Efficient Market Theory เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 110 ปีที่แล้ว โดยนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Louis Bachelier และได้รับการสืบทอดและพัฒนากันมาจนถึงปัจจุบัน ทฤษฏีนี้ บอกไว้ว่า financial markets are “informationally efficient” แปลเป็นไทยก็คือ ตลาดการเงินสามารถตอบสนองและสะท้อนถึงข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและแม่นยำ เรียกง่ายๆว่า นักลงทุนทุกคนรู้ข่าวพร้อมกัน และตอบสนองต่อข่าวนั้นด้วยความเข้าใจที่เหมือนกัน และไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน

… ไม่ต้องอธิบายต่อ ก็รู้ว่า ไม่มีตลาดหุ้นที่ไหนในโลกที่อยู่ภายใต้ Efficient Market Theory แน่นอน แต่ประเด็นคือ ถ้ามันเกิดขึ้นไม่ได้ และเป็นไปไม่ได้ แล้วทำไมถึงได้รับการยอมรับ และถูกยกตัวอย่างขึ้นมามากมาย? นี้เป็นประเด็นที่ผมเกิดอยากเขียน Blog อันนี้ขึ้นมาวันนี้ และถึงตอนนี้ ก็ยังไม่รู้หรอกครับว่าเพราะอะไร ก็ได้แต่หวังว่า เขียนไปเรื่อยๆเดี๋ยวฟ้าจะประทานคำตอบลงมาให้เอง ฮาๆๆ

ใครเรียน MBA Finance ต้องรู้จักผู้ชายคนนี้ “Eugene Fama” ใครไม่รู้จัก ก็ไม่จำเป็นต้องรู้จักครับ 555 เอาแค่รู้ว่า เขาขยายความทฤษฏีของ Louis Bachelier โดยตั้งสมมติฐานว่า ต้องมีเงื่อนไข 4 ข้อ ที่จะทำให้ตลาดหุ้นอยู่ภายใต้ Efficient Market Theory คือ

1. นักลงทุนมีความรู้สามารถวิเคราะห์ ประเมินคุณค่า และซื้อขาย หลักทรัพย์อย่างละเอียด
2. ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่สำหรับนักลงทุน ทั่วถึงและกว้างขวาง ในเวลาที่พร้อมกันและสามารถค้นหาได้อย่างไม่มีต้นทุน
3. ส่วนข้อมูลข่าวสารจำพวกเหตุการณ์ต่างๆ จะเกิดแบบ Random เช่น การประท้วงของแรงงาน วิกฤติในอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ต่อสินค้า
4. นักลงทุนตอบสนองต่อข่าวสารใหม่อย่างรวดเร็วและถูกต้อง เป็นสาเหตุให้ราคาปรับตัวอย่างรวดเร็ว และแม่นยำ

ข้อที่พอจะเป็นไปได้ ก็น่าจะเป็นข้อ 3 เพียงข้อเดียวในโลกแห่งความเป็นจริง ส่วนข้ออื่นๆ อย่างข้อ 1. กับข้อ 4. ยังไงก็ต้องมีมือใหม่ มือสมัครเล่น มืออาชีพ ตลอดเวลา ตลาดหุ้นไม่ใช่ระบบปิดซักหน่อย และนักลงทุนก็ไม่ใช่เทพจุติ จริงไหมครับ ส่วนข้อ 2. ถ้านักลงทุนนั่งอยู่บ้านรอโทรศัพท์โบรกฯอย่างเดียว แล้วเขาจะไปรู้ข่าวสารได้ยังไง หรืออย่างผู้บริหารร้อยทั้งร้อยก็รู้ข้อมูลงบการเงินบริษัทก่อน อยู่ที่จะมีจริยธรรมในการอาชีพเพียงใด
ใครที่เชื่อ Efficient Market Theory เขาจะเชื่อว่า นักลงทุนไม่สามารถหากำไรส่วนเกินจากตลาดได้ (ไม่สามารถสร้าง Abnormal Return) เพราะรู้เท่ากันหมด ไม่มีใครเก่งกว่าใคร ดังนั้นหากลงทุนในกองทุน คนกลุ่มนี้จะเลือกกองทุน Index Fund หรือ Passive Fund (แต่บางครั้งคนที่เลือกลงทุน Index Fund หรือ Passive Fund ก็ไม่ได้เชื่อ Efficient Market Theory นะครับ)

ใครที่ไม่เชื่อ Efficient Market Theory เขาจะเชื่อว่า นักลงทุน หากเก่งกว่า หาข้อมูลได้ดีกว่า วิเคราะห์ได้ตรงกว่า นักลงทุนผู้นั้นจะสามารถทำกำไรส่วนเกินจากตลาดได้ (สร้าง Abnormal Return) และจะมีคนที่คิดว่าตลาดไม่มีความยุติธรรม ตกเป็นทาสของระบบนี้อยู่ด้วยตลอดเวลา เพราะเมื่อมีคนได้กำไรมากกว่าค่าเฉลี่ย ก็แสดงว่า มีคนได้กำไรน้อยกว่าค่าเฉลี่ย เผลอๆ ขาดทุนด้วยซ้ำ คนกลุ่มนี้ หากลงทุนในกองทุน ก็จะเลือก Active Fund ไม่ก็พยายามหาหุ้นที่ให้ return สูงกว่าตลาด ไม่ซื้อ Index Fund ให้เมื่อยตุ้ม

นั้นไง อยู่ดีๆ คำตอบก็ลอยลงมาจากฟ้าแล้วววว หากมองแค่ผิวเผิน ดูเหมือนโลกเราไม่มีความยุติธรรมเสียเลย สวรรค์ส่งข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ใยต้องส่งเสี่ย ป. เสี่ย ส. เจ๊ ม. ลงมาในตลาดกับข้าด้วย!! (ฮาไหม^^) มองในทางกลับกัน มันยุติธรรมกับนักลงทุนที่ทำงานอย่างหนักเพื่อจะมีอิสรภาพทางการเงินแต่ได้ผลตอบแทนเท่าๆกับค่าเฉลี่ยหรือ?

ดูๆไป เหมือนกับ Louis Bachelier และ Eugene Fama พยายามจะบอกเราว่า เพราะเหตุใดตลาดหุ้นทั่วโลกถึงไม่เป็นไปตาม Efficient Market Theory มากกว่าที่จะพยายามอธิบายมันนะครับ เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็รู้แล้วว่าเราควรสร้างเหตุปัจจัยอะไรเพื่อการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า อะไรที่เราสามารถพัฒนาเพื่อเป็นมากกว่านักลงทุนค่าเฉลี่ย … ส่วนตลาดมันจะ Efficient หรือไม่ Efficient ก็ช่างมันเถอะครับ

โชคดีในการลงทุนครับ