงินว่า เขาเก่งในด้านใด เชี่ยวชาญเรื่องไหนเป็นพิเศษ ที่เห็นเยอะเลยก็คือ ที่ปรึกษาหลายคน ใช้ชื่อตำแหน่งว่า เป็นนักวางแผนการเงิน แต่จากประวัติในสายงาน พบว่า เป็นตัวแทนขายประกันชีวิตมาก่อน แบบนี้ เราก็ต้องพิจารณาด้วยตัวเองว่า สิ่งที่เขาแนะนำอยู่บนประโยชน์ของเราจริงๆ หรือเพียงแต่อยากได้ค่า Commission จากผลิตภัณฑ์ที่เสนอกับเรานะครับ
๓. สอบถามจากผู้ที่ใช้บริการอยู่ ณ ปัจจุบัน
ทางหนึ่งที่ดีที่สุดในการจะรู้ว่า ที่ปรึกษาการเงินท่านนี้ ไว้ใจได้หรือเปล่า ก็คือ การตรวจสอบการให้คำแนะนำกับลูกค้ารายปัจจุบัน หรือในอดีต ว่ามีความพึงพอใจมากน้อยแค่ไหนต่อบริการที่ได้รับ แต่การตรวจสอบตรงนี้ อาจจะยากซักหน่อย เพราะโดยปกติ เราเองก็คงไม่อยากให้ใครมารู้ว่าเราใช้บริการกับใคร และหน้าที่หนึ่งที่ที่ปรึกษาทางการเงินต้องมี ก็คือ การปกปิดข้อมูลลูกค้า และการเก็บความลับ ดังนั้น โดยปกติ เราจะได้รับข้อมูลจากการบอกต่อเท่านั้นครับ
๔. หลีกเลี่ยงที่ปรึกษาที่โอ้อวดว่า ฉันเหนือกว่าตลาด
สิ่งหนึ่งที่เราต้องการจากที่ปรึกษาด้านการเงินก็คือ อยากได้ผลตอบแทนสูงๆ ซึ่งเมื่อเราแจ้งกับที่ปรึกษาไปแล้ว เขาจะให้เราทำแบบประเมินความเสี่ยง วิเคราะห์ระยะเวลาการลงทุน ความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ทางการเงินของเรา และความคาดหวังต่อผลตอบแทน ซึ่งคำแนะนำควรอยู่บนพื้นฐานของตัวลูกค้า หรือตัวเราเอง แต่ในบางกรณีที่แผนอาจดูลำบาก ก็ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กันไป แต่เป็นเรื่องปกตินะครับ ใครๆก็อยากลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนสูงๆ ยิ่งเราเห็นวอร์เรน บัฟเฟต มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เขาทำผลตอบแทนได้สูงมากๆ เราก็คิดว่า คนเก่งๆคงทำให้เราได้ แต่ขอให้รู้ไว้ว่า มันเป็นไปได้ยากมากที่นักลงทุนจะสามารถชนะตลาดในอัตราผลตอบแทนที่สูงแบบยาวนาน เพราะฉะนั้น หากมีใครมาขายฝันคุณแบบนั้น ให้ตั้งธงในใจไว้ก่อนว่า ของเทียม
๕. จริยธรรม และคุณธรรม สำคัญที่สุด
เรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องเล่ารายละเอียดกันมากมายนะครับ ถึงแม้การได้มาซึ่งคุณวุฒิ CFP หรือ AFPT จะไม่ได้บอกว่า ต้องรักษาศีล 5 แต่ว่า จะทำธุรกิจกับใครซักคน ยิ่งเป็นคนที่เราต้องพึ่งเขาไปอาจจะตลอดชีวิต เพื่อให้คำแนะนำที่จริงใจกับเรา เราก็คงสบายใจกับผู้ที่มีศีลมีธรรมในจิตใจมากกว่า ถูกต้องไหมครับ
ว่าแล้ว เราก็ได้วิธีการเลือกเพื่อนคู่คิดด้านการเงินเรียบร้อย หลังจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวินัย และการจัดระเบียบชีวิตของเราแล้วครับ
สุขภาพร่างกายที่ดี หมอแค่มีหน้าที่ให้คำแนะนำ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
สุขภาพทางการเงินที่ดี ที่ปรึกษาการเงินมีหน้าที่แค่วางแนวทาง สิ่งที่เราห้ามปล่อยห่าง คือ การออมอย่างมีวินัย และใช้จ่ายอย่างรู้เท่าทัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้บอกทาง แต่จะเดินสู่ทางสว่าง เราก็ต้องปฏิบัติไปสู่หนทางนิพพานกันเองนะครับ
สวัสดี…ขอบคุณที่ติดตาม FINNOMENA PODCAST : รายการ Financial Life กันมาจนจบซีซั่นแรกครับ
ติดตาม PODCAST รายการอื่นๆ ได้ที่ https://www.finnomena.com/podcast/
ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี
App Spotify
https://finno.me/spotify
App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast
Apple podcast
https://finno.me/applepodcast
App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud
Podbean
https://finno.me/podbean
Youtube
https://finno.me/youtubepodcast