สถิติบอกว่า .. สิ้นปี 2020 Fed Fund Rate จะลงไปต่ำกว่า 1% อีกรอบ

สถานการณ์ความตึงเครียดของสงครามการค้า ดูจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่เหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมก็คือ จีน เริ่มมีการรุกกลับบ้างแล้ว ไม่ใช่เป็นแค่ฝ่ายตั้งรับแล้วรอสวนกลับอย่างที่เป็นมาตลอด 2 ปี

สิ่งที่เราเห็นก็คือประเทศจีนออกมาประกาศ จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมสูงสุด 10% ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ วงเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตอนที่ตลาดหุ้นบ้านเราปิดตลาดไปแล้ว โดยรายการสินค้าในนั้นรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างเช่นถั่วเหลือง น้ำมันดิบ และเครื่องบินเล็ก ในการเก็บภาษี 2 รอบ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. และ 15 ธ.ค. พร้อมกันนั้น จีนยังมีความตั้งใจฟื้นสถานะการเรียกเก็บภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งมีที่มาจากสหรัฐฯ ด้วย

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันปธน.ทรัมป์ทวีตว่า  จะชะลอการขึ้นภาษีสินค้าจีนบางส่วนออกไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของชาวสหรัฐฯ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งถือว่า เป็นการแสดงท่าทีที่อ่อนลง เพื่อสร้างบรรยากาศการเจรจาการค้ารอบใหม่

แน่นอนว่า พอจีนประกาศเรียกเก็บภาษีเพิ่มรอบนี้ ปธน.ทรัมป์เองก็ย่อมไม่พอใจ และทวีตข้อความในทวิตเตอร์ออกมารัวๆ ว่า เขาจะพิจารณาการเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากจีนอีกรอบ และทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็นำไปสู่ความกังวลว่า รอยร้าวระหว่าง 2 มหาอำนาจ ณ ตอนนี้ มันจะยิ่งร้าวลึก จนยากที่จะกลับมาเจรจากันด้วยสันติวิธีแล้วหรือยัง

ล่าสุด เมื่อช่วงเย็นของวันจันทร์ที่ 26 ส.ค. ปธน.ทรัมป์ได้แจ้งกับสื่อ ขณะที่อยู่ระหว่างการหารือประชุมกับกลุ่ม G7 ว่า เจ้าหน้าจากทางการจีนได้โทรหาทีมเจรจาการค้าของสหรัฐฯ และหวังจะกลับมาเจรจากันรอบใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ก็ยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมจะเจรจาทุกเมื่ออยู่แล้ว

สถานการณ์ดูจะกลับไปกลับมาเช่นนี้ แต่หากพิจารณาให้ดี จะพบว่า การประกาศขึ้นภาษี มีการกำหนด Timeline กันชัดเจน ที่ประกาศวันนี้ จะปรับขึ้นภาษีในอนาคตวันไหน เป็นการกดดัน เรียกให้อีกฝ่ายยอมกลับเข้ามาในโต๊ะเจรจา เพื่อจะบอกเป็นนัยๆ ว่า หากเจรจาไม่สำเร็จ ภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มไปก่อนหน้า เมื่อถึงเวลาก็ต้องทำตามนั้นนะ

จนถึงตอนนี้ นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกที่ออกมาวิเคราะห์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ที่ผมตามดูตามอ่านอยู่ ต่างเห็นไปในทางเดียวกันแทบจะทั้งหมดว่า การสิ้นสุดสงครามการค้า มีหนทางเพียงแค่หนทางเดียวเท่านั้น (เหมือน 1 ใน 14 ล้านวิธีในการเอาชนะทานอส) ก็คือ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนถัดไป ต้องไม่ใช่ชายที่ชื่อ “โดนัล ทรัมป์”

ก็เท่ากับว่า เราต้องรอจนถึงเดือนพ.ย. ปี 2020 กันเลยทีเดียว ถึงจะมีลุ้นให้บรรยากาศความวุ่นวายที่มีอยู่อย่างเช่นวันนี้บรรเทาลงบ้าง

ระหว่างที่ปธน.ทรัมป์ กำลังเปิดศึกกับจีนอยู่นั้น สิ่งที่เขากำลังพยายามทำอีกทางหนึ่งก็คือ ต้องการให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ  ดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล นั้นก็คือ ต้องการให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ซึ่งในมุมมองนี้ ปธน.ทรัมป์ อาจจะมองว่า FOMC จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยให้เร็วขึ้น และหนักขึ้นไปอีก แต่ดูเหมือนประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวล จะพยายามรักษาความเป็นอิสระจากฝั่งรัฐบาล และถ้อยแถลงแต่ละครั้งที่ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ ดูเหมือนจะไม่ได้ใส่ใจกับความเห็นของท่านผู้นำมากนัก

แต่ถึงจะให้สัมภาษณ์ไม่ตามใจท่านผู้นำก็ตาม ดูเหมือนนักลงทุนในตลาดจะคิดต่างออกไป เพราะ ล่าสุด Fed Fund Futures ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า มองว่า สิ้นปี 2020 ดอกเบี้ยเฟดจะลงไปอยู่ที่ 0.95% เลยทีเดียว ต่างจาก dot plot ที่ออกมาคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 2.13% และถ้าตลาดคิดจริง ก็แปลว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยหลังจากนี้อีกอย่างน้อย 4 ครั้งภายใน 16 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือว่า น่ากังวลทีเดียวครับหากเกิดขึ้นจริง

เพราะรอบที่เฟดลดดอกเบี้ยลงมากกว่า 4 ครั้งในวัฏจักรเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา 1 ครั้ง คือ เกิดวิกฤต dotcom ปี 2000 และอีก 1 ครั้ง คือ เกิดวิกฤต subprime

Mr.Messenger

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648097