จบกันไปสำหรับการเลือกตั้ง US Election 2016 ซึ่งถือว่าผิดคาดจากที่คนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้มากเลยทีเดียว เราได้เห็นกระแสโซเชียลทั่วโลกติด Hashtag #USElection2016 ทั้งอวยพร ล้อเลียน ทั้งดีใจ และกังวล แสดงความรู้สึกมากมายผ่านทาง Social Network
ประเด็นคือ นี่ไม่ใช่แค่ Viral ธรรมดา แต่ว่า มีผลกระทบต่อประชาคมโลกอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนโยบายที่ต่างออกไปจากเดิมของสหรัฐฯหลังจากนี้ … ซึ่งมันคือเรื่องในอนาคตที่เราคงต้องมานั่งวิเคราะห์กันต่อว่าผลกระทบต่อเราจะมาในมุมไหน และมากน้อยเพียงใด
แต่บทความนี้ ผมลองย้อนนึกดูว่า เราน่าจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง ก็พบว่ามี 5 อย่างที่ผมได้รู้เพิ่มขึ้น ลองอ่านกันดูครับ
ความประมาท เป็นบ่อเกิดแห่งความสูญเสีย
ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือบริสุทธิ์ใจ การใช้ E-Mail ส่วนตัวในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของคลินตัน คือ จุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้เธอเสียคะแนนในช่วงที่สำคัญที่สุดของการชิงชัย สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า อดีต จะย้อนมาทำร้ายเราได้เสมอ ดังนั้นการดำรงสติมั่น อยู่กับปัจจุบัน ทำให้ดีที่สุด ถือเป็นเรื่องสำคัญ ความประมาทที่สองก็คือ โอบาม่า ได้ฐานเสียงสำคัญจากชาว African-American ชาวละตินอเมริกัน และวัยรุ่น ผู้ซึ่งเป็น New Voters และการที่โอบาม่าให้การสนับสนุนฮิลลารีอย่างเต็มที่ ก็ควรทำให้ฮิลลารีได้คะแนนเสียงจากกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน แต่ผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งหากย้อนกลับไปดูแผนการหาเสียง ก็พบว่า เหมือนฮืลลารีจะให้ความสำคัญน้อยเกินไป เช่นเดียวกับในรัฐ New Mexico, Wisconsin หรือ แม้กระทั่ง Pensilvania ซึ่งโพลสำรวจเหมือนฮิลลารี “จะนอนมา” และเพราะโพลเป็นเช่นนั้น ทีม Campaign เลยไม่ได้ลงพื้นที่รึเปล่า? และผลก็คือ ทรัมป์ ได้ฐานเสียงจากรัฐฯที่ควรจะเป็นของ Democrat
รูปที่ 1 : US Election 2016 Map (นับไป 99%)
ที่มา : http://www.google.com/
อย่าไปให้ความสำคัญกับโพลสำรวจมากนัก
นับตั้งแต่ทราบผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าเป็น ฮิลลารี คลินตัน และ โดนัล ทรัมป์ มานั้น ไม่มีวินาทีไหนเลยที่โพลสำรวจของสื่อหลักไม่ว่าจะเป็น TIMES, ABC, BBC, CNN, Bloomberg, Reuters, independent และ Moody’s Analytics ฯลฯ จะแสดงให้เราเห็นว่า ทรัมป์มีโอกาสลุ้น … แต่แค่วินาทีแรกที่ปิดหีบ และเริ่มนับคะแนนเท่านั้นละครับ โอกาสของทรัมป์ก็สูงขึ้นทันที ผิดจากที่ทุกโพลคาดไว้ ที่น่าสนใจคือ การวิเคราะห์โดยใช้ “Big Data” จาก Facebook Analytics โดยอาศัยข้อมูลการสนทนาของผู้ใช้ในทุกๆรัฐฯในสหรัฐฯมาทำการวิเคราะห์ พบว่า บทสนทนาถึง ทรัมป์ นั้น active ว่าฮิลลารีค่อนข้างมาก ถึงแม้จะมีทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่กับฮิลลารีนั้น active น้อยกว่า แถมมีแต่บทสนทนาด้านลบอีกต่างหาก
นี่อาจเป็นมิติใหม่ของการพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตหรือเปล่า เมื่อวิธีการสำรวจ Polls แบบเดิมๆ เริ่มพยากรณ์ผิดไปจากความเป็นจริง (ตอนโหวต Brexit ก็พลิกแบบนี้) ดังนั้น จะใช้ข้อมูลสถิติอะไรย้อนหลัง เราคงต้องคิดมากขึ้นหลังจากนี้ละครับ
รูปที่ 2 : โพลจาก BBC ก่อนหน้าการลงคะแนนหนึ่งวัน
ที่มา : http://www.bbc.com/
Mr.Market ถูกเสมอ
ผลกระทบที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง ก็ถูกตีความกันไปต่างๆนานา ทั้งเอานโยบายมาวิเคราะห์ เอาสถิติย้อนหลังมากาง ก็ตามแต่ศาสตร์ที่แต่ละคนเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่ (ย้ำว่าส่วนใหญ่) มองว่า หากสหรัฐฯได้ทรัมป์มาเป็นผู้นำ โอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานจะสูงขึ้น ซึ่งผลที่เราเห็นเมื่อผ่านไปหนึ่งวัน ก็มีส่วนเป็นตรงตามที่วิเคราะห์กันไว้คือ เมื่อนับถึงรัฐ Swing State อย่าง Florida ซึ่งเป็นรัฐฯใหญ่ และคาดกันว่า เป็นหนึ่งในรัฐชี้ชะตาผล แล้วปรากฏว่า ทรัมป์ได้รัฐนี้ไป ก็ทำให้ตลาดหุ้นตกใจ และ Dow Jones Futures ปรับฐานลงไปร่วมๆ -800 จุด แต่แล้วเมื่อตลาดหุ้นสหรัฐฯเปิดทำการอีกครั้ง ตลาดก็สามารถดีดกลับมาอยู่ในแดนบวกได้อีก ท่ามกลางความสงสัย และความพยายามหาเหตุผลของนักลงทุนว่า “มันเกิดอะไรขึ้น”
รูปที่ 3 : ตลาด Futures ช่วงที่นับคะแนนรัฐฟลอริดาจบลง
ที่มา : http://www.investing.com/
ประเด็นคือ สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดีแล้ว และเราไม่จำเป็นต้องพยายามหาเหตุผลให้กับทุกๆการเคลื่อนไหวของมัน เพราะหลายครั้งเราก็หาเหตุผลไม่ได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ตลาดจะเผยแนวโน้มที่แท้จริงเอง ดังนั้น อย่าพยายามไปเถียงกับตลาด (Mr.Market) หรือ อ้างว่า มันมีความผิดเพี้ยนเลย … เพราะการให้เหตุผลเช่นนั้น ไม่ได้ทำให้เราพัฒนาฝีมือในการลงทุนเพิ่มขึ้นเลย อีกอย่างคือ ผิดวันนี้ ไม่ได้หมายถึงผิดตลอดชีวิต เกมส์การลงทุนไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร แต่มันคือการวิ่งมาราธอน เวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ ขอแค่อย่าเลิกกลางทางไปก็แล้วกัน
“ต้องการการเปลี่ยนแปลง” คือ Mega Trend ของโลก
ชัดเจนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีแต่คนบอกว่า ชาวอเมริกันกำลังจะเลือกผู้นำคนที่เขาไม่ชอบน้อยกว่า แต่เพราะว่า อีกคนนั้น มีแนวโน้มว่าจะไม่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง คะแนนเสียงเลยเทไปที่ทรัมป์ เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในโลกปีนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ โหวตประชามติ Brexit ซึ่งหลายคนบอกว่า การที่อังกฤษออกจากยูโรโซน จะนำมาซึ่ง Uncertainty อีกมากมาย แต่สุดท้าย คนส่วนใหญ่ ก็พร้อมจะรับความเสี่ยง ครั้งที่สอง คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลลปินส์ ซึ่งผู้นำอย่างดูเตอร์เต้ แทบจะถอดแบบทรัมป์มาเลยในแง่อุปนิสัยและใจนักเลง ก็สามารถคว้าคะแนนเสียงข้างมากแทนผู้สมัครทรงเดิมๆที่อยู่ในแวดวงการเมืองแบบเดิมๆมาเป็น 10 ปี
ตรงนี้ ผมว่า ไม่ใช่เทรนการเมืองที่คนส่วนใหญ่ต้องการ แต่หมายถึงในทุกมุมมองของความต้องการซึ่งจากนี้จะเปลี่ยนไป และซับซ้อนมากขึ้น ทำให้คิดไปว่า ธุรกิจใดที่ยังคงทำแบบเดิมๆ เสนอสินค้าและบริการแบบเดิมๆ อาจจะมีที่ยืนน้อยลงในสังคมที่มีพลวัตรสูงแบบนี้
Black Swan มีอยู่จริง และเจอถี่ขึ้นเรื่อยๆ
เพื่ออธิบายสิ่งที่ผมรู้ข้อที่ 5 ให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น คงต้องกลับมาที่ทฤษฎี Black Swan หรือ หงส์ดำ เสียก่อน ทฤษฎีนี้ คิดโดย Nicholas Nazim Taleb ซึ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือที่ใช้ชื่อว่า “The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable” อธิบายว่า ในอดีต ไม่เคยมีใครเจอหงส์สีดำมาก่อน ก็เลยเชื่อกันว่า หงส์บนโลกนี้มีสีขาว … แต่พอเวลาผ่านไป มีคนไปพบหงส์ดำ ความคิด หรือตรระที่ว่า หงส์มีเฉพาะสีขาว ก็ถูกทำลายลงทันที
กล่าวคือ ความรู้ที่มนุษย์มีมาจนถึงปัจจุบัน มันอาจยังไม่ใช่สัจนิรันดร์ (Tautology) อาจจะเกิดจากการ์ปะติดปะต่อความรู้หลากหลายสาขา โดยขาดหลักฐานว่า เหตุผลนั้นถูกหรือผิด ดังนั้นก็มีโอกาสสูงมาก ที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันซึ่งไม่สามารถพยากรณ์ได้ และมันจะมีผลกระทบอย่างมากต่อเรา ซึ่งในหนังสือ The Black Swan บอกว่า ต้องมี 3 ปัจจัยประกอบกันคือ 1. เป็นพวกนอกคอก (นอกกรอบ ของกฎระเบียบสังคมเดิมๆ) 2. ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง 3. ถึงไม่เคยหาเหตุผลพยากรณ์ได้ แต่เมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้ว เราสามารถกลับมาหาเหตุผลอธิบายมันได้
การที่ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ถือว่า ครบปัจจัย 3 ข้อของ Black Swan Theory เช่นกัน ซึ่งเกิดหลังจาก Black Swan อีกตัวที่เกิดเมื่อกลางปีนี้ นั่นก็คือ “Brexit” ที่ก่อนจะรู้ว่า ผลโหวตเป็นอย่างไร ไม่มีนักวิเคราะห์คนไหนคิดมาก่อนว่าอังกฤษจะออกจากยูโรโซนจริงๆ แล้วค่อยมาเจอเหตุผลอธิบายได้หลังจากนั้น
วิธีรับมือกับ Black Swan จริงๆแล้ว ยังไม่มีคนค้นพบ และมันแปลว่า ในมุมมองของการลงทุน เรายืนอยู่บนความเสี่ยงที่มองไม่เห็น และไม่สามารถพยากรณ์ได้ ที่จะกลายเป็นหงส์ดำอีกหลายตัว ดังนั้น วิธีที่ผมแนะนำ ในช่วงที่ยังไม่มีใครคิดคำนวนสูตรการรับมือได้ก็คือ “สติ” และนำพุทธโอวาทก่อนปรินิพพานไปเตือนสติแทนแล้วกันครับ
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั้งปวงมีความเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
แหล่งที่มาข้อมูล :-
http://www.business2community.com/government-politics/facebook-analytics-showing-donald-trump-winning-presidency-hoax-01698836#FbMcDVAcPPqaeXlm.97
http://edition.cnn.com/2016/11/09/politics/clinton-votes-african-americans-latinos-women-white-voters/
http://www.bbc.com/news/election-us-2016-37450661
https://www.theguardian.com/us-news/2016/nov/09/hillary-clinton-election-president-loss
https://en.wikipedia.org/wiki/Black_swan_theory