สถิติบอกว่า ... หลังทราบผลการเลือกตั้ง หุ้นมักจะร่วง?

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ประเทศไทยเราผ่านการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วทั้งหมด 6 ครั้งด้วยกัน

และวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่จะถึงนี้ จะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 7 ในรอบ 24 ปี หรือ เลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีทีเดียว

การเลือกตั้งครั้งนี้ ในแง่ของทิศทางของประเทศไทย ก็น่าจะเป็นการตั้งเข็มทิศครั้งใหม่ของอนาคตของประเทศ ซึ่งในฐานะที่ผู้เขียนเป็นหนึ่งในประชาชนไทยก็ขอให้คนไทยศึกษานโยบายของพรรคต่างๆ ให้เข้าใจ และชวนกันออกไปใช้สิทธิใช้เสียงให้เยอะๆ นะครับ

กลับมาที่ การเลือกตั้งกับการลงทุน แน่นอนว่า ถ้าการเลือกตั้งมันจะสำคัญต่อประเทศขนาดนั้น มันก็ย่อมมีผลต่อตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นเดียวกัน วันนี้ผมเลยขอลองเอาสถิติเก่าๆ ของตลาดหุ้นไทยในช่วงการเลือกตั้งมาเล่าสู่กันฟังบ้าง

ถ้าย้อนดู 6 เดือนก่อนการเลือกตั้ง จากทั้งหมด 6 ครั้งในอดีต จะพบว่า 5 ครั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ผลตอบแทนเป็นบวก โดยเฉลี่ยบวกได้ +14% ครั้งที่ผลตอบแทน 6 เดือนก่อนการเลือกตั้งติดลบ คือปี 2539 ที่ดัชนีปรับตัวลงมากถึง -29% ก่อนที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จะคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนั้น ซึ่งเป็นที่โชคร้าย อย่างที่เราทราบกันดีว่า ในปี 2539-2540 ประเทศไทยประสบกับวิกฤตต้มยำกุ้งซึ่งลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตหนี้เอเชีย หรือ Asian Crisis ในเวลาต่อมา ทำให้ตลาดหุ้นไทย ปรับฐานรุนแรงจากจุดสูงสุด 1,789.16 จุด เมื่อม.ค. 2537 ร่วงลงมาต่ำกว่า 300 จุด ช่วงเดือนส.ค. 2540 เป็นการสิ้นสุดตลาดกระทิงที่เจ็บปวดที่สุดครั้งหนึ่งของนักลงทุนไทย

แล้วหลังการเลือกตั้งล่ะ หุ้นไทยเป็นอย่างไร?

ถ้านับที่ Time Frame 6 เดือน ข้อมูลถือว่าน่าสนใจมากๆ ครับ เพราะหลังการเลือกตั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา มีถึง 4 ครั้ง ทีเดียวที่ตลาดหุ้นไทยร่วงต่ำกว่าเดิม มีเพียง 2 ครั้งเดียวคือ การเลือกตั้งเมื่อเดือนส.ค. 2538 ซึ่งได้พรรคชาติพัฒนาของคุณบรรหาร ศิลปอาชาขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยหลังจากนั้น 6 เดือน ตลาดหุ้นไทยถึงบวกได้ ก็ได้แค่เพียง +2.8% และอีกครั้งคือ เดือน ม.ค. 2548 ที่พรรคไทยรักไทยได้เสียงข้างมาก หลังจากนั้น 6 เดือน ตลาดหุ้นไทยสามารถบวกได้ถึง +9.8%

และหลังการเลือกตั้ง 4 ครั้งที่ตลาดหุ้นไทยติดลบ เป็นการติดลบเฉลี่ย -7.4% ทีเดียว ซึ่งถ้ามองจากสถิติย้อนหลังเช่นนี้ อาจทำให้เราตีความไปว่า เราควรขายหุ้นออกเมื่อวันเลือกตั้งใกล้จะเข้ามาถึง และไปหาจังหวะซื้อที่ระดับต่ำกว่าหลังจากนั้น

ที่ต้องอธิบายเพิ่มเติมก็คือ การจัดตั้งรัฐบาลในแต่ละชุด แท้จริงแล้วบริบทของเศรษฐกิจในแต่ละช่วงก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้น ข้อมูลเพียงแค่สถิติเพียงเท่านี้ คงจะนำไปกำหนดเป็นกลยุทธ์ในการลงทุนเลย ก็คงจะเป็นไปไม่ได้

อย่างช่วงหลังการเลือกตั้งเดือนม.ค. 2551 ที่ได้คุณสมัคร สุนทรเวช ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็เป็นช่วงจุดเริ่มต้นที่ฝั่งสหรัฐฯ เกิดวิกฤตซับไพรม์ (Subprime Crisis) นำไปสู่การเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ซึ่งหากถามว่า เศรษฐกิจไทยกระทบอะไรกับปัญหาดังกล่าวหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า มีผลกระทบแค่บางส่วนซึ่งเล็กน้อยมาก แต่พอดูผลกระทบกับตลาดหุ้นไทย เราก็เห็นแล้วว่า ทำให้เกิดการปรับฐานรุนแรงตามมา

และอีกครั้งที่มีการเลือกตั้งเดือนก.ค. 2554 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ปัญหาหนี้ที่ฝั่งยุโรปลุกลาม (Euro Debt Crisis) และตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับฐานเพราะความกังกวลว่าสหภาพยุโรปอาจไม่ได้ข้อสรุปในการช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่มีปัญหา โดยเฉพาะประเทศกรีซ

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่สำคัญในการวิเคราะห์การลงทุน จึงพอสรุปได้ว่า ไม่ใช่แค่ดูว่าก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ตลาดหุ้นจะวิ่งทางในในอดีต แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาประเมินสถานการณ์ ภาพรวมเศรษฐกิจในตอนนั้น วิเคราะห์ธุรกิจ เจาะงบการเงิน ดูในรายละเอียดของหุ้นที่เราสนใจอีกที เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนระยะยาว

อ้าว แล้วนักเก็งกำไรระยะสั้นล่ะ?

งั้นขอให้ข้อมูลอีกตัวหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่มีกรอบการลงทุนสั้นหน่อยก็แล้วกันครับ สถิติบอกว่า เลือกตั้งทั่วไป 5 ครั้งที่ผ่านมาในอดีต หากนับแค่กรอบระยะเวลา 1 เดือนหลังจากวันเลือกตั้ง พบว่า ทุกครั้งมีการปรับตัวบวกขึ้นหลังเลือกตั้งเสมอ

ยกเว้นครั้งเดียว คือครั้งของ ชวลิต ยงใจยุทธในปี 2539

โดยเป็นการบวกดังนี้

สมัยบรรหาร ปี 2538 +0.45% (1 วันหลังจากการเลือกตั้ง)

สมัยทักษิณ 1 ปี 2544 +18.45% (19 วันหลังเลือกตั้ง)

สมัยทักษิณ 2 ปี 2548 +3.12% (22 วันหลังเลือกตั้ง)

สมัยสมัคร ปี 2550 +5.47% (5 วันหลังเลือกตั้ง)

สมัยยิ่งลักษณ์ ปี 2554 +9.86% (27 วันหลังเลือกตั้ง)

จากสถิติ มันบอกเรานะครับว่า “Election Rally” มีอยู่จริง!

แหล่งที่มาข้อมูล :-
BISNEWS
Bloomberg
www.set.or.th

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646786