5-of-success-often-doing

เรื่องเล่าจากประสบการณ์ของผู้อื่นนั้น มีค่าและช่วยร่นระยะเวลาลองถูกลองผิดให้กับผู้เดินตาม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่คนเรามักจะแสวงหาผู้นำทาง ผู้รู้จริง เพื่อที่จะก้าวเดินไปในทางที่ถูกต้อง และบทความนี้ ขอเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของวิธีคิดที่ถูกต้องสำหรับมือใหม่ที่สนใจจะมีอีกหนึ่งอาชีพ ที่ถือได้ว่าเป็นนายตัวเอง และรับรางวัลตามผลงานที่ตัวเองทำ ซึ่งคุ้มค่า และน่าลอง นั้นคือ “นักลงทุน”

1. รู้ว่ากำลังลงทุนในอะไร และเข้าใจมันจริงๆ

จากประสบการณ์ที่ได้คุยกับนักลงทุนมากหน้าหลายตา ผมสามารถแยกได้ว่า นักลงทุนทั่วไปมักจะพึงพอใจที่จะพูดถึงกำไรที่ตนได้รับ มากกว่าที่จะยินดีอธิบายถึงเหตุผลของการลงทุนนั้นๆ แต่สำหรับนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้น เขายินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลงทุน เพราะทั้งแสดงให้เห็นถึงความหลงใหลในการลงทุน (Passion) แบบที่ผู้ฟังสามารถรู้สึกได้ว่า ผ่านการศึกษาคัดกรองมาแล้วอย่างดี

2. พร้อมรับความเสี่ยง และมองความเสี่ยงคือเพื่อนแท้ตลอดการลงทุน

น่าแปลกใจมากนะครับ ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ การค้าขายไม่ดี การลงทุนไม่คึกคัก เวลาแบบนี้ คนทั่วไปมักคิดว่า เป็นความเสี่ยง และสมควรหลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน แต่มันกลับตรงกันข้ามกับนักลงทุนผู้มากประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายปี เพราะพวกเขาเหล่านั้น จะใช้จังหวะดังกล่าวในการเฟ้นหาสินทรัพย์ราคาถูกที่คุณภาพดี เพราะเขาเหล่านั้นเข้าใจสัจธรรมว่า ทุกๆสิ่งในโลกนี้ ล้วนเป็นวัฏจักร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป หากธุรกิจที่เขาสนใจลงทุน เป็นธุรกิจที่มีคุณภาพดี มีอนาคตยาวไกล การตกต่ำก็เป็นเรื่องชั่วคราวที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่มองเห็น

3. รู้ว่า การไม่รับความเสี่ยง คือ ความเสี่ยงอย่างหนึ่ง

งงใช่ไหมเอ่ย … แต่ถ้าลองอธิบายในอีกมุมหนึ่งคุณผู้อ่านจะเข้าใจมากขึ้น นั้นก็คือ การฝากเงินรับดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็รู้ว่า มันเป็นแหล่งออมเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดในระบบทุนนิยม แต่เงินส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในนั้น มันเป็นเพราะ คนส่วนใหญ่ไม่กล้าให้เงินของตัวเองรับความเสี่ยง แต่นักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จ รู้ว่า การฝากเงินในธนาคารเฉยๆ ก็มีความเสี่ยงในแง่ของ “ค่าเสียโอกาส” ที่จะทำเงินได้มากกว่านั้นอีกหลายเท่า ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่ยอมเสียแน่นอน

4. ลุยเมื่อรู้จริง แต่ถึงรู้ไม่จริงก็ยังลุย

อย่างที่บอกในข้อแรกครับว่านักลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้นรู้และเข้าใจการลงทุนจริงๆ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า อะไรที่เขาไม่รู้ เขาจะเมินเฉยต่อมันไป เพราะอีกชุดความคิดที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ บทเรียนในข้อที่ 3. ที่ว่า การไม่รับความเสี่ยง คือ ความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ดังนั้นแทนที่จะปฏิเสธการลงทุนอื่นๆ เขาจะใช้วิธีคือ ศึกษาให้เข้าใจในระดับหนึ่ง เพื่อให้รู้ว่า การลงทุนนั้นมันมีอนาคตจริงๆ แล้วเลือกใช้กลยุทธ์คือ “การกระจายความเสี่ยง” (Diversification) ในสัดส่วนที่เหมาะสม และใช้โอกาสนี้เพื่อขยายขอบเขตขององค์ความรู้ที่ตัวเองมี เรียกว่า เรียนรู้ควบคู่ไปกับประสบการณ์ตรง ซึ่งเป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพกว่าการท่องตำราวิชาการเป็นไหนๆ

5. ฝันถึงภาพใหญ่ แล้วค่อยๆเดินไปทีละก้าวๆ

มีนักลงทุนมืออาชีพในตลาดหุ้นท่านหนึ่งเคยบอกกับผมไว้ว่า นักลงทุนที่อยู่ในตลาดมาเกิน 5 ปีทุกคนในตลาด เคยมีประสบการณ์เฉียดรวยมาแล้วทั้งนั้น แต่สิ่งที่แยกผู้แพ้ และผู้ชนะ ก็คือ ความอดทน ผมฟังแล้วก็งงไปซักพัก แต่ก็ร้องอ๋อขึ้นมาเมื่อเข้าใจมันจริงๆ เพราะ นักลงทุนส่วนใหญ่ ไม่อดทนรอให้การลงทุนของเขาทำงานเต็มที่ด้วยการรอเวลาให้ผลประการสะท้อนบริษัท ทั้งๆที่วิเคราะห์มาดีแล้วอย่างในเคล็ดลับข้อที่ 1 พร้อมรับความเสี่ยงด้วยการซื้อหรือลงทุนในจังหวะที่ดีอย่างข้อที่ 2 และกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมในข้อที่ 4 แต่กลับกลัวใจตัวเอง และตัดสินใจขายก่อนเวลาอันควร ซึ่งกลยุทธ์ที่ต้องใช้ก็คือ ฝันให้เห็นภาพใหญ่ในวันที่ประสบความสำเร็จ ฝันมันทุกวันครับ เพราะถ้าฝันของเรามันใหญ่พอ ปัญหาทุกอย่างระหว่างทาง มันจะเล็กไปเอง ที่เหลือก็แค่ค่อยๆเดิน และรอเวลาสุกงอมเท่านั้น

พอเขียนมาจนครบ 5 ข้อ ผมก็รู้สึกว่า ผมจะเขียนทำไม ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนหลักธรรมซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะการงานใดๆ นั้นก็คือ

  • การค้นเข้าไปศึกษาในจิตใจของเรา (รู้ว่ากำลังลงทุนในอะไร และเข้าใจมันจริงๆ)
  • ยอมรับความเสี่ยงแปลงที่เกิดขึ้นในใจ รู้ตามความเป็นจริง (พร้อมรับความเสี่ยง และมองความเสี่ยงคือเพื่อนแท้ตลอดการลงทุน)
  • รู้ว่าหากไม่ภาวนาปฏิบัติธรรม นั้นเท่ากับตั้งตนอยู่ในความประมาท (รู้ว่า การไม่รับความเสี่ยง คือ ความเสี่ยงอย่างหนึ่ง)
  • รู้สึกตัวเท่าที่รู้ได้ สิ่งใดเกิดขึ้นชัดดูสิ่งนั้นไปก่อน (ลุยเมื่อรู้จริง แต่ถึงรู้ไม่จริงก็ยังลุย)
  • และสุดท้าย ขี้เกียจก็ภาวนา ขยันก็ภาวนา ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ภาวนา (ฝันถึงภาพใหญ่ แล้วค่อยๆเดินไปทีละก้าวๆ)