นับจากจุดสูงสุดของต้นปี 2023 หุ้นของ Deutsche Bank ต่อไปนี้ขอเรียกว่า DB ปรับตัวลงมาแล้วมากกว่า -30%
เมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. 2566 หุ้น DB ร่วงลงทำจุดต่ำสุดจากวันก่อนหน้า -14.80% แต่ยังมีแรงซื้อกลับบ้างจนราคาปิด -8.53%
ถ้าจะบอกว่า แรงขายที่เกิดขึ้น เป็นแค่ Aftershock ต่อจาก Credit Suisse แต่ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ก็ดูจะมองโลกในแง่ดีเกินไปสักหน่อย
แต่ถ้าจะบอกว่า DB คือ โดมิโนตัวต่อไป ก็ต้องบอกว่า หากมองจากราคาหุ้นของเขาในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ธนาคารเขาก็เหมือนจะมีปัญหามาอยู่ก่อนแล้ว เพราะจากจุดสูงสุดที่ €86.23 ต่อหุ้น ที่ตลาดหลักทรัพย์เยอรมัน ล่าสุดเมื่อคืนปิดที่ราคา €8.54 ต่อหุ้น หรือคิดเป็น ติดลบ -90% แสดงว่า ปัญหาของ DB เรื้อรังมายาวนาน คล้ายๆกับ CS เหมือนกัน
และจากบทความที่แล้ว ถ้าคุณได้อ่าน อย่าลืมว่า DB ก็ถือเป็นอีก 1 ใน 9 ธนาคารระดับโลก “Bulge Bracket” เช่นเดียวกัน (อ่านได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/641201b25f981ccddeac0943?fbclid=IwAR3xx0cSDqjCymAg9t_La0zWIDg9DOHvuxWxr5bEIGkHqP5wXqIPDAzrfgU)
Deutsche Bank เป็นธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศเยอรมนี มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Frankfurt และมีการเปิดสาขาในหลายประเทศทั่วโลก ธนาคารนี้ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2444 (1900) หรือ 123 ปีก่อน
โดย Adelbert Delbrück และหลาย ๆ นักเงินที่มีความรู้ความชำนาญในการเงิน โดยเริ่มต้นธนาคารนี้มีชื่อว่า “Deutsche Bank” เพราะว่าเป็นธนาคารแห่งแรกในเยอรมนีที่มีสมาชิกคือคนเยอรมัน และได้มีการยอมรับว่าเป็นธนาคารแห่งชาติเยอรมนี
หลังจากวิกฤตการเงินโลก (Global Financial Crisis) ในปี 2008 ที่เกิดขึ้น DB เป็นหนึ่งในธนาคารที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะมีปัญหาในการจัดการด้านการเงินของธุรกิจของตนเอง ซึ่งมีการให้สินเชื่อในปริมาณมาก
โดยเฉพาะในตลาดสินเชื่อที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (subprime loan) ที่เป็นระเบิดลูกสำคัญทำตลาดหุ้นถล่มทลายในช่วงนั้น ทำให้ธนาคารต้องตัดสินใจลดงบการลงทุนในตลาดสินเชื่อดังกล่าวลง
และ DB ก็ต้องเปิดเผยข้อผิดพลาดในด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคารออกมา ซึ่งส่งผลให้ธนาคารต้องจ่ายค่าปรับและค่าสินไหมทดแทนสูงในอดีต และมีผลกระทบต่อค่าหุ้นของธนาคารนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ไปดูกำไรสุทธิของ DB นับตั้งแต่ปี 2008 กัน (ข้อมูลสรุปจาก Statista)
2008 -€3,896 million
2009 €4,958 million
2010 €2,330 million
2011 €4,326 million
2012 €316 million
2013 €681 million
2014 €1,691 million
2015 -€6,772 million
2016 -€1,356 million
2017 -€735 million
2018 €341 million
2019 -€5,265 million
2020 €624 million
2021 €2,510 million
2022 €5,659 million
จะเห็นว่า DB มาเจอขาดทุนหนัก ๆ ก็ปี 2015-2016 ซึ่งช่วงนั้น DB ตกลงร่วมกันกับกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ (US Department of Justice) เพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากคดีเงินฝากของลูกค้า High Net Worth ที่ไปลงทุนใน mortgage-backed securities (MBS) โดยจ่ายค่าปรับเป็นเงินสูงถึง $7,200 million
นักลงทุนทั่วไป รวมถึงผม ได้รู้จัก CoCo Bond ครั้งแรกก็ในปีนั้น เพราะ การที่ DB ถูกปรับหนักขนาดนี้ มันไป trigger ให้นักลงทุนกลัวว่า ธนาคารจะใช้สิทธิแปลงตราสารหนี้ CoCo Bond เป็นหุ้น แต่ก็ผ่านมาได้ ไม่มีการ convert นะครับ
เหตุการณ์นั้น ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวด้วยการทำ restructuring plan เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจในอนาคต โดยมีการประหยัดทรัพยากรและลดต้นทุนในหลายด้าน เช่น ลดอัตราการจ้างงาน ลดจำนวนสาขา ลดปริมาณการซื้อพื้นที่ใช้สำนักงาน ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ เปลี่ยนแผนกลยุทธ์ในการลงทุน
ซึ่งแผนการในครั้งนั้น ก็นำมาสู่ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่และทำให้ในปี 2019 ธนาคารขาดทุนสุทธิ -€5,265 million
เอาเข้าจริง ก็เหมือนว่า DB จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่มีปัญหาคาราคาซัง เคราะห์ซ้ำกรรมซัดแบบ CS และทำให้ตั้งแต่ปี 2020 จนถึง 2022 ธนาคารกลับมากำไรได้อย่างต่อเนื่อง
แล้วทำไม Deutsche Bank ถึงมาอยู่ใน Spotlight แทน Credit Suisse ในวันนี้?
เพราะ CDS (Credit Default Swap) ของ DB ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนว่านักลงทุนกลัวว่าธนาคารอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยเมื่อคืน CDS หุ้นกู้ Subordinated Bond ของ DB พุ่งขึ้นไปถึง 560 จุด หรือ คิดเป็นโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 31% ถึงไม่สูงเท่ากรณีของ CS แต่ก็ใกล้กับตอนเจอโควิด หรือ ตอนจ่ายค่าปรับตอนปี 2016
และไม่ใช่ DB ที่นักลงทุนขายหุ้นกันออกมาตอนนี้ แต่หุ้นธนาคารในยุโรปก็โดนเทกันทุกตัว
อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าไปดูฐานะการเงินของ DB ในตอนนี้ และปัญหาของ DB ที่ถูกแก้ไขในทิศทางที่ถูกต้อง นักวิเคราะห์จาก Autonomous Research ก็ยังออกมายืนยันว่า DB ไม่ใช่ the next CS
ถ้าดูที่ LCR หรือ Liquidity Coverage Ratio ตอนนี้ก็อยู่เกิน 100% ถึงแม้จะต่ำกว่า standard ของแบงก์ในยุโรป แต่ก็อยู่สูงกว่าแทบทุกธนาคารที่อยู่ในสหรัฐฯ
ในฝั่งของเงินสด DB ก็มีเงินสดในงบเยอะกว่าก่อนเกิดวิกฤตปี 2008
ที่น่าห่วงกว่า อาจจะเป็นเหตุการณ์ Bank Run ที่ยังเกิดอยู่กับธนาคารในสหรัฐฯ โดยล่าสุดตัวเลขเงินฝากในธนาคารสหรัฐฯ ที่เฟดสาขาเซนต์หลุยส์ทำข้อมูลไว้ ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงว่า ไม่ใช่แค่คนแห่ถอนจากแบงก์เล็กเท่านั้น แต่เริ่มมีการโยกเงินฝากออกจากธนาคารไปกระจายความเสี่ยงยังสินทรัพย์อื่นกัน
ซึ่งเขาอาจจะไปหลบความเสี่ยงในทองคำ หลังขึ้นทดสอบ $2,000 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หรือ แบ่งไปซื้อ Bitcoin เพราะยังอยู่ในระดับต่ำ
หรือ อาจจะกลับไปซื้อหุ้นเทคในสหรัฐฯ เพราะเราก็เริ่มเห็นความเอาไม่ลงของหุ้นเทคหลายตัว หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียงแค่ 0.25% และ dotplot ก็ไม่ได้ขยับ terminal rate ไปไกลกว่าที่นักลงทุนในตลาดคาดหวัง ณ ตอนนี้
สรุปคือ ผมมองว่า DB อาการไม่หนักเท่า CS และมีการปรับโครงสร้างองค์กรมาแล้วก่อนหน้านี้
แต่เราก็เห็นกันแล้วว่า อะไรที่เราไม่รู้ อยู่ดี ๆ มันก็โผล่ขึ้นมาได้อีก
ที่สำคัญคือ ธนาคารกลางทั่วโลก ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยกันหมดในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ECB +50bps
Swiss Central Bank +50bps
Fed +25bps
BOE +25bps
Australian Central Bank +25bps
Norway Central Bank +25bps
ทุกธนาคารกลางข้างบน ยังส่งสัญญาณว่า ดอกเบี้ย จำเป็นต้องขึ้นต่อเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ
คุณว่า มันจะมีธนาคารที่ทนไม่ได้กับดอกเบี้ยที่สูงกว่านี้เเพิ่มขึ้นมาตามหลัง SVB , SB และ CS อีกไหม? น่าคิด….
แหล่งที่มาข้อมูล :-
https://www.statista.com/statistics/266513/net-income-of-deutsche-bank/
https://www.db.com/news/detail/20230202-full-year-results-2022?language_id=1
https://www.cnbc.com/2016/12/22/deutsche-bank-reaches-settlement-with-doj-on-mortgages-case.html
https://www.reuters.com/article/us-deutsche-bank-bonds-idUSKCN11Y1RQ
https://www.theguardian.com/business/2019/jul/24/deutsche-bank-posts-worst-quarterly-loss-in-four-years
https://fred.stlouisfed.org/series/DPSACBW027SBOG
Mr.Messenger รายงาน