ภาพการลงทุนในปีนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดที่นักลงทุนทุกคนในโลกกำลังจับตาก็คือ สุดท้ายแล้ว สหรัฐฯจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่? ดังนั้น ทุกๆครั้งที่มีการประชุม FOMC หรือประธาน Fed ออกมาให้สัมภาษณ์ใดๆก็ตาม จะมีฝ่ายตีความ พยายามแปลความหมายในคำพูดของนางว่า ในมุมของ Policy Maker (ผู้กำหนดนโยบาย) แล้ว เขามองเศรษฐกิจสหรัฐฯยังไง?

แล้วภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีผลกับการขึ้นลงของดอกเบี้ยอย่างไร?
หากเศรษฐกิจสหรัฐฯโชว์ว่าขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ก็แสดงให้เห็นว่า ตัวสหรัฐฯเอง น่าจะพร้อมรับกับสถานการณ์ที่ต้องแบกรับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นได้บ้างแล้ว ไม่ควรได้ Cheap Money ไปตลอด
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีหลักฐานอะไรที่โชว์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีปัญหา ก็อาจแปลว่า FOMC จำเป็นต้องขยายระยะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน เพื่อเป็นหลักประกันในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจริงๆ

ส่วนเรื่องว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯตอนนี้ดีหรือเปล่า เคยเขียนถึงตั้งแต่ปีที่แล้วนะครับว่า ตัวเลข Indicator ที่ Fed ใช้วัดเสถียรภาพของเศรษฐกิจนั้นดูดีขึ้น แม้การกระจายของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะลงไปไม่ถึงชนชั้นกลางอย่างที่ควรจะเป็นก็ตาม

ทำไมโลกต้องไปจับตาการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ?
เพราะเขาเป็นพี่ใหญ่ เงินตราที่ค้าขายกันอยู่ในโลกนั้น เกินกว่า 50% ซื้อขายกันเป็นสกุล USD ดังนั้น การขึ้นลงของดอกเบี้ย และทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐย่อมส่งผลต่อประเทศคู่ค้า และทิศทางค่าเงินสกุลอื่นๆเช่นกัน แต่ประเด็นที่ละเอียดลงไปอีกระดับ ก็คือ เพราะนับตั้งแต่วิกฤตปี 2008 เป็นต้นมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มันมาไม่พร้อมเพรียงกันเหมือนในวัฏจักรเศรษฐกิจรอบก่อนๆ หรือพูดอีกมุมหนึ่งก็คือ บางประเทศยังมีความเปราบางในแง่ของการฟื้นตัว ยกตัวอย่างคือ กลุ่มยูโรโซนที่มีปัญหากับประเทศสมาชิก, กลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ราคา Commodity ยังอยู่ในระดับต่ำ จากอุปสงค์ของโลกที่ชะลอตัว, หรืออย่างจีน ที่เปลี่ยนยุทธศาสตร์การขยายตัวของเศรษฐกิจจากโตด้วยส่งออก เป็นโตด้วยการบริโภคในประเทศ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว ดังนั้น ประเทศส่วนใหญ่ในโลก ยังต้องการนโญบายการเงินแบบผ่อนคลาย หรือ กดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

เห็นไหมครับ มันตรงกันข้ามกันสหรัฐฯตอนนี้เลย ที่เศรษฐกิจดูจะพร้อมขึ้นดอกเบี้ยก่อนคนอื่น ดังนั้น ในช่วงที่เกิดการสวนทางของนโยบายการเงิน (divergence) แบบนี้ ย่อมทำให้นักลงทุนกังวลว่า มันจะมีผลทำให้ Fund Flow ของโลกผันผวนหรือเปล่า

Fed00

นักวิเคราะห์เค้ามองว่า Fed Fund Rate จะเริ่มขยับขึ้นเมื่อไหร่?
จากโพลสำรวจของ CME Group พบว่า เกินกว่า 47% ของนักวิเคราะห์ที่ถูกสำรวจมองว่า FOMC น่าจะมีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือน มิ.ย. 2015 ที่จะถึงนี้ และหลังจากนั้น ทุกๆการประชุม น่าจะขึ้นดอกเบี้ยทีละ 10bps จนทำให้ปลายปีนี้ Fed Fund Rate น่าจะไปอยู่ที่ 0.75%

Fed01

 

ถ้าขึ้นดอกเบี้ยจริง เงินยิ่งไหลกลับเข้าสหรัฐฯทำให้ค่าเงิน USD แข็ง ถูกต้องหรือไม่?
การไหลของเงินทุน มันมักจะไหลเร็วกว่าความคิดของเราเสมอครับ นับตั้งแต่วันแรกที่มีการพูดถึงการขึ้นดอกเบี้ยหลังจากยุติ QE นั้น ค่าเงิน USD ก็แข็งค่ารวดเดียวเกินกว่า 15% เมื่อเทียบกับสกุลหลักๆอย่าง EUR หรือ JPY ดังนั้นมันแสดงให้เห็นว่า มีคนขนเงินกลับสหรัฐฯไปก่อนหน้าเราแล้วเกือบๆครึ่งปี ปัญหาคือ มันจะมีเงินไหลไปอีกหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ตอบยากในแง่ของแนวโน้มครับ แต่ถ้ามองที่ตรรกะอย่างเดียว การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ควรทำให้ USD อ่อนค่าลงไปได้ ไม่งั้น มันขัดกับการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวเกินไปซักหน่อย

Fed04

แล้วในแง่ของตลาดหุ้นละ เห็นเค้าบอก การขึ้นดอกเบี้ย ไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นนิ?
ตอนผมเรียน Eco 101 ผมก็คิดแบบนั้นครับ ฮาๆ แต่เมื่อดูตัวเลขสถิติย้อนหลังที่เกิดขึ้นจริงแล้ว จะเห็นว่า มันไม่ใช่ทั้งหมด
เพราะการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเริ่มต้นของวัฎจักรนั้น บริษัทส่วนใหญ่จะสามารถแบกรักต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นยังไม่มากได้สบายๆ ต่อเมื่อขึ้นดอกเบี้ยถึงจุดหนึ่งนะครับ ดอกเบี้ยจ่ายแพงมากๆ ก็ไปกระทบกับกำไรบริษัท จนทำให้ต้องไป Cut Cost ลดกำลังการผลิต ปรับลดโครงการลงทุน ฯลฯ เมื่อนั้นเราถึงเห็นผลร้ายของการขึ้นดอกเบี้ยต่อภาคธุรกิจจริง

แต่สำหรับสหรัฐฯนั้น ชัดเจนครับว่า การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เพราะระดับปัจจุบันมันอยู่ต่ำเกินไป ขึ้นนิดๆหน่อยๆ ก็เพื่อให้มันสะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง ใครที่กังวลว่า ตลาดหุ้นจะโดนเทหนักๆ ผมมองว่า ใจเย็นๆก่อนครับ อย่าเพิ่งขายล้างพอร์ตหนีไปก่อน เด๋วตกรถแล้วจะหาว่าไม่เตือน

หลักฐานอีกอย่าง (พิมพ์อย่างเดียว ไม่เห็นภาพเนอะ) ที่บอกว่า การขึ้นดอกเบี้ยในช่วงแรก ไม่ส่งผลต่อตลาดหุ้นก็คือ กราฟด้านล่างครับ St. Louis Fed ทำสถิติย้อนหลังวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ใน 5 รอบที่ผ่านมา เทียบความสัมัพนธ์กับ S&P500 พบว่า ช่วงก่อนการขึ้นดอกเบี้ย 6 เดือน 3 เดือน และ 1 เดือนนั้น S&P500 ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ส่วนหลังการขึ้นดอกเบี้ย พบว่า มีแค่ช่วงเดือนแรกเท่านั้นที่มีโอกาสขาดทุนเล็กน้อย แต่ถ้าถือได้ยาว 1-3 ปี ก็จะพบว่า ให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับสูงทีเดียว

Fed02

 

แน่นอน นั้นมันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ใช่ตลาดหุ้นไทย หรือที่ไหนๆบนโลกจะเป็นแบบนี้ทั้งหมด และยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่พอดีกัน มันยิ่งทำให้เชื่อได้ว่า เงินจะไหลออกจากประเทศที่อ่อนแอ วิ่งไปหาสหรัฐฯ หรือ ประเทศที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการออก QE ออกมาต่อสู้กับเงินฝืด ประเทศเล็กๆน้อยๆที่ภูมิต้านทานต่ำ คงต้องลุ้นกันหน่อยว่า Side Effect จะเป็นอย่างไร ถ้า FOMC คิดจะขึ้นดอกเบี้ยจริง ทั้งๆที่ประเทศอื่นเศรษฐกิจเขายังไม่ฟื้นอย่างตอนนี้ 🙂