บทความในตอนก่อนที่ผมใช้ชื่อ “ตลาดทุนโลก จะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้งในปี 2019” นะครับ
ได้อ่านปัจจัยบวกกันไปแล้วทั้งหมด 4 ปัจจัยในมุมมองของผม บทความตอนนี้เราลองมาดู 4 ปัจจัยที่นักลงทุนไม่ควรประมาทในการลงทุนช่วงปี 2019 กันบ้างว่ามีอะไรรอเราอยู่
ถ้าพร้อมแล้ว ไปอ่านกันเลย
1.Political Unrest
ถึงแม้ประเด้นการเมืองครั้งที่น่าจะสำคัญที่สุดในปี 2018 ได้ผ่านไปแล้ว นั่นก็คือ US Midterm Election แต่เมื่อกางปฏิทินปี 2019 เรากลับพบว่า จะเป็นปีที่มีโอกาสเปลี่ยนโอนถ่ายอำนาจทางการเมืองในหลายๆ ประเทศทั่วโลกทีเดียว เริ่มตั้งแต่ในไตรมาส 1 การเลือกตั้งในไทยวันที่ 24 ก.พ. และพอเข้าไตรมาส 2 ก็มีกำหนดเส้นตายการออกจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษ เลือกตั้งทั่วไปในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศอินเดีย ขณะที่ ประเทศญี่ปุ่น จะมีการเลือกตั้งวุฒิสภาในไตรมาส ช่วงเดือนก.ค. และเมื่อย่างเข้าไตรมาส 4 ก็จะมีการเลือกตั้งที่ประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ผมมองว่าความเสี่ยงที่เราจะเจอก็คือ การที่ลัทธิชาตินิยมได้แรงสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ Income Gap ที่กว้าง และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหากประเทศใดก็ตามที่ได้ผู้นำที่มีแนวคิดเช่นเดียวกับลัทธินี้ เราก็จะเห็นแนวทางการดำเนินนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงในเฟสต่อไปครับ
2.Lower Growth Lower Valuation
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเป็นบวกสูงกว่าปกติ สาเหตุเป็นเพราะ การเติบโตของผลประกอบการบริษัทที่นำโดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้นสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้นักลงทุนใส่ความคาดหวังกับกำไรในแต่ละไตรมาสมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนกลับมาด้วยค่า P/E Ratio ของหุ้นประเภท Growth Stock อย่างกรณีกลุ่มเทคโนโลยี ที่เพิ่มสูงขึ้นมาจนอยู่ในระดับที่เรียกว่าแพงกว่าในอดีต แต่ในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นนักลงทุนในตลาดปรับมุมมองต่อผลประกอบการในอนาคต โดยคาดว่าจะมีการชะลอตัวลง ดังนั้น การที่ราคาหุ้นเคยเทรดที่ P/E แพงๆ ก็เริ่มจะอยู่ไม่ได้ เพราะอัตราการเติบโต (Growth) อาจมีการปรับตัวลดลง ดังนั้น ปี 2019 น่าจะเป็นที่ Valuation ของตลาดหุ้น ปรับตัวลงมาเทรดในระดับที่ต่ำกว่าในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมานะครับ
3.Trade War in Difference Area
ปี 2018 เป็นปีที่สหรัฐฯ เริ่มต้นสงครามการค้าเพื่อความพยายามจะดึงเงินลงทุนกลับไปที่สหรัฐฯ และลดการขาดดุลการค้ากับนานาประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งผลอย่างที่เราเห็น ก็คือ คู่กรณีเบอร์ใหญ่อย่างจีน ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ แต่ปธน.ทรัมป์เอง ก็แลกมาด้วยการเสียฐานคะแนนเสียงในสภาคองเกรสลงไป โอกาสจึงสูงมากที่ปธน.ทรัมป์จะเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายจากการตั้งกำแพงภาษีกับประเทศคู่ค้าตรงๆ ไปเป็นบังคับใช้กฎหมายย่อยกับเหล่าบริษัทข้ามชาติ อย่างกรณีการคุมตัว CFO ของบริษัทหัวเว่ย ด้วยข้อหาติดต่อการค้ากับประเทศอิหร่านทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ดำเนินการคว่ำบาตรอยู่ ทั้งๆ ที่ 1 สัปดาห์ก่อนหน้า ปธน.ทรัมป์ และปธน.สี จิ้น ผิง ได้หารือข้อตกลงทางการค้าร่วมกัน เมื่อดูจากการกระทำดังกล่าว จึงอาจตีความได้ว่า สหรัฐฯ จะยังใช้มาตรการกดดันทางการค้าต่อไป แต่ในระดับที่แคบลง จำกัดวงและรายการสินค้ามากขึ้นครับ
4.Fed Change the Policy Stance
จากการประชุม 2 ครั้งล่าสุด คณะกรรมการเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) มีความเห็นที่เริ่มจะคนละทางมากขึ้น จากการที่ Fed Dot Plot ที่ออกมา มีกรอบของดอกเบี้ยนโยบายกว้างถึง 2.25% – 3.75% แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการบางท่านมีมุมมองว่า ขาขึ้นของดอกเบี้ยอาจสิ้นสุดลงในไม่ช้า ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งยังมองว่า ควรขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เมื่อเห็นต่างเช่นนี้ เฟดจึงเลือกใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารกับตลาดให้มากขึ้น ด้วยการจะออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อทุกครั้งหลังการประชุม จากเดิม จะมีการให้สัมภาษณ์เพียงแค่ 4 ใน 8 ครั้งในแต่ละปี ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะต้องการโยนหินถามทาง และดูผลตอบรับของนักลงทุน อีกส่วนก็มาจากการที่เฟดมีความพยายามจะสลัดตัวเองให้ออกจากกรอบการดำเนินนโยบายการเงินแบบเดิมๆ ที่จะพิจารณานโยบายดอกเบี้ยจากข้อมูลเศรษฐกิจโดยไม่สนว่าตลาดจะมีความเห็นอย่างไร ก็มาใส่ใจ Sentiment ของตลาดทุนมากขึ้น มุมหนึ่งก็เหมือนจะดี แต่อีกมุม สิ่งนี้ น่าจะยิ่งทำให้ปี 2019 ตลาดทุนมีความผันผวนมากขึ้นไปอีกนะครับ
จะเห็นว่า 4 เรื่องใหม่นี้ เป็นเรื่องที่เรายังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบได้อย่างแน่นอน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า มันมีแต่ผลกระทบเชิงลบเท่านั้นนะครับ แต่ก็อาจจะเป็นผลบวกต่อการลงทุนในปี 2019 ก็เป็นไปได้
อย่าลืมว่า ในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ โชคดีในการลงทุนครับ
ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646169