เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้

FOMC Meeting จะมีการประชุมอีก 3 ครั้งในปีนี้ โดยนักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์กันว่าที่ประชุมจะมีมติขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง

คือ การประชุมวันที่ 25-26 ก.ย. และการประชุมวันที่ 18-19 ธ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2018 นี้

ไปดูอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี ล่าสุด กลับมายืนเหนือ 3.0% อีกครั้ง สิ่งที่นักลงทุนรายย่อยอย่างเราสงสัยก็คือ ผลกระทบของการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯต่อเศรษฐกิจ และต่อตลาดหุ้น จะเป็นอย่างไร

ไปดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจก่อนนะครับ การขยับขึ้นของดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมขยับสูงขึ้น ถามว่าเป็นผลดีไหม ก็มองได้ 2 ด้านคือ หากดอกเบี้ยขยับขึ้นสูงและเร็วเกินไป ก็จะทำให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น และกระทบต่อการจะกู้ไปลงทุนในโครงการในอนาคต ดังนั้นนโยบายการเงินแบบตึงตัวเช่นนี้ แท้จริงแล้ว เป็นไปเพื่อคำนึงถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจมากกว่า มองอีกด้านคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนักที่จะดำเนินนโยบายทางอื่นนอกจากการขึ้นดอกเบี้ย สาเหตุเพราะ ล่าสุดสัญญาณจากอัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นมาเหนือระดับ 2.0% ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินนโยบายเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ในแง่ของการประกันความเสี่ยงในอนาคต เฟดเองก็จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพราะกดอัตราดอกเบี้ยลงมาต่ำเกินไปเป็นเวลานานจนนักลงทุนในตลาดขยับไปหาสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ โดยสนใจความเสี่ยงลดลง ซึ่งจะทำให้เกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์การลงทุนประเภทอื่นๆ ด้วย

ดังนั้นแล้ว ด้านผลกระทบต่อตลาดหุ้น กรณีที่เฟดทยอยขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น เมื่อดูจากเหตุผลแล้ว ตลาดหุ้นไม่ควรตกใจจากการขยับดอกเบี้ยนัก เพราะ Fed Fund Rate ที่ระดับปัจจุบัน ยังถือว่าต่ำกว่าในอดีตพอสมควร แต่สาเหตุที่ตลาดทุนมีความผันผวนในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วยหลายปัจจัย ทั้งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากตัวเลข Global Manufacturing PMI ที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาเรื่อยๆนับตั้งแต่ต้นปี 2018 รวมถึงความกลัวเรื่องประเด็นสงครามการค้าก็มีผลทำให้เกิดความผันผวนในตลาดทุนเช่นเดียวกัน

สิ่งที่เราเห็นก็คือ มีเพียงธนาคารกลางสหรัฐฯเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในตอนนี้ ที่สามารถขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ด้วยเหตุผลว่า เศรษฐกิจตนเองเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เหล่าประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม สาเหตุหลักมาจากกระแสเงินทุนไหลออก และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกินไป จนทำให้ไม่มีทางเลือก และต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐฯ

เหตุผลในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ดูจะไปในทางกังวลกระแสเงินทุน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯกับจีน ที่ผลกระทบน่าจะกระทบกับคู่ค้าจีน ประเด็นนี้ ถือว่าเป็นประเด็นใหม่เลยก็ว่าได้ และทำให้เกิดความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางเจ.พี. มอร์แกน ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี กับผลตอบแทนจากการลงทุนรายสัปดาห์ในดัชนี S&P 500 ตั้งแต่ปี 1963 ก็พบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจครับ คือ ในช่วงที่ 10-Year Treasury Yield ต่ำกว่า 5% พบว่าผลตอบแทนรายสัปดาห์ของดัชนี S&P 500 มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อกัน คือ ดัชนี S&P500 ยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีต่อเนื่องนั้นเอง และจนถึงตอนนี้ ก็ต้องยอมรับว่า การศึกษาของทางเจ.พี. มอร์แกน ยังคงมีความน่าเชื่อถือ เพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาล โดยไม่สนประเทศอื่นๆ รอบโลกว่ามีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้

ช่วงที่เหลือของปีนี้ สมมติตามที่ตลาดคาดการณ์ว่า FOMC จะมีมติขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ทำให้ Fed Fund Rate ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 2.25%-2.50% ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี จะขยับขึ้นไปอยู่แถวๆ 3.50% พิจารณาจากข้อมูลในอดีตที่เจ.พี. มอร์แกน ทำการศึกษา ก็จะพบว่า ยังต่ำกว่า 5.0% อีกพอสมควร และเมื่อดูข้อมูลจาก Fed Fund Futures ในตลาด CME ก็พบว่า นักลงทุนให้โอกาสที่คณะกรรมการเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2019 อีกไม่เกิน 3 ครั้ง ก็เท่ากับตลาดหุ้นจะยังคงได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่อีกอย่างน้อยๆ 1 ปี

แต่ทั้งนี้ ข้อมูลในอดีตก็ใช่ว่าจะแม่นยำเสมอไปนะครับ ปัจจัยแวดล้อมที่โลกเราเผชิญอยู่ในตอนนี้ ก็มีความแตกต่างจากในอดีตไปมากแล้ว ดังนั้นเราก็คงต้องวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ ประกอบไปด้วยเช่นเดียวกัน

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645602

TSF2024