เชื่อว่า มีผู้อ่านหลายท่านที่ฝากเงินฝากชีวิตไว้กับกองทุน PIMCO Total Return ผ่านกองทุน Krungsri Total Return Bond (KF-TRB) ของ บลจ.กรุงศรี และนับตั้งแต่ Bill Gross CEO & Co-CIO ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ก็น่าจะสร้างความกังวลให้กับท่านที่ลงทุนอยู่พอสมควรว่าผลการดำเนินงานในอนาคตนั้นจะเป็นอย่างไร วันนี้จะมา Update ให้ทราบโดยทั่วกันครับ
แน่นอนว่า มีนักลงทุนที่ลงทุนในกองนี้เพราะชื่อของ Bill Gross และเมื่อเขาจากไป ก็ย่อมมีเงินไหลออกจากกองทุนเช่นเดียวกัน จริงๆก่อนที่ Gross จะลาออก นักลงทุนก็แห่ขาย PIMCO Total Return ทิ้งมาตลอดอยู่แล้วครับ ดูจากรูปด้านล่างนี้
แต่จะเห็นว่า พอเข้าเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว Gross ประกาศลาออกปั๊บ ก็ยิ่งมี Outflow ออกจากกองทุนเพิ่มขึ้นมากทีเดียว แต่แรงขายก็เริ่มชะลอตัวลงมาเรื่อยๆนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอย่างที่เห็น
ทำไม PIMCO Total Return ถึงโดยเทขายมาตลอด?
สาเหตุเป็นเพราะมุมมองของนักลงทุนต่อตราสารหนี้นั้นเปลี่ยนไปครับ นับจาก Fed ประกาศทำ QE มา 3 ครั้ง เพื่อกด Bond Yield ให้อยู่ในระดับต่ำ มันทำให้ตราสารหนี้ทั่วโลกได้ประโยชน์เต็มๆ เพราะเงิน QE ที่แรกที่วิ่งเข้ามาก็คือ ตลาดตราสารหนี้ ดังนั้นในช่วงตั้งแต่ปี 2009 – 2012 นั้น ตราสารหนี้ถือเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา เพราะเหมือนมี Fed มาการันตีว่า จะรับซื้อทั้งหมด แต่พอประธานเฟดคนก่อนบอกออกมาเท่านั้นละว่า “เราจะยุติการทำ QE” ก็เหมือนกับการส่งสัญญาณให้นักลงทุนรู้ว่า ตราสารหนี้ จะไม่น่าสนใจอีกต่อไป เพราะเมื่อหยุด QE สิ่งที่ตามมาก็คือ ต้องขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน และการขึ้นดอกเบี้ยมันไม่เป็นผลดีกับตราสารหนี้เลย โดยเฉพาะ US Treasury
แล้วผลตอบแทนของ PIMCO Total Return แย่อย่างที่ตลาดเดากันไว้ไหม?
ในปี 2013 ที่ Ben Bernanke ส่งสัญญาณยุติ QE นั้น ก็ถือเป็นปีที่แน่ของกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกครับ สำหรับ PIMCO Total Return นั้นปี 2013 ผลตอบแทนติดลบไป -2.9% ซึ่งเมื่อเทียบกับ Benchmark ของกองทุนแล้ว ก็ถือว่าแย่เลย เพราะพอร์ตของ PIMCO ในตอนนั้น หนักไปทาง US Treasury และ MBS ในสหรัฐฯ สาเหตุเป็นเพราะ Bill Gross ไปมองว่า ยังไงๆ Fed ก็ไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้แน่นอน จากตัวเลขเศรษฐกิจที่เห็นตอนนั้น แต่พอประธาน Fed บอกว่าจะยุติ QE เท่านั้นละ จบเลย ดูผลตอบแทนแบบ Calendar Year ได้ที่ตารางด้านล่างครับ
หลังจากนี้ละ กองทุนจะผลตอบแทนเป็นยังไง?
ดูตารางด้านบนอีกรอบนะครับ Column “Latest Friday” นั้นคือ ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี (YTD) ของกองทุน จะเห็นว่า หล่อทีเดียว สามารถกลับมาชนะ Benchmark ได้แล้ว และอยู่ในกลุ่มผู้นำ 5% แรกของกองทุนประเภท Global Bond เสียด้วย การเอาชนะตลาดในช่วงที่มี Outflow ออกจากกองทุนต่อเนื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ยากมากนะครับ ใครเป็น Fund Manager ก็น่าจะทราบดี สาเหตุที่ผลตอบแทนดูดีขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มาจากการหด Duration ลงเหลือต่ำกว่า 5 ปี และเริ่มลดการถือ US Treasury ในพอร์ตเหลือไม่ถึง 40% จากที่เคยถือถึง 60% เผื่อเหตุการณ์ที่ Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดจริง ก็จะไม่กระทบกับพอร์ตของกองทุนอย่างช่วงปี 2013 ที่ผ่านมาที่ปรับพอร์ตไม่ทัน
และในช่วงต้นปีที่ผ่านมา PIMCO ก็ได้ MD คนใหม่ และเป็น global economic adviser ให้กับผู้จัดการกองทุน ชื่อ Joachim Fels ซึ่งเคยเป็น chief economist อยู่ที่ Morgan Stanley มาก่อน นั้นคือการเปลี่ยนแปลงแรก และอีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ PIMCO ได้ไปเชิญ Ben Bernanke ประธานเฟดคนก่อน มานั่งใน Cyclical Forum เพื่อถกมุมมองการลงทุน แสดงให้เห็นว่า อิทธิพล ของ PIMCO นั้นยังคงใหญ่คับ Wallstreet อยู่เช่นเดิม
อ่านถึงตรงนี้ ก็สบายใจได้ระดับหนึ่งนะว่า PIMCO Total Return Bond ยังจะเป็นกองทุนตราสารหนี้แบบ Global Bond ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนใน Core Asset Allocation เหมือนเดิม ส่วนเรื่องผลตอบแทนคาดหวังนั้น ปัจจุบัน กองทุนมี Current Yield อยู่ที่ 2.85% หมายความว่า ถ้าถือตราสารหนี้ทุกตัวจนครบกำหนด จะได้ผลตอบแทนประมาณ 2.85% ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น แต่ที่อาจหวังได้เพิ่มเติมก็คือ กรณีที่ Fed ยังไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ จะมีเงินไหลเข้าตราสารหนี้กดให้อัตราดอกเบี้ยอาจต่ำลงไปอีก ก็จะหมายถึง Upside จากการ Mark to Market เพิ่มอีกเล็กน้อย (แต่คงไม่เยอะ)
เอาเป็นว่า ใครยังมีอยู่ หรือสนใจกองทุนนี้ ก็พอถือไปได้นะ แต่บรรยากาศการลงทุนแบบนี้ มันชวนให้เราออกไปเสี่ยงในตลาดหุ้นมากกว่า ถ้ารับความเสี่ยงได้ ก็กลับมาที่ Concept การกระจายความเสี่ยง และจัดพอร์ตการลงทุนในระยะยาว น่าจะเป็นบทสรุปที่ดีกว่าการไล่ถาม Wealth Manager อยู่ตลอดว่า กองทุนไหนดี ปีนี้กองไหนจะชนะ … มันไม่มีใครรู้หรอก ถ้ารู้ก็ขายบ้านขายรถไปลงทุนแบบ All In หมดแล้ว หุหุ