จั่วหัวบทความอันใหม่ของตัวเองไว้แบบนี้ ผมยอมโดนตราหน้าว่า เป็นพวกมองโลกในแง่ร้ายนะครับ แต่การลงทุนในตลาดหุ้น เราเอาแต่มองโลกในแง่ดี โดนละเลยข่าวร้ายและปัจจัยพื้นฐานไปคงจะไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่า จังหวะ และเวลาในการเข้าซื้อ ก็มีผลทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนแตกต่างกันได้ในระยะสั้นและระยะกลาง แต่สำหรับนักลงทุนประเภทถือลืม ไม่ขายไม่ขาดทุน ผมมองว่า 6 เดือนหลังจากนี้ อาจเป็นช่วงชะลอ และเป็นโอกาสให้ทยอยลงทุนเพิ่ม เพื่อสร้างพอร์ตที่โตขึ้นไปอีกระดับ รองรับวัยเกษียญใน 10-20 ปีข้างหน้าได้แน่นอน
แต่ก็นะ อย่างที่เราเห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด มองผลตอบแทน และคาดการณ์ตลาดหุ้นในระยะสั้นๆเป็นส่วนใหญ่ เพราะครึ่งหนึ่งของความผันผวนในตลาดหุ้น มันเกิดจากอารมณ์ มันไม่ได้มีเหตุผลรองรับและมาอธิบายได้ทั้งหมด 100% ซักหน่อย เพราะฉะนั้น เรามาดูกันครับ ในมุมมองของผม ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลังนี้ จะมีอะไรบ้าง
1. การที่ Fed (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) มีแผนจะชะลอ และยกเลิก QE ไม่ว่าจะเป็นปีนี้ หรือปีหน้า ย่อมส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนในประเทศเกิดใหม่ เพราะอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวในสหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น Yield Gap ของผลตอบแทนตราสารหนี้สหรัฐฯกับประเทศเกิดใหม่ (รวมถึงไทย) ก็จะลดลง ความน่าสนใจในการขนเงินมาลงทุนฝั่งนี้ก็จะลดลงตามไปด้วย เมื่อนั้น ค่าเงินในตลาดเกิดใหม่จะอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า ยิ่งเป็วตัวเร่งให้ฝรั่งมีมุมมองอยากขนเงินกลับประเทศในระยะสั้นๆ ซึ่งภาพนี้ เราเห็นมาแล้วในช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนตัวแล้วผมมองว่า แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติทั้งในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น จะยังมีอีกในครึ่งปีหลังเป็นระลอกๆ แม้ว่าช่วงนี้ ตลาดจะกลับมาดีชั่วคราวหลังการเปิดเผย FOMC Statement ว่า สมาชิกส่้วนใหญ่ยังอยากคง QE ไว้ และอาจไปเริ่มชะลอจริงๆในต้นปีหน้า ซึ่งมันก็แค่ยืดระยะเวลาการขายสินทรัพย์เสี่ยงออกจากไประยะหนึ่งเท่านั้น
2. เศรษฐกิจจีนทำท่าชะลอตัว และดูจะหลุดจากกรอบทีรัฐบาลกำหนดไว้ที่ 7.5% เสียแล้ว ล่าสุด กระทรวงการคลังของจีน (ซึ่งก็อยู่ในรัฐบาล) ก็ออกมาคาดการณ์ GDP Growth ว่า เป็นไปได้ว่าปีนี้จะลงมาอยู่ที่ 7.0% ยังไม่นับถึงระบบ Shadow Banking ที่จะเป็นปัญหาในระยะยาว เราก็พอจะเห็นว่า รัฐบาลจีน ไม่เน้นการเติบโตในเชิงปริมาณเหมือนอย่างระบบทุนนิยมทั่วไป เพราะแทนที่จะออกมาตรการกระตุ้น อัดฉีดเงินอย่างประเทศญี่ปุ่น หรืออเมริกาเพิ่มเติม กลับห้ามปรามธนาคารในการปล่อยสินเชื่อ และทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงแทน ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลพุ่งเป้าการแก้ปัญหาไปที่ “คุณภาพ” ยอมให้ GDP Growth ชะลอตัวลง ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ดังนั้น มีโอกาสสูงทีเดียวที่ บริษัทหรือประเทศคู่ค้า ที่พึ่งพาหรือมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับจีนในสัดส่วนที่เยอะ (เกินกว่า 30%) อาจประสบปัญหายอดขายตก การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และกำไรลดลง ไม่มากก็น้อย ซึ่งมองในมุมนี้ เชื่อว่า บริษัทจดทะเบียนในไทยหลายบริษัทก็เกี่ยวข้องและทำการค้ากับจีนบางส่วน
3. ตลาดส่งออกรายใหญ่ของไทอีกหนึ่งตลาด ยังลูกผีลูกคน … ตลาดนั้นก็คือ “ยุโรป” ล่าสุด กรีซ กับ โปรตุเกส ก็มีปัญหาขอเลื่อนการเจรจาขอเงินกู้ เนื่องจากมีปัญหาการเมืองภายใน ความยากของปัญหาการเมืองภายในในยูโรโซนคือ ความคิดของพรรคการเมืองฝ่ายร่วมรัฐบาลกับฝ่ายค้านนั้น ส่วนใหญ่ค้านกันแบบสุดโต่ง แถมที่นั่งในพรรคร่วมรัฐบาลก็มากกว่ากึ่งหนึ่งเพียงนิดเดียว ไม่ได้กุมเสียงข้างมากแบบปลอดภัย (เหมือนรัฐบาลไทย) ดังนั้น เมื่อระยะเวลาผ่านไป เศรษฐกิจในประเทศไม่ดีขึ้น ฝ่ายค้านก็หยิบประเด็นต่างๆมาโจมตี และทำให้ประชาชนคล้อยตาม จนเสถียรภาพสั่นคลอนได้ง่าย เป็นแบบนี้เรื่อยๆ ถึงแม้เศรษฐกิจจะไม่หดตัวจริง แต่ก็คงขยายตัวในอัตราที่ต่ำต่อไป ส่งออกของไทยที่ตั้งเป้าไว้ 7% ไปๆมาๆ ก็คงลดลงต่ำกว่า 5% และนี้คือที่มาที่นักวิเคราะห์และแบงก์ชาติปรับลดเป้า GDP ทั้งปีของเราลงต่ำกว่า 5% เรียบร้อย
4. ผลกระทบเชิงลบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มเห็นบ้าง ล่าสุดบริษัทสหฟาร์ม ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกไก่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตมากกว่า 350,000-500,000 เมตริตัน ต่อปี ล้มทั้งยืนเพราะลงทุนเกินตัว และตัวบริษัทก็อ้างเหตุผลว่า บางส่วนเกิดจากค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาทนั้นสูงเกินไปบวกกับรัฐบาลใช้นโยบายแทรกแซงผลผลิตทางการเกษตร ทำให้ต้นทุนก็สูงขึ้น ถึงแม้จะสบายใจได้ว่า ปัญหาจะไม่ลุกลามและบานปลาย และอาจเป็นผลบวกต่อคู่แข่งที่ทำธุรกิจผลิตและส่งออกไก่รายอื่นด้วยซ้ำ แต่เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุน และนักวิเคราะห์กลับมามองถึงปัญหาที่มีมาตลอดแต่ละเลยหรือมองข้ามกันไปนี้อีกครั้ง
5. อุปสรรคในการขับเคลื่อนการลงทุนจาก พรบ. 3.5 แสนล้านเพื่อบริหารจัดการน้ำและการออกกฎหมายเพื่อกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนปรับโครงสร้างการขนส่ง ดูทีท่าจะชะลอและเลื่อนออกไป โดยกรณี พรบ. 3.5 แสนล้านนั้น ศาลปกครองมีคำสั่งให้การทำประชาพิจารณ์และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมเสียก่อน ซึ่งน่าจะใช้เวลาเกิน 1 ปีกันเลย ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสนอต่อวุฒิสภาให้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการปราบปรามคอร์รัปชันทำการถอดถอนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ซึ่งกรณี พรบ.น้ำ อาจเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า พรบ. 2.2 ล้านล้าน นั้น ก็ไม่ใช่จะออกมาได้ง่ายๆ เมื่อการลงทุนภาครัฐชะลอตัว หรือหายไป อีกทาง ความคาดหวังต่อการปลดล็อค Infrastructure ในประเทศก็ต้องเลื่อนไปก่อน นักลงทุนที่ลงทุนโดยใช้ธีมการลงทุนภาครัฐฯนี้ ก็ดูท่าความหวังน่าจะหายไปเยอะทีเดียว
สรุปทั้ง 5 ปัจจัย เป็นปัจจัยภายนอกประเทศ ซะ 3 ปัจจัย โดยหนึ่งปัจจัย เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนในตลาดโลก อีกสองปัจจัยกระทบกับการส่งออกในประเทศ และปัจจัยหลักที่เหลือ เป็นความเสี่ยงจาก Investment ในประเทศ และ Government Spending ที่ชะลอตัว ไม่ได้เป็นตามคาด เรียกว่า ถ้ากาง GDP ออกมา ตอนนี้ ก็เหลือแค่ C (Consumption) เท่านั้น ที่พอจะยันให้ GDP Growth ยังเป็นไปตามเป้า แต่เอาจริงๆ หนี้ภาคครัวเรือนก็เร่งตัวแรงจนเกือบจะน่ากังวลเช่นเดียวกัน ซึ่งมันแปลได้ว่า โตมาจากการดึง Future Income มาบริโภคในตอนนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากลดภาษี รถคันแรก และบ้านหลังแรก ที่เร่งให้ชนชั้นกลางหาบ้านหารถมาใช้ ทั้งๆที่ไม่รู้หรอกว่า ตัวเองพร้อมหรือไม่พร้อมในการผ่อนชำระระยะยาว
แต่ถ้าถามว่า เศรษฐกิจไทย มันแย่ขนาดนั้นเลยไหม ก็ต้องบอกว่า SET Index ปรับตัวขึ้นมาเร็วมากในช่วงปีที่แล้ว รวมทั้งไตรมาสแรกของปีนี้จากความคาดหวังว่าจะมีเรื่องดีๆเกิดขึ้นทั้งปี ความคาดหวังเหล่านั้นมันดูจางลง ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจไทยห่วยแต่อย่างใดนะครับ อย่าลืมว่า GDP Growth ที่ระดับ 4.5% ขึ้นไป เนี่ย ถือว่าสุดยอดแล้วในระดับโลก ปัญหาคือ เรามองภาพเศรษฐกิจปีนี้สวยงามเกินความเป็นจริงไปเล็กน้อย ตอนนี้ก็ต้องค่อยๆปรับมุมมองให้เหมาะสมกับทางเดินข้างหน้า ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มีทั้งเรื่อง Fund Flow และอาจกระทบต่อ Fundamental ของบริษัทจดทะเบียนบ้าง แต่ Key Factor ที่สำคัญคือ การถอน QE จากการที่เชื่อว่าสหรัฐฯฟื้นตัว นั้น เป็นเรื่องที่เชื่อได้ว่าจะดีในระยะยาว ถ้าสหรัฐฯฟื้นตัวจริงๆ ก็จะดึงให้เศรษฐกิจโลกกระเตื้องขึ้นไม่มากก็น้อยในระยะยาว เพราะฉะนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจของฝั่งสหรัฐฯในแต่ละเดือน ในแต่ละสัปดาห์ ตอนนี้จะมีผลต่อนักลงทุนทั้งโลก ซึ่งอาจทำให้ตลาดหุ้นผันผวนไปเป็นช่วงๆ ต้องอดทน และมีสติพร้อมรับสถานการณ์กันนะครับ สู้ๆ ทุกท่าน