b-ltf

B-LTF มีชื่อเต็มว่า กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว ถือเป็นกองทุน LTF อันดับต้นๆของประเทศไทย ที่ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน และการันตีด้วยคุณภาพจากการได้รับรางวัล Morningstar 5 ดาว

แน่นอนว่า เมื่อเป็น LTF นโยบายการลงทุน ก็ต้องลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65% ในรอบปีบัญชี แต่สำหรับ B-LTF นั้น ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนมา แทบไม่มีช่วงเวลาใดเลยที่ถือหุ้นน้อยกว่า 90% เรียกว่า ถือหุ้นในพอร์ตตลอดเวลา จะมีโยกย้ายไปมาก็ในการเปลี่ยนหน้าหุ้นที่เชื่อว่ามูลค่ากิจการเปลี่ยนแปลงไป

ปัจจุบัน ขนาดของกองทุนใหญ่ถึง 4.5 หมื่นล้านบาท  ถือว่ามีขนาดใหญ่ระดับต้นๆของประเทศเช่นเดียวกับคุณภาพและผลตอบแทน

กลยุทธ์การลงทุนของ B-LTF

B-LTF เป็น Active Management Portfolio มีเป้าหมายคือ ชนะดัชนีชี้วัด (SET Index) ให้ได้ในระยะยาว บริหารพอร์ตแบบเชิงรุก โดยไม่ล้อ หรือเกาะตามดัชนี โดยใช้วิธีการคัดเลือกหุ้นแบบ Bottom Up เน้นลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี มีความสามารถในการทำกำไร มีศักยภาพในการเติบโตระยะยาว โดยในพอร์ตจะเน้นลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว ไม่เน้นเทรดดิ้งระยะสั้น

ผลตอบแทนในอดีตของ B-LTF ด้านล่างนี้ ก็เป็นหนึ่งในหลักฐานว่า การบริหารงานที่ผ่านมา สามารถทำได้ตามความตั้งใจของผู้จัดการกองทุน

ขนาดกองทุน B-LTF ใหญ่เกินไปไหม?

ด้วยขนาดกองทุนมากกว่า 4.5 หมื่นล้าน ความท้าทายของผู้จัดการกองทุนคือ หากเลือกลงทุนในหุ้นจดทะเบียนที่มีขนาดเล็กในสัดส่วนที่มากเกินไป ก็จะติดเงื่อนไขเข้าถือครองในสัดส่วนที่มากเกินเกณฑ์ทที่ กลต. กำหนด แต่หากเข้าลงทุนน้อยเกินไป ถึงผลตอบแทนจะทำได้ดี แต่ก็เป็นสัดส่วนการลงทุนที่ไม่มีนัยกับพอร์ตโดยรวมของการลงทุน ดังนั้นจึงทำให้ผู้จัดการกองทุน B-LTF ลงทุนในหุ้นขนาดกลาง และขนาดใหญ่เป็นหลัก

ซึ่งความเสี่ยงก็คือ หุ้นกลุ่มนี้ ได้รับความผันผวนจากปัจจัยภายนอกระยะสั้นบ้าง เนื่องจากเป็นหุ้นที่นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างชาติเข้าถือครองด้วยเช่นกัน มุมมองที่แตกต่างกันบ้างในระยะสั้น อาจทำให้นักลงทุนกลุ่มอื่นปรับพอร์ตการลงทุนบ้าง แล้วก็ส่งผลต่อราคาหุ้นที่กองทุนไปลงทุนด้วย

แต่นั่นคือความเสี่ยงที่นักลงทุนควรรับรู้ และทำความเข้าใจอยู่แล้ว ผลการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมา ก็ถือเป็นเครื่องยืนยันว่า ขนาดกองทุนที่ใหญ่ ไม่ได้ลดทอนศักยภาพ และความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตเลยแม้แต่น้อย

ผลการดำเนินงานย้อนหลัง น่าพอใจไหม?

B-LTF เป็นกองทุน LTF ที่ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี 5 ปี และ 7 ปี ติดอันดับ TOP 5 ตลอด (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ย. 2559) ถ้ากางดู Calendar Performance ของแต่ละปี ก็จะพบสัจธรรมว่า มันเป็นไปได้ครับที่บางปี B-LTF จะแพ้ดัชนีชี้วัด ซึ่งในที่นี้ก็คือ SET Index จากตาราง ปีที่แพ้ก็คือ 2009, 2010 และ ปี 2014

B-LTFรูปที่ 1 : ผลการดำเนินงาน B-LTF รายปี เปรียบเทียบคู่แข่ง
แหล่งข้อมูล : Bloomberg ณ วันที่ 15 พ.ย. 2559

ตรงจุดนี้เป็นจุดตายของนักลงทุนหลายคนเหมือนกัน ที่พอกลับไปมองผลการดำเนินงานย้อนหลังกองทุนในระยะสั้นๆ แล้วอาจจะพบว่า ทำผลตอบแทนไม่ดี ก็เลยไปเลือกลงทุนกองทุนอื่นแทน ซึ่งมันอาจจะแย่กว่าเดิมก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น ย้อนกลับไปปลายปี 2014 ถ้าเราแคร์ว่า ระยะสั้นๆ ใครทำผลการดำเนินงานดีกว่ากัน … แน่นอนว่า เราจะไม่ลงทุนใน B-LTF เพราะแพ้กองทุนคู่แข่ง และ SET Index ในปีนั้น แต่ก็อย่างที่เห็นนะครับ ปี 2015 และ ปี 2016 นั้น B-LTF ก็กลับมาทำผลการดำเนินงานได้ดีอีกรอบ

แล้วอะไรที่ทำให้ B-LTF ทำผลการดำเนินงานได้สม่ำเสมอ?

ก็ต้องกลับไปที่หลักการลงทุนครับ การคัดเลือกหุ้นแบบ Bottom Up เน้นลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี ทำให้ได้หุ้นที่มีความผันผวนต่ำกว่าตลาด คือหัวใจของการลงทุน เราจะเห็นว่า ปีที่ตลาดติดลบ อย่างปี 2008 ปี 2013 หรือปี 2015 กองทุนราคาลงน้อยกว่าคู่แข่งและน้อยกว่า SET Index ทุกครั้งที่มีการปรับฐานในตลาดหุ้นเกิดขึ้น

ลองดูการวิเคราะห์เชิงปริมาณในตารางด้านล่างของ B-LTF เปรียบเทียบกับ SET Index นะครับ

B-LTF02

รูปที่ 2 : การวิเคราะห์เชิงปริมาณกองทุน B-LTF เปรียบเทียบ SET Index
แหล่งข้อมูล : Bloomberg ณ วันที่ 15 พ.ย. 2559

ที่เราเห็นก็บอกได้ว่า กองทุนเน้นการลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth Stock) เนื่องจาก P/E สูงกว่า SET Index และ P/BV ก็สูงกว่า โดยอัตราการจ่ายปันผล ต่ำกว่า SET Index เล็กน้อย

แต่ที่ถือว่าทำได้ดีถือ การที่ B-LTF มีค่า Beta ต่ำกว่า 1 เท่า แสดงว่า เสียงน้อยกว่าดัชนี และ มี Downside Risk รวมถึงโอกาสขาดทุนหนักในช่วงวิกฤต ที่ติดลบน้อยกว่าดัชนีอย่างชัดเจน

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า เวลานึกถึง LTF เพื่อลดหย่อนภาษี หนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆก็จะมี B-LTF อยู่ด้วยทุกปีเสมอๆครับ

คำเตือน
• การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลการดำเนินในอนาคต
• การนำเสนอข้อมูลข้างต้น มิใช่การให้คำแนะนำการลงทุน
• การลงทุนใดๆ ต้องเกิดจากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจลงทุน บนความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนเอง
• ทางผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิ์ ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียในทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ข้อมูลข้างต้น