เนื่องจากมีคนถามเข้ามา และจากหน้าข่าว ณ ตอนนี้ไม่ได้บอกรายละเอียด และเบื้องหลังเหตุการณ์เรื่องกรีซ มากนักนะครับ คงต้องรอนักวิเคราะห์กลับมาทำงานกันตอนวันจันทร์ที่จะถึง เราจึงจะได้เห็นภาพว่า ตลาดเค้าคิดยังไง และอะไรคือทางออก

แต่ผมขออนุญาติตอบบางประเด็น โดยใช้ความเห็นของตัวเองก่อนนะครับ เพราะคิดว่าน่าจะทำให้เราเข้าใจบริบทของเรื่องนี้ในรายละเอียดได้มากขึ้น

Q: ทำไมยูโรกรุ๊ปถึงปฏิเสธไม่ให้กรีซยืดเวลาหนี้?

ท่าทีของนายกฯกรีซ + ที่มาของการได้ตำแหน่งที่มาจากการหาเสียงโดยบอกกับประชาชนว่า จะไม่ยอมอ่อนข้อทำตามเจ้าหนี้ที่โหดร้ายกับการรัดเข็มขัด มันก็ชัดเจนแต่แรกแล้วว่า จะไม่ยอมทำตามเงื่อนไขในหลายๆอย่าง แผนปฏิรูปที่ยูโรกรุ๊ปเสนอให้รัฐบาลกรีซ ฝั่งเจ้าหนี้ก็มองว่ายืดหยุ่นสุดแล้ว ถ้าทำน้อยกว่านี้ ก็เสี่ยงที่จะจ่ายคืนหนี้ไม่ได้แล้ว ฝั่งกรีซเอง พออ่านแผนปั๊บ ก็บอกว่า เฮ้ย โหดเกินไป ตัดค่าใช้จ่ายโน้นนี่ ประชาชนเค้าเลือกเราเพราะไม่อยากให้ไปทำร้ายเค้าอีก แต่นี่ กลายเป็นว่าผิดคำสัญญา เมื่อตกลงกันไม่ได้ ยูโรกรุ๊ป เลยพยายามจะบีบให้กรีซรับแผนเสียที

Q: แต่กรีซก็ยังยืนยันจะทำประชามติวันที่ 5 ก.ค. อยู่ดี แล้ว Deadline วันที่ 30 มิ.ย. ละ?

ถ้าไม่มีเงินจ่าย IMF ก้อนนี้ (EUR  1.5 พันล้าน หรือ USD 1.7 พันล้าน) ก็แปลว่า Technical Default แล้วครับ แต่การที่รัฐสภาอนุมัติให้ทำประชามติต่อ อาจแปลว่า กรีซ รู้ตัวอยู่แล้วว่ายูโรกรุ๊ปอาจไม่ขยายเวลาให้ เพราะ…

1. กรีซ อาจมีเงินในคลังเพียงพอที่จะจ่ายหนี้ IMF ไปก่อน

2. กรีซ อาจมีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยวันที่ 30 มิ.ย. หรือไปขอกู้ AIIB เลย เพิ่งตั้งมาก็ได้นิ (อ่านเรื่อง AIIB ได้ที่ ลบเหลี่ยมอเมริกา ด้วยการเกิดขึ้นของ AIIB )

3. กรีซ อาจยังพยายามคุยกับยูโรกรุ๊ปในสองวันที่เหลือเพื่อทำข้อตกลงบางอย่าง

นั้นแปลว่า ผลลัพธ์ยังสามารถเกิดขึ้นได้อีกหลายทางมากๆ

Q: แล้วสมมติผิดนัดชำระหนี้กับ IMF ละ น่ากลัวไหม ในแง่ของตลาดทุน?

ผลต่อเจ้าหนี้นั้น ถือเป็นวงจำกัด เพราะเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เกินกว่า 80% ของกรีซ ถูกปรับโครงสร้างจากที่เป็นสถาบันการเงินเอกชนกลายมาเป็นเจ้าหนี้ภาครัฐฯเรียบร้อย และหนี้ก้อนนี้เป็นหนี้ IMF ไม่เกี่ยวกับคนอื่น ดังนั้นน่าจะไม่เป็นโดมิโน ไม่เหมือนตอน Lehman Brothers และหนี้ Subprime ที่ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่า ใครถือกันอยู่เท่าไหร่บ้างขนาดของผลกระทบเลยขยายวงกว้างได้เร็ว

Q: กรีซ จะมีวิธีการจัดการกับปัญหานี้อย่างไร?

ขั้นแรกก็คือ ออกมาตรการ Capital Control ห้ามถอนเงิน ห้ามขนเงินออกนอกประเทศครับ ไม่งั้น Bank Run สถาบันการเงินเจ๊งกันพอดี

ขั้นต่อมา สมมติว่า เจรจา หรือหาเงินมาโปะหนี้ IMF ได้ทัน ตาม 3 ทางเลือกข้างบน แล้วก็ไปลุ้นผลประชามติวันที่ 5 ก.ค.

Q: ทำไมนายกฯกรีซ ถึงไม่รับเงื่อนไขไปตั้งแต่แรก ทำประชามติทำให้สุ่มเสี่ยงเพื่อ?

ก็เพราะว่า สัญญาไว้นิครับ ว่าจะไม่อ่อนข้อให้ยูโรกรุ๊ป ถ้ารับตั้งแต่แรกก็ผิดคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน แต่ตอนนี้มันไม่มีทางเลือก มันตัดสินใจไม่ได้ ก็โยนให้ประชาชนคิดแทน ถึงเวลา พอเสียงส่วนใหญ่โหวตรับเงื่อนไขยูโรกรุ๊ปมาจริงๆ จะได้ไม่มีใครอ้างว่า ทำผิดสัญญาเลือกตั้ง เพราะประชาชนเลือกกันเองนะ (ตัวเองก็รอดตัว นั่งเก้าอี้นายกฯได้ต่อ)

ซึ่งโหวตครั้งนี้ จะมีให้เลือก 2 คำตอบครับ  1. Those citizens who reject the institutions’ proposal vote Not Approved / NO 2. Those citizens who accept the institutions’ proposal vote Approved / YES. ถ้าถามแบบนี้ ผมกลัวว่า คนส่วนใหญ่ จะเลือกว่า “No” คือไม่รับแผนการรัดเข็มขัดเพิ่มเติม เพราะแปลว่า ต้องออกจากยูโรโซน ถ้า Vote “Yes” ก็หมายถึง อยู่ในยูโรโซนต่อไปด้วยเงื่อนไขรัดเข็มขัดที่มากขึ้นมากกว่า สรุปคือ จะเลือกแย่มากที่สุด หรือ แย่มาก และคำถามมันเหมือนจะชี้นำให้คนเลือก “No” หรือเปล่านี่สิ น่าห่วงแทน

Q: งั้นกรีซ ตกลงกับ IMF ขอเลื่อนชำระหนี้ออกไปก่อนไม่ได้หรอ?

MD IMF พูดชัดครับว่า ถ้ากรีซเบี้ยวแม้แต่ครั้งเดียว ก็ไม่ต้องมาคุยกันว่จะได้วงเงินเพิ่ม มีแต่ต้องใช้ไอ้ที่กู้ไปแล้วให้หมดก่อน แถมยังให้สัมภาษณ์อีกว่า “I can’t speak for the IMF program, because the IMF program is on, but the European financial arrangement expires June 30,” she said. “So, at least legally speaking, the referendum will relate to proposals and arrangements that are no longer valid.” นั้นแปลว่า ในมุมมองของเจ๊ Christine Lagarde นั้น การทำประชามติ ไม่มีผลอะไร เพราะโครงการความช่วยเหลือของยูโรกรุ๊ป มันจะหมดอายุตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. ไปแล้ว

 


 

มีเสียวแล้วนะครับ เพราะไพ่ตายใบสุดท้ายของกรีซ ที่จะทำประชามตินั้น มุมมองของ Lagarde บอกว่า ถึงโหวตผ่าน ก็ไม่มีผลอะไร ก็โครงการช่วยเหลือมันหมดอายุไปแล้ว คงต้องรอฝั่งยูโรกรุ๊ปว่า มีความเห็นกับประเด็นนี้เป็นยังไง

สนุกดีเนอะๆ

Mr.Messenger รายงาน