เอากรณีศึกษาของเศรษฐกิจโลก มาย้อนดูตัวเรากันซักหน่อยนะครับ ยิงปืนนัดเดียว ได้นก 2 ตัว ไปเลย ไหนๆคุณก็หลวมตัวกดเข้ามาอ่านบทความนี้กันแล้ว โฮะๆ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปดำดิ่งลงมาปิดโซนแดง ก็คือ การที่ IMF ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2014 และ 2015 ลงอีก แต่ถ้าถามว่าปรับลงแย่เลยหรอ ก็ต้องบอกว่า ลดนิดเดียวเท่านั้นครับ แต่เหตุที่ตลาดหุ้นอาจจะปรับลงแรงหน่อย ผมมองว่า น่าจะเพราะ มันอยากลงมาซักพักแล้ว แต่หาเหตุให้ลงไม่ได้ซักที 🙂

ณ เวลาที่ผมเขียนบทความนี้ ตลาดหุ้นเกินครึ่งหนึ่งของโลก เทรดที่ระดับ PE สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี กันไปแล้ว แต่ข้อดีคือ ยังไม่มีตลาดหุ้นไหนที่เทรด P/E แพงกว่าช่วงที่เกิดวิกฤต (Crisis) ในรอบก่อนๆ ดังนั้น ยังไม่ต้องกังวลมากไปในระยะสั้นๆครับ

แต่ที่น่าสนใจ จนทำให้ผมอยากเขียนบทความนี้ก็คือ Global Competitiveness Report 2014-2015 ของ World Economic Forum (WEF) นั้นมีรายงานเศรษฐกิจโลกและความสามารถในการแข่งขันที่น่าสนใจที่ผมอยากแชร์ ใครสนใจฉบับเต็ม ตามไปเสพได้ที่ >> http://www3.weforum.org/docs/WEF_GlobalCompetitivenessReport_2014-15.pdf

เจ้า Competitiveness หรือ ความสามารถในการแข่งขันที่ว่านี้ ทาง WEF เขาวัดทั้งหมด 12 อย่าง ว่าประเทศสมาขิกทั้งหมด 144 ประเทศทั่วโลกเนี่ย ใครอยู่อันดับไหนในแต่ละหมวดหมู่บ้าง ซึ่งผลสรุปออกมาที่น่าสนใจมี 3 ประเด็นด้วยกัน

1. ในช่วง 3-4 ปี หลังวิกฤตปี 2008 มานี้ เศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่บางแห่ง มี Productivity Growth หรืออัตราการเติบโตของการผลิตสินค้าและบริการที่ลดลง (ยังผลิตได้มากขึ้น แต่อัตราเร่ง ไม่เท่ากับก่อนวิกฤตปี 2008) ซึ่ง WEF ให้มุมมองว่า สาเหตุหลัก มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่ซับซ้อน จนทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ คิดอยากแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอื่น มากกว่าการรื้อโครงสร้างระบบตัวเอง และนั้นก็ตามมาด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านนโยบายการเงินและการคลังเพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดแบบทันทีทันใด

2. ด้วยวิธีการแก้ปัญหาโดยมุ่งแก้ด้านเดียว (แก้ที่ตลาด และระบบการเงินเพียงอย่างเดียว) จึงทำให้ IMF ลดประมานการณ์ตัวเลขอีกตัวหนึ่งคือ Potential Growth หรือ ศักยภาพการผลิต ของกลุ่มประเทศเหล่านั้นลง และผลจากการวิเคราะห์ก็คือ แสดงว่า เศรษฐกิจโลกจะมีโอกาสน้อยลงไปอีกมากๆ ที่จะสามารถดันให้ GDP Growth โดยรวม วิ่งกลับไปได้ในระดับก่อนวิกฤตปี 2008 และยิ่ง Growth ไม่มี แน่นอนว่า มันเป็นอุปสรรคต่อการล้างหนี้ของสหรัฐฯ ที่ก่อจาก QE มาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้เฉพาะดอกเบี้ยจ่ายที่ Fed ต้องควักจ่ายเจ้าหนี้ทั้งหมดเนี่ย ว่ากันว่า อยู่ราวๆ $500 Billion ทีเดียว (เกือบเท่า Market Cap. ของหุ้น Apple เลยนะครัชชชช)

3. WEF ชี้ให้เห็นแนวทางที่ควรทำ (แต่ไม่ยอมทำกันซักที) เพื่อที่โลกจะหลุดออกจากวงจรดอกเบี้ยต่ำ หนี้เยอะ อัตราการว่างงานสูง ก็คือ การปรับโครงสร้าง และพัฒนาความสามารถด้านการแข่งขันในระยะยาว เพราะการแก้ปัญหาด้วย QE นั้น ไม่ได้ทำให้พฤติกรรมของนักลงทุน หรือผู้ประกอบการเปลี่ยนไป ทุกคนหวังจะได้ Easy Money เพื่อที่จะมีความสุขในระยะสั้น โดยลืมหันมามองสิ่งที่ตัวเองต้องปรับปรุง

แล้วเมื่อไหร่ผู้กำหนดนโยบายจะเลือกทางที่ควร?

รายงานของ WEF บอกว่า 3 ประเทศในกลุ่ม PIIGS ที่มีปัญหาหนี้อย่าง สเปน, โปรตุเกส และ กรีซ นั้นมีการปรับโครงสร้างประเทศอย่างจริงจังหลังเศรษฐกิจมีปัญหาหนัก ทำให้ตัวเลข Competitiveness ที่ WEF จัดทำนั้นดีขึ้นอย่างทันตาเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การลดบทบาทของรัฐฯ ลดต้นทุนการบริหารงาน ยกเลิกนโยบายประชานิยมและสวัสดิการต่างๆ ซึ่งแน่นอน ก็มีคนออกมาประท้วงกันเป็นแสนๆครับ เหมือนกับการทำคีโมสู้กับมะเร็งนั้นล่ะ

ยกตัวอย่างแบบนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า จะเปลี่ยนแปลงอะไรจริงๆจัง มันต้องเจอวิกฤตหนักๆไปด้วยกัน ถึงจะได้รู้ แต่อย่างกรณีสหรัฐฯนั้น เพราะมัน Too Big Too Fail เลยเกิดการอุ้มสถาบันการเงิน แล้วล้มบนฟูก เจ็บกันไม่จริง ก็เลยไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรเลย

มาดูพี่ไทยเราบ้างครับว่า WEF เค้ามองว่าไง

จาก Competitiveness Index สกอร์เต็ม 7 ไทยเราได้ 4.7 จากเฉลี่ยทั้งหมด 12 หัวข้อ โดยข้อได้เปรียบของไทยเราก็คือ Basic Requirement ด้าน มุมมองทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ที่ยังดีมากๆ (ปัจจัยภายนอก) และการเข้าถึงการรักษาโรคพื้นฐาน และการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ปัจจัยภายใน) ถ้าดูเป็นกราฟแมงมุมตามรูปด้านบนจะเห็นว่า ไทยเรามันมีข้อได้เปรียบด้าน Competitiveness ดีกว่าหลายๆประเทศในเอเชียและกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน แต่คุณจะพบว่า ด้านหนึ่งที่เราไม่ได้ดีไปกว่าค่าเฉลี่ย นั้นก็คือ Innovation หรือ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ดังนั้น การจะแข่งขันในเวทีโลกได้ดีขึ้น ณ ปัจจุบัน จึงมุ่งไปได้แต่การรีดประสิทธิภาพ และศักยภาพที่มีออกมาให้ได้ก่อน (ตอนนี้เราโตต่ำกว่าศักยภาพเพราะเพิ่งผ่านจากช่วงโดนการเมืองในประเทศเล่นงาน)

จริงๆ ถ้าเทียบไทยเรากับค่าเฉลี่ย ก็ดูเหมือนเราไม่แน่นะครับ แต่ถ้าเทียบกับประเทศคู่แข่งหรือที่เจริญกว่าเราในเอเชียแล้ว เราอยู่ถึงอันดับ 10 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 31 ของโลก แต่เอาว่ะ!! มีตั้ง 144 ประเทศ อยู่อันดับนี้ก็หรูละ

สรุปทั้งหมดทั้งมวล จะบอกว่า เราก็เห็นตัวอย่างในเศรษฐกิจโลกภาพกว้างๆไปแล้ว และเห็นศักยภาพของไทยในสายตาของคนอื่นที่มองเรา และความสำคัญมากๆของ Competitiveness หรือ ความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมันจะบอกการเติบโตในระยะยาวได้ดี ผมก็อยากให้นักลงทุนไทย พัฒนาตัวเอง และเรียนรู้อยู่ตลอด ค้นหาจุดแข็ง และแก้ไขจุดอ่อนกันไปเรื่อยๆ เชื่อว่า ความมั่งคั่งในระยะยาวก็จักบังเกิดแก่ท่านโดยถ้วนหน้ากัน 🙂