การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเต็มสูบ...จะกลับมาในครึ่งปีหลัง

ครึ่งปีแรกของปี 2019 ถือว่า สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกให้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ

ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ High Yield Bond หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ แต่ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นแบบยั่งยืนกลับมีน้อยมาก ที่เห็นภาพชัดก็คือ  การขยายตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกที่ชะลอลง, แนวโน้มยอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็เริ่มถูกปรับลดประมาณการ

ถึงแม้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกจะได้รับข่าวดีหลังการประชุม G20 เจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความคืบหน้าก็ตาม ตามความขัดแย้งเบื้องหลังยังคงอยู่อย่างแน่นอน เพราะนี่คือการแข่งและแย่งชิงการเป็นมหาอำนาจของโลกในยุคถัดไป ที่กำลังทำให้สมดุลอำนาจของโลกเก่าอย่างสหรัฐฯ ถูกท้าทาย สงครามการกีดกันการพัฒนาและการเข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญา และการแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้า สิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่า ไม่มีใครกล้าการันตีว่า จะไม่ทำให้สองยักษ์ใหญ่หันกลับมาแยกเขี้ยวใส่กันอีกรอบในอนาคต แน่นอนว่า ประเด็นนี้จะนำมาซึ่งความเสี่ยงและความผันผวนให้กับตลาดทุนเป็นระยะๆ เราต้องเตรียมรับมือกันดีๆ

แต่ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้าในครึ่งปีหลังของปี 2019 ก็ต้องบอกว่า โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเหนือกว่ากรอบการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางเป็นไปได้ยากขึ้น มองว่า ธนาคารกลางจะพุ่งความสนใจไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องกังวลกับอัตราเงินเฟ้อว่าจะกลับมาเร่งตัวอีกหรือไม่ในครึ่งปีหลัง เนื่องจากพบสัญญาณและความเสี่ยงที่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักยังคงชะลอตัว นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนทั้งทางภาครัฐและเอกชน ต่างออกมาปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจกันถ้วนหน้า อย่างล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ปรับลดเป้า GDP Growth ของประเทศไทยเหลือ 3.1% จาก 3.7% หรือ กรณี World Bank ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจมาเลเซียเหลือ 4.6% จากเดิม 4.7% และประเทศบราซิล จากเดิม คาดว่า GDP จะโต 2.0% เหลือเพียง 0.8%

จะมีก็เหลือสหรัฐฯ ที่ GDP Growth ในไตรมาส 1/2019 ออกมาอยู่ที่ 3.1% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ จนทำให้ IMF ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ทั้งปี 2019 ขึ้นมาจาก 2.3% เป็น 2.6% แต่ก็จะพบว่า เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่า GDP ของไตรมาส 1 นั้นหมายความว่า จุดที่การเติบโตดีที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะผ่านไปแล้วก็ได้

ตัวเลขอีกด้านที่น่าสนใจคือ พอ GDP โดนปรับลด อัตราเงินเฟ้อคาดหวังในอนาคตก็ถูกปรับลดลงด้วย ตัวเลขเงินเฟ้อนี่สำคัญนะครับ เพราะหากเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นในอนาคตจริงๆ คนที่หายใจโล่งมากขึ้นเลยก็คือ “แบงก์ชาติ” ของประเทศต่างๆ เพราะในยามที่เศรษฐกิจเสี่ยงชะลอตัวเช่นนี้ การไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ จะทำให้แบงก์ชาติสามารถพิจารณาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้นับจากนี้

ย้อนกลับไปวันที่ 6 พ.ย. 2016 วันที่นายโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯและได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิปดี วันนั้น US Treasury Yield 30 ปี ให้อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.6%

มาถึงวันนี้ ช่วงเวลาที่ปธน.ทรัมป์อยู่ในตำแหน่ง Fed Fund Rate ปรับเพิ่มขึ้นจากวันนั้นที่ 0.50% ขึ้นมาอยู่ที่ 2.25% หรือ ขึ้นมา 7%

พอหันมาดู US Treasury Yield 30 ปี ให้อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.538% ต่ำกว่าวันที่ปธน.ทรัมป์เข้ามาดำรงตำแหน่งเสียอีก ทั้งๆที่ดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ปรับลดลงแม้แต่ครั้งเดียว

สิ่งนี้หมายความว่าอะไร? เราตีความได้ 2 ทางครับ

-ตลาดมองไปแล้วว่า เศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯอาจจะชะลอตัวต่อเนื่องหลังจากนี้ และเฟดเองก็ต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

-ตลาดอาจจะกังวลกับอนาคตมากเกินไป (Overreact) เลยไล่ซื้อพันธบัตรระยะยาวมาใส่ไว้ในพอร์ตไว้ก่อน

ถึงจุดนี้ จากสถิติย้อนหลังของ Bond Yield เราพบว่า มันไม่เคยผิดนะครับ และถ้าครั้งนี้ไม่ผิดอีก ก็แปลว่า มีแนวโน้มว่า ธนาคารกลางทั่วโลก จะกลับมาใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเครื่องมือแรกที่จะเห็นเลยก็คือ “การลดดอกเบี้ย” ครับ

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647629